ธุรกิจการตลาด

ค่าไฟแพง ติดแผงโซลาร์ช่วยได้ เช็คก่อนลงทุน บ้านแบบไหนติดแล้วคุ้มทุน?

2 มิ.ย. 66
ค่าไฟแพง ติดแผงโซลาร์ช่วยได้ เช็คก่อนลงทุน บ้านแบบไหนติดแล้วคุ้มทุน?

ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยต้องเจอปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากทั้งค่า Ft ที่เร่งตัวตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อน ทำให้หลายๆ ครัวเรือนมีความสนใจที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ เพราะเห็นว่าประหยัดไฟได้ ผนวกกับราคาติดตั้งแผงโซลาร์ในปัจจุบันที่ลดลงมาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แผงโซลาร์จะช่วยให้ประหยัดไฟได้จริง แต่ก็มีคำถามอยู่ว่าใครกันคือกลุ่มที่ควรติดตั้ง ค่าไฟระดับไหนที่ติดตั้งได้ จะคืนทุนได้เร็วช้าแค่ไหน แล้วมีปัจจัยบวกลบอะไรบ้างที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของครัวเรือนที่จะติดตั้ง Solar rooftop ให้มากขึ้น บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบกัน

 

ราคาแผงโซลาร์ที่ถูกลง เพิ่มโอกาสการติดตั้ง Solar rooftop

ท่ามกลางค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นของครัวเรือน ขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop มีแนวโน้มลดลงตามราคาแผงโซลาร์ (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของ Solar rooftop) ที่ลดลงต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ครัวเรือนจะติดตั้ง Solar rooftop มากขึ้น ราคาแผงโซลาร์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง โดยในปี 2018 ลดลงไปเกือบ 30% จากปีก่อนหน้า และยังลดลงต่อปีละเกือบ 10% ซึ่ง SCB EIC คาดว่าราคาจะยังคงลดลงต่อเนื่องราว 14% ในปี 2023 และลดลงราว 7% ต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า

แผงโซลาร์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ที่นิยมใช้งาน ได้แก่ 1) Monocrystalline, 2) Polycrystalline และ 3) Thin film solar cell โดยประเภทแผงโซลาร์ที่นิยมติดตั้งในครัวเรือนสำหรับ Solar rooftop ได้แก่ Monocrystalline และ Polycrystalline เพราะมีประสิทธิภาพต่อพื้นที่สูงกว่า Thin film solar ทำให้ใช้จำนวนแผงโซลาร์และพื้นที่ในการติดตั้งไม่มากต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์ ซึ่งเหมาะสมต่อการติดตั้งบนหลังคาที่มีพื้นที่จำกัด

ทั้งนี้ รูปแบบการติดตั้ง Solar rooftop ในที่อยู่อาศัยยังคงกระจุกตัวอยู่ในรูปแบบ Grid System หรือ Grid Tie System ซึ่งเป็นรูปแบบการติดตั้ง Solar rooftop ที่มีอุปกรณ์หลักเพียงแผงโซลาร์และ Inverter ทั้งนี้แม้ข้อเสียของ On Grid คือ จะยังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่ในการสะสมไฟฟ้าส่วนเกินเพื่อมาใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสง แต่ต้นทุนการติดตั้งที่จับต้องได้ทำให้การคืนทุนของครัวเรือนทำได้ดีกว่า 

การติดตั้งในระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ ซึ่งสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยมักใช้แบตเตอรี่ Lithium ซึ่งราคายังค่อนสูง โดยราคาติดตั้งอาจสูงขึ้นไปราว 50-60% ของการติดตั้งแบบ On Grid System เนื่องด้วยต้นทุนแบตเตอรี่ที่ยังสูง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญใน Off grid system และ Hybrid system  

 

บ้านแบบไหนถึงเหมาะกับการติดตั้งแผงโซลาร์?

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสการติดตั้ง Solar rooftop จะมากขึ้นจากราคาที่ถูกลง แต่ก็ใช่ว่าครัวเรือนทุกหลังจากเหมาะสมที่จะติดตั้ง หากพิจารณาจากต้นทุน การประหยัดค่าไฟฟ้าพร้อมกับจุดคุ้มทุน ครัวเรือนที่เหมาะสมจะติดตั้ง Solar rooftop ควรจะมีลักษณะดังนี้

1) ควรมีค่าไฟฟ้า 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากหากค่าไฟฟ้าต่ำกว่านั้น จุดคุ้มทุนมีโอกาสเกือบเท่ากับอายุของแผงโซลาร์ที่ 25 ปี ทำให้ครัวเรือนไม่สามารถได้กำไรจากการติดตั้ง หรืออาจขาดทุน หากมีค่าใช้จ่าย Inverter เครื่องใหม่เกิดขึ้น 

2) ควรใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันตั้งแต่ 50% ของการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ไม่ได้ทำงาน และ Home office เป็นต้น

3) เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีพื้นที่ติดตั้งอย่างน้อย 14 ตร.ม. ใช้วัสดุที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ และลาดเอียงทางทิศใต้/ตะวันตก/ตะวันตกเฉียงใต้

SCB EIC คาดกลุ่มเป้าหมายในการติดตั้ง Solar rooftop สำหรับภาคครัวเรือนอาจมีอยู่ราว 1.7 แสนครัวเรือน (0.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดที่ 23 ล้านครัวเรือน) คิดเป็นมูลค่าตลาดการติดตั้งรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง (มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน)   

ทั้งนี้ แม้กลุ่มเป้าหมายจะมีสัดส่วนน้อย แต่หากเกิดปัจจัยเร่งอื่นๆ เพิ่มเติม ก็อาจช่วยหนุนให้ Solar rooftop ในครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต โดย Adoption rate อาจเร่งตัวขึ้นได้อีก หากมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ

1) การแข่งขันของผู้ติดตั้งที่มีสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนติดตั้งถูกลง

2) ราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

3) ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ถูกลง ซึ่งจะสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งกว้างมากขึ้น

4) การอุดหนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนต้นทุนการติดตั้งของครัวเรือน ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เกิด Adoption rate ที่สูงในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งมี Adoption rate สูงถึงกว่า 30% นอกจากนี้ หากภาครัฐปรับราคารับซื้อไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าในทุกประเภทพลังงานเฉลี่ยที่ 3.77 บาทต่อหน่วย และต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เฉลี่ยที่ 7.73 บาทต่อหน่วย

5) Platform ในการช่วยตัดสินใจในการติดตั้ง Solar rooftop เพื่อให้ภาคครัวเรือนมีเครื่องมือในการช่วยประเมินความเหมาะสมและความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการติดตั้ง Solar Rooftop แบบเฉพาะเจาะจงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและรูปแบบหลังคาที่เหมาะสมกับครัวเรือนแต่ละราย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT