ธุรกิจการตลาด

BDMS X CARIVA เปิดตัว AI วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล พลิกโฉมการแพทย์ไทย

5 เม.ย. 67
BDMS X CARIVA เปิดตัว AI วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล พลิกโฉมการแพทย์ไทย

ปัจจุบันกระแสของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI กำลังมาแรงในแวดวงธุรกิจที่เข้ามาช่วยเติมเต็มความฉลาดและสร้างความรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้งาน อีกทั้งเรายังเห็นผู้คนพูดถึงและประยุกต์ใช้ในองค์กรตัวเองมากขึ้น ไม่เว่นแม้แต่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ เช่น การนำ AI เข้ามาช่วยแพทย์วิเคราะห์และวินิจฉัยโรคเฉพาะบุคคล

istock-1396801868

AI วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ร่วมลงทุนใน CARIVA (แคริว่า) บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของไทย ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ Medical Large Language Models (Medical LLMs) เป็นรายแรกในอาเซียน เพื่อยกระดับการแพทย์ไทยด้วยการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาต่อยอดกับกระบวนการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ (Lab Interpretation Solution) เพื่อแปลผลวิเคราะห์ และให้ข้อมูลการตรวจแล็บที่อาจเกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาโรคที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วย ทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ในการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแล  โดย BDMS นำ AI ดังกล่าวมาปรับใช้กับแนวทางค้นหาเชิงป้องกันกับคนสุขภาพดี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Sandbox ของ BDMS ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ด้วยการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่

  • ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการคัดกรองและวินิจฉัยโรค

  • การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มความแม่นยำ

  • เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ

  • เทคโนโลยีเพื่อการติดตามผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

  • เทคโนโลยีเพื่อการบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน  

การลงทุนเพื่อความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) และการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ตรวจคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากผลตรวจของแต่ละบุคคล เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพป้องกันโรคเรื้อรังในอนาคต ซึ่งสามารถตรวจพบและป้องกันได้ก่อนเกิดโรค

bdmsxcariva_

BDMS ทุ่มงบกว่า 1,500 ล้านบาท ลงทุนนวัตกรรมใหม่

ดร. พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา BDMS ได้ให้ทุนสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพไปแล้ว 4 แห่ง และร่วมพัฒนานวัตกรรมร่วมกับสตาร์ทอัพในประเทศไทยตามแผนการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันได้นำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้ไปใช้งานได้จริงแล้ว 7 โครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนามาตรฐานบริการทางการแพทย์ และการบริการด้านสุขภาพ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น

  • โครงการ Perceptra ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อ่านผลเอกซเรย์สำหรับผู้ช่วยรังสีแพทย์

  • โครงการ Mineed หรือ เข็มเล็กละลายใต้ชั้นผิว (Microneedle) ที่ช่วยนำยาเข้าสู่ร่างกาย

  • แอปพลิเคชัน “อูก้า” (OOCA) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์

  • แอปพลิเคชัน “บีดี” (BeDee) การบริการพบแพทย์และเภสัชกรแบบทางไกล หรือ Telehealth และ Tele-pharmacy รวมถึงการสั่งยา (Tele Medicine) ซื้อหาสินค้าเวชภัณฑ์ (Health Mall)

  • ศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ (Health Content) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

bedeehealthcaresolution08

AI จะช่วยดันให้ไทยเป็น Medical Hub สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้วิเคราะห์ว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาช่วยยกระดับและเติมเต็มให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยก้าวหน้า และเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub และช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท

โดย นโยบาย Medical Hub ถูกหยิบยกให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ที่เป็น 1 ใน 13 หมุดหมายสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนการใช้ AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาว และสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 30-40% แตะระดับ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้

istock-1358567925

เปิด 5 เหตุผลทำไมต้องนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์

1.การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

2.ความต้องการด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

3.ข้อมูลด้านสุขภาพที่มีมากขึ้น

4.ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง

5.การเติบโตและความก้าวหน้าของการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ

istock-1934495744

5 เทรนด์เทคโนโลยี AI ทางการแพทย์ที่น่าจับตามอง

1.Robot Assisted Surgery หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

2.Virtual Nursing Assistants หรือผู้ช่วยพยาบาลเสมือนจริง

3.AI ช่วยวินิจฉัยโรค

4.AI in Drug discovery หรือการใช้ AI ในการค้นคว้าและพัฒนายารักษาโรค

5.Hospital Workflow Management

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้วิเคราะห์ว่า 5 เทรนด์ ดังกล่าว จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ในหลายมิติ และคาดว่า มูลค่าตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 353 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ และจะช่วยสร้างมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจากนี้ (2567-2577) ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี AI ของไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการลงทุน การสอดประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้าน AI และด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem

อ้างอิง : ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT