ชเว มินคยอง หญิงชาวเกาหลีเหนือวัย 53 ปี กำลังเรียกร้องค่าเสียหาย 50 ล้านวอน (37,000 ดอลลาร์สหรัฐ) จากรัฐบาลเกาหลีเหนือ ซึ่งมีผู้นำคิม จองอึน และเจ้าหน้าที่อีก 6 คนเป็นตัวแทนรัฐบาล เธอยังยื่นคำร้องทุกข์อาญาเพื่อขอให้อัยการสอบสวน ตามข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทั้งนี้ เอกสารที่ยื่นต่อศาลแขวงกลางกรุงโซลและสำนักงานอัยการถือเป็นครั้งแรกที่ผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือดำเนินการทางกฎหมายต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล
ชเวกล่าวกับ The Guardian เล่าให้ฟังว่า “เธอตั้งรกรากในเกาหลีใต้มา 13 ปีแล้ว แต่ยังคงมีอาการ PTSD หรือโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญขั้นรุนแรง จากผลข้างเคียงที่ถูกทรมาน และต้องใช้ชีวิตโดยพึ่งพายารักษาอาการทางจิต รอยแผลเป็นบนร่างกายของเธอเป็นเครื่องยืนยันถึงความจริงอันน่าสยดสยองเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือ”
ชเวหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือในปี 1997 แต่ถูกส่งตัวกลับจากจีน ถึงสี่ครั้งระหว่างปี 2000 ถึง 2008 ในระหว่างการส่งตัวกลับครั้งสุดท้ายในปี 2008 เธอถูกกักขังเป็นเวลาห้าเดือนในสถานที่สามแห่งในจังหวัดฮัมกยองเหนือ ในคำร้องเรียนระบุถึงการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างการตรวจค้นร่างกายที่ไม่ถูกสุขอนามัยโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้สวมถุงมือ มีการทุบตีอย่างรุนแรงจนแก้วหูขวาแตกและทำให้เธอถึงกับหมดสติและการทรมานอย่างเป็นระบบโดยใช้ท่าทางที่กดดันเป็นเวลานานกว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ ทนายความของชเวคนหนึ่งคือ อี ยองฮยอน ซึ่งเป็นผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือเช่นกัน และถือเป็นทนายความชาวเกาหลีเหนือคนแรกที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพในเกาหลีใต้ ให้ความช่วยเหลือและผลักดันคดีนี้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับศูนย์ฐานข้อมูลสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ (NKDB) ซึ่งสนับสนุนคดีเพราะวางแผนที่จะใช้คดีเป็นพื้นฐานสำหรับการยื่นเรื่องต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและศาลอาญาระหว่างประเทศ
อี ซองยัพ นักวิเคราะห์ด้านสิทธิมนุษยชนจาก NKDB กล่าวว่า “คดีนี้อาจทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานในระบบกฎหมายของเกาหลีใต้ เนื่องจากศาลภายในประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติมาก่อนน้อยมาก”
เอกสารทั้งสองฉบับระบุชื่อคิม จองอึน เป็นจำเลยที่รับผิดชอบต่อการละเมิดที่ถูกกล่าวหาคำฟ้องอาญาระบุว่าเขาต้องแสดงความรับผิดชอบสูงสุดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นระบบภายใต้หลักการที่ว่าเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือปฏิบัติงานภายใต้ “การควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ” ของผู้นำสูงสุด
คณะกรรมการสอบสวนของสหประชาชาติในปี 2014 ซึ่งพบว่าเกาหลีเหนือก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง รวมถึงการทรมาน ความรุนแรงทางเพศ และการคุมขังโดยพลการ รายงานดังกล่าวบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบในเครือข่ายค่ายกักกันทางการเมืองของประเทศ ซึ่งประเมินว่าคุมขังผู้คนไว้มากถึง 80,000 ถึง 120,000 คน
คดีแพ่งก่อนหน้านี้ที่ฟ้องต่อเกาหลีเหนือ ได้แก่ คดีของอดีตเชลยศึกที่เรียกร้องค่าชดเชยจากการใช้แรงงานบังคับ ครอบครัวของชาวเกาหลีใต้ที่ถูกลักพาตัวไปในช่วงสงครามเกาหลี และคดีในปี 2023 ที่เรียกร้องค่าเสียหายจากการทำลายสำนักงานประสานงานระหว่างเกาหลีโดยเกาหลีเหนือ
ในทางทฤษฎี ศาลเกาหลีใต้สามารถพิจารณาคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศถือว่าเกาหลีเหนือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเกาหลี แทนที่จะเป็นรัฐอธิปไตยที่แยกจากกัน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ยังคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เกาหลีเหนือจ่ายค่าเสียหายแม้ว่าโจทก์จะชนะก็ตาม ทำให้ชัยชนะดังกล่าวเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น