ธุรกิจการตลาด

‘Huawei 5G’ ในจีน มาเพื่อฟาด Samsung-Apple ชู Mate X5-HarmonyOS

17 มิ.ย. 67
‘Huawei 5G’ ในจีน มาเพื่อฟาด Samsung-Apple ชู Mate X5-HarmonyOS

นับตั้งแต่ Huawei เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น 5G ก็ทำให้บริษัทกลับมาฟื้นตัว ทำผลงานโดดเด่นกลายเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ในไตรมาสแรก โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 69.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของ Counterpoint Research 

โดยส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตัวรุ่น ‘5G Mate 60’ ยอดนิยมของ Huawei รวมถึง ชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ช่วยให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นในกลุ่มพรีเมียม หรือสมาร์ทโฟนที่มีราคาตั้งแต่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทั้งสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับระบบ 5G และระบบปฏิบัติการ HarmonyOS สามารถแซงหน้าบิ๊กเทคฯ อย่าง Apple และ Samsung ได้ โดยมาส่วนแบ่งในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นครองตำแหน่งแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในที่สุด

เอาชนะ Samsung ขึ้นแท่นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟน 5G พับได้

Counterpoint Research เผยรายงานว่า Huawei แซงหน้า Samsung ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบบพับได้ชั้นนำของโลก หลังจากส่วนแบ่งในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นมากถึง 21% แตะระดับที่ 35% โดยได้รับอนิสงค์ครองตำแหน่งสูงสุดเป็นครั้งแรก ภายหลังจากการเปิดตัวโมเดลพับได้รุ่นใหม่ทั้งสองอย่าง ‘Mate X5’ และ ‘Pocket 2’ ที่รองรับ 5G ทั้งคู่

ทั้งนี้ จากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ห้ามส่งออกชิป 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้ Huawei ประสบปัญหายอดขายสมาร์ทโฟนพับได้และโมเดลอื่นๆ ลดลง แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา ด้วยรุ่น 5G ที่มีชิปออกแบบภายในบริษัท และความต้องการตลาดที่ฟื้นตัวขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีน

ส่วนภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนแบบพับได้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 49% ในปีนี้ เนื่องจากความต้องการสมาร์ทโฟนโดยรวมฟื้นตัวขึ้น ซึ่งสมาร์ทโฟนแบบพับได้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีน โดยมีการจัดส่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าที่ 7.01 ล้านเครื่องในปี 2023 ที่ผ่านมา เทียบจาก 3.2 ล้านเครื่องในปี 2022 ตามรายงานที่เผยแพร่โดย IDC ในเดือนกุมภาพันธ์

ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของ Samsung ลดลงมากถึง 35% เหลือเพียง 23% ตามมาด้วย Honor ที่ส่วนแบ่งพุ่งสูงถึง 12% ส่งผลให้อีกหนึ่งแบรนด์จีนอยู่ในอันดับที่สามเช่นกัน 

โดย Counterpoint รายงานว่า การแข่งขันระหว่าง Huawei และ Samsung ร้อนแรงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะเรียกคืนความเป็นผู้นำตลาดด้วย Z Flip 6 ที่กำลังจะมาถึง

HarmonyOS แซงหน้า iOS ขึ้นอันดับ 2 ในจีน

ในขณะที่ Huawei ก็เอาชนะ Apple ในด้านระบบปฏิบัติการเช่นกัน หลังจากที่ HarmonyOS ของ Huawei แซงหน้า iOS ของ Apple กลายเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่ใหญ่เป็นอันดับสองในจีนแผ่นดินใหญ่ในไตรมาสแรก ตามข้อมูลตลาด ล่าสุดจาก Counterpoint Research

โดยส่วนแบ่งของ HarmonyOS คิดเป็น 17% ของตลาดในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า YoY แซงหน้า iOS หลังจากความต้องการในจีนที่แข็งแกร่งจากสมาร์ทโฟนรุ่น 5G รุ่นล่าสุดของ Huawei ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการยอมรับระบบปฏิบัติการมือถือที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง

ในขณะที่ iOS ของ Apple มีส่วนแบ่งต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 16% และ Android ของ Google ยังคงครองส่วนแบ่งสูงถึง 68% โดย Counterpoint คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งของ HarmonyOS จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจาก Huawei เน้นย้ำถึงการปรับซัพพลายเชนให้เหมาะกับท้องถิ่น 

ส่วนในระดับโลก Android และ iOS ยังเป็นผู้นำในไตรมาสเดือนมีนาคมด้วยส่วนแบ่ง 77% และ 19% ตามลำดับ ในขณะที่ HarmonyOS มีส่วนแบ่งทั่วโลกเพียง 4% เท่านั้น

การนำ HarmonyOS มาใช้ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ของ Huawei ในการสร้างระบบปฏิบัติการ ‘แอนดรอยด์ทางเลือก’ เริ่มเห็นผล และเอาชนะผลกระทบของข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด เมื่อบริษัทถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อนิติบุคคลของวอชิงตันในเดือนพฤษภาคม ปี 2019

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บัญชีดำการค้าดังกล่าว Huawei ถูกห้ามไม่ให้ซื้อซอฟต์แวร์ ชิป และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ จากซัพพลายเออร์ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ ทำให้ Huawei ตัดสินใจเปิดตัว HarmonyOS ในเดือนสิงหาคม ปี 2019

ขณะที่ HarmonyOS เวอร์ชันแรกๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น เป็นเพียงแอนดรอย์เวอร์ชั่นลอกเลียนแบบ แต่เวอร์ชันล่าสุดอย่าง HarmonyOS Next ซึ่งเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น และไม่รองรับแอปพลิเคชันของแอนดรอย์อีกต่อไป

ดังนั้น นับตั้งแต่เมื่อต้นปี Huawei มีพันธมิตรมากกว่า 200 รายที่ได้ริเริ่มการพัฒนาแอปที่ใช้ HarmonyOS และมีเป้าหมายที่จะมีพันธมิตร 5,000 รายภายในสิ้นปีนี้ โดยองค์กรหลักที่เริ่มพัฒนาแอปที่ใช้ HarmonyOS มีทั้ง Alibaba Group Holding, Meituan, Ant Group, JD.com และ McDonald's China

ที่มา Nikkei Asia, South China Morning Post 1, 2

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT