ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จากการที่มีประชากรอายุเกิน 60 ปี กว่า 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ด้วยเหตุนี้ภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน Sustainability Expo 2024 จึงเปิดเวทีเสวนานำเสนอแนวทางให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมตัวเข้าสู่สูงวัยอย่างมีคุณภาพและความสุข ผ่านหัวข้อเสวนา "วางแผนวัยชะ-รา-ล่า กับหลานม่า" โดย นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ รพ. ผู้สูงอายุ และ เป็ด ทศพล ทิพย์ทินกร ผู้เขียนบทภาพยนตร์หลานม่า
"อาม่า" ผู้เป็นแรงบันดาลใจ
นพ.เก่งพงศ์: สวัสดีทุกท่านนะครับ ผม นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แบ็คกราวน์ก็เป็นอายุรแพทย์ มาก่อตั้ง รพ. ผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอาม่าอึ้งสี แซ่ตั้ง ก็อย่างที่ได้นำภาพมาให้ทุกท่านได้เห็นครับ อาม่านี่อายุ 104 ปี ความจริงท่านเสียไปตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการที่ขอละสังขารจากการที่มช้รถคันนี้มานานมากแล้ว แต่ว่าอาม่าเองก็เป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าอาม่าเกิดตั้งแต่รัชกาลที่ 6 มาเมืองไทยรัชกาลที่ 7 แล้วก็อยู่ 7 8 9 10 อาม่ามีลูก 7 คนอย่างที่ได้เรียนไปว่ามีหลาน20 มีเหลน 16 เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะผ่านกระบวนการการสร้างครอบครัว รวมไปถึงการดูแลสุขภาพ และในวาระที่เจ็บป่วยลูกหลานจะต้องดูแลอย่างไร อันนี้ก็เป็นความท้าทาย
การที่หมอได้มาก่อตั้ง รพ. ผู้สูงอายุ ขนาดบ้านเราเองเป็นบ้านคนจีนที่มาจากเสื้อผืนหมอนใบลูกหลานเป็นหมอหลายคนอยู้่ในแวดวงสาธารณสุขก็หลายคน ตอนที่อาม่าไม่สบายต้องผ่าตัดเข่า ต้องผ่าตัดสะโพก ต้องผ่าตัดมะเร็งขนาดลูกหลานเราเยอะยังมีปัญหาเลยถูกไหมครับ ใครจะต้องเป็นคนมาดูแลหลัก ใครจะต้องจ่ายเงิน ใครจะต้องเป็นคนลาออกจากงานมาดูแลอาม่า เป็นปัญที่เข้าใจว่าคนที่ได้ดูหลานม่าก็คงจะเห็นสภาพนะครับ ขนาดว่าบ้านเรามีคนเยอะขนาดนี้ยังมีปัญหาเลย คิดว่าเป็นเพนพ้อยท์เหมือนกัน สำหรับ คนในสังคม คิดว่าถ้าเกิดเราออกมาทำโรงพยาบาลที่เป็นโมเดลที่ดีได้ ก็น่าจะเกิดความยั่งยืนนะครับ แล้วก็สามารถที่จะพลิกวงการสาธารณสุขของไทยได้ อันนี้ก็เป็นที่มาที่ได้อาม่าเป็นแรงบันดาลใจครับ
เป็ด ทศพล : จำได้ว่าตั้งแต่ตอนเด็กๆ บ้านที่ผมอยู่กับบ้านอาม่าจะอยู่คนละซอย แล้วอาม่าจะเป็นแม่ค้า ขายโจ๊กอยู่ที่ตลาด คุณแม่ผมก็เลยจะต้องไปช่วยงานจะต้องปั่นจักรยานพาผมไปด้วย ผมก็โชคดีได้กินโจ๊กฟรี แล้วอาม่าก็ให้ช่วยทอนตังค์ แล้วผมก็แอบจิ๊กเหรียญไปหยอดเกมส์เล่น พอเราโตมาเราก็ไม่ค่อยได้ไปเจออาม่าแล้ว เพราะเราก็เรียนหนังสือติดเพื่อนติดแฟนจนช่วงที่ผมเรียนจบแล้วอาม่าเขาไปหาหมอเพราะเขาปวดท้อง ทางคุณหมอก็แจ้งมาว่าอาม่าเป็นมะเร็งลำไส้นะ อาม่าก็เลยเริ่มจะขายโจ๊กไม่ไหวแล้ว ซึ่งอาม่ามีลูกสามคน มีคุณแม่ผม แล้วก็อากู๋อีก2 คน ก็เลยตัดสินใจให้อาม่าย้ายมาอยู่กับที่บ้านผม ก็ให้มีผมมีคุณแม่คุณพ่อพี่สาวช่วยดูแล ช่วงนั้นก็เลยเริ่มรู้จักอาม่ามากขึ้น อาม่าก็จะเล่าเรื่องสมัยเด็กหรือตอนอยู่เมืองจีนเป็นยังไง ลำบากยังไงให้ฟัง
จนมีวันนึงเหมือนอาม่าเขารู้ตัวว่าเขาเริ่มจะไม่ไหวแล้ว ก็เลยเรียกลูกๆมาแบ่งทรัพย์สิน มีเงินมีทอง อยู่เท่าไร บ้านหลังไหนให้ใครบ้าง ซึ่งวันนั้นผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าอาม่าใช้เหตุผลอะไรนะ ในการแบ่งทรัพย์สินแบบนี้ จนกระทั่งอาม่าเขาเสียไป จนวันนึงผมต้องเขียนบทของตัวเอง ก็เลยนึกถึงความทรงจำที่ได้อยู่กับอาม่า ในช่วงเวลาที่เราได้อยู่ดูแล ว่าอาม่าคิดยังไง มีความรู้สึกยังไง คนที่เป็นรุ่นพ่อแม่เขาเป็นยังไงนะ แล้วรุ่นหลานเป็นยังไง ก็เลยมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่องหลานม่าครับ
ปัญหาการสื่อสารในครอบครัวที่มี 3 เจน อาม่า-พ่อแม่ และตัวเรา
เป็ด ทศพล: ปัญหาแรกคือไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นคนจีนโดยส่วนใหญ่หรือเปล่า คือ เขาเป็นคนที่รักนะแต่ไม่แสดงออก เขาจะไม่บอกรักตรงๆ อย่างอาม่าผมครับเขาปวดท้องมาหลายปีแต่เขาไม่บอกใคร ผมคิดว่าเขากลัว กลัวตายด้วยส่วนหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เขากลัวคือลูกหลานจะลำบาก กลัวที่จะเป็นภาระเขาก็เลยไปซื้อยาชุดมากิน เพราะคิกว่าคงปวดท้องเฉยๆ เขากินยานี้นานจนพวกผมก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเขากินยาชุดโดยที่เขาไม่เคยบอกเลยว่าปวดท้อง แม้กระทั่งพ่อแม่ผมเองเวลาเขาเจอปัญหาเขาก็จะไม่บอกเรา เขาก็จะบอกไม่ต้องรู้หรอกเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ซึ่งเรารู้สึกว่าการที่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน การที่เราไม่ร่วมทุกข์ราวมสุขด้วยกัน มันทำให้พอเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเราแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันนะ ทำไมคนที่เป็นครอบครัวเดียวกันเขาถึงไม่พูดความจริงออกมา
เทคนิคการสื่อสารกับผู้สูงอายุ และการดูแลใจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
นพ.เก่งพงศ์: จริงๆ เวลาเราพูดถึงผู้สูงวัย เราต้องดูว่าเขาใส่แว่นสายตาสีอะไรนะครับ อย่างอาม่าหมอเองก็น่าจะเหมือนคุณเปิด เพราะเกิดในสมัยเวรี่เบบี้บูมเมอร์ สมัยที่ข้าวยากหมากแพง สมัยสงครามโลก เขาก็จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันอัตคัดขัดสน หรือทุกอย่างมันต้องใช้เงิน บ้านเราไม่ได้รวยขนาดนั้น มันทำให้มีความรู้สึกว่าเรื่องที่ปวดท้องเรื้อรัง อาม่าผมเป็นเหมือนกันครับ อย่างที่บอกว่าแกผ่าตัดมะเร็ง แกเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารนะครับ ถ่ายดำมานานมากคือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดมานานมากโดยที่ไม่มีใครทราบเลยก็มีอาการปวดท้อง กินข้าวได้น้อย จนกระทั่งไม่ไหวแล้วซีดเลือดจะหมดตัวอยู่แล้วถึงจะมารู้ว่าอาม่าทรมานจากอาการนี้มาเป็นปีแล้ว ก็ไปถามแกนะว่าทำไมอาม่าถึงทนได้ขนาดนี้อาม่าก็พูดตรงๆ ว่า กลัวว่าจะเสียตังค์เยอะกลัวว่าลูกต้องจ่ายเงินหลายหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเพื่อมารักษาแก แล้วอาม่าก็มาจากเมืองจีนก็ไม่ได้มีสิทธิ์การรักษาอะไร อันนี้ผมว่าพอเราเข้าใจว่าอาม่าใส่แว่นตาสีอะไรมาก่อน มันทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้น เข้าใจอาม่ามากขึ้น สมัยก่อนก็จะเข้าใจว่าทำไมอาม่าเสียดายเวลาแล้วถ้าเกิดรักษามันดีกว่านี้น่าจะดีกว่านี้นะครับ
อันที่สองผมว่าวัฒนธรรมคนจีน มีความเป็นไทเกอร์มัมสูงมาก เป็นแม่เสือ อย่างที่คุณเป็ดว่าจะชมลูกสักครั้งเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตาย จะรู้สึกว่ากลัวลูกหลานจะเหลิง กลัวลูกหลานได้ใจ อย่างผมเกิดมาเรียนเก่งแค่ไหนไม่เคยมีของขวัญหรือคำชมต่างๆ ก็จะหาข้อติจนได้ แต่ก็ต้องมองว่ามันมาจากวัฒนธรรมของเขา เขาโตมาด้วยความขัดสน แต่พอเราเข้าใจผู้สูงวัยมันทำให้เราเข้าใจการสื่อสารของเขามากขึ้น อย่างปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเราขัดแย้งกันหรือว่าผู้สูงวัยเขามีความคิดแบบหนึ่งแล้วเราไม่เห็นด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่มันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น คือเราจะต้องดูว่าแต่ละคนเกิดมาเติบโตมาเขาใส่แว่นตาสีอะไร เขาผ่านประสบการณ์อะไรมาในชีวิตมา ทำให้เรามีความสุขกับการที่มีชีวิตร่วมกันได้มากขึ้น
เป็ด ทศพล: แปลกมากเหมือนกันนะครับ อย่างตอนที่ผมอยู่กับอาม่า ตอนแรกเราไม่เข้าใจเลยอย่างที่คุณหมอบอก เช่นเราซื้อของกินมาให้ อาม่าด่าเลยนะครับ ซื้อมาทำไม ซื้อมาทำไม แพง ซึ่งเราน้อยใจนะ เราก็เก็บเงินซื้อให้เขา เราก็อยากให้เขาได้กินของดีๆ แต่กลับว่าทำไมอาม่าว่าเราแบบนี้เหมือนกับเราทำอะไรผิดเลย ซึ่งเราเพิ่งมาเข้าใจทีหลังว่าเขากลัวเราสิ้นเปลืองเงิน อยากให้เราเก็บเงินเพื่อซื้อของที่จำเป็นสำหรับตัวเรา คือเราต้องอยู่กับเขา เอาใจเราไปอยู่กับใจเขาว่าถ้าเป็นอาม่า เขาจะคิดยังไง ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่ามันต้องใช้เวลาในการที่จะค่อยๆ เรียนรู้อาม่าครับ
การสื่อสารสำหรับคนที่อยู่ไกลกัน
นพ.เก่งพงศ์: จริงๆ หมอคิดว่าร้อยบ้านร้อยแบบ เพราะว่าแต่ละคนบริบทการเติบโตมาเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันถูกไหมครับ แต่หมอคิดว่าในเชิงด้านการแพทย์ สมัยก่อนเราจะเน้นด้านตัวโรคซะเยอะถูกไหมครับ เป็นหมอเฉพาะทางลงสาขามากขึ้น แต่น้องหมอสมัยใหม่ผมว่าค่อนข้างที่จะมีแนวคิดใหม่ เวลาเราดูแลคน ดูแลกันเป็นครอบครัว คนทั้งคนจริงๆ มันทำให้เรามองในมุมมองแตกต่างกันมากขึ้น มีมิติอื่นๆ ที่จะคอยทำให้เราดูแลกันได้ครบถ้วนมากขึ้น ที่ถามว่าจะมองให้มันครบได้ยังไงหมอคิดว่าต้องตั้งโปรเจ็กต์สักสามอย่างเสียก่อนในเชิงมิติความเป็นคนหนึ่งคน ด้านร่างกาย จิตใจ แล้วก็สังคม ความสัมพันธ์ เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการดูแลคนที่ต้องไม่ทิ้งทั้งสามสิ่งนี้ครับ
เป็ด ทศพล: การดูแลไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนที่เจ็บป่วย ผมว่าเราไม่เคยเรียนหนังสือเรื่องนี้เนาะ มันเหมือนกับเป็นเรื่องใหม่เลยครับ เราต้องปรับตัวอย่างมากเลยครับว่าการที่เขาสมมุติว่าเราพาเขาไปรักษาแล้วเขาไม่อยากไป มันเป็นเพราะอะไร เหมือนเราต้องค่อยๆ หาจุดที่มันบาลานซ์กันว่าทำไมเขาถึงไม่ไปหาหมอ เพราะเขากลัวเราเสียเงินหรอ งั้นเราควรต้องอธิบายให้เขาเข้าใจไหมว่าจริงๆ เงินที่เรามีมันอาจจะไม่ได้ใช้เยอะอย่างที่อาม่าได้ยินมา เพราะเราอาจจะมีสวัสดิการหรือตอนนั้นโชคดีมากที่อาม่าสามารถใช้ 30 บาทได้ มันทำให้อาม่าเขารู้สึกว่าการไปหาหมอก็ไม่ได้เหมือนอย่างที่คิดเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจครับ
นพ.เก่งพงศ์: อันนี้เสริมคุณเป็ดนะครับ อย่างอาม่าหมอตอนที่ผ่าตัดมะเร็งหรือมีการผ่าตัดเข่า ที่บ้านก็เสียเงินสดครับ เพราะอาม่าเป็นคนจีนเขาไม่มีสิทธิ์อะไรเลย แต่เราก็ใช้วิธีการโกหกเหมือนกัน เป็นการโกหกในเชิงจิตวิทยาหรือ White Lies แต่ก็พยายามจะบอกแกว่าผ่าตัดฟรี มันก็อาจจะเป็นเรื่องผิดนิดหนึ่งนะ หมอว่าก็ไม่ควรจะต้องโกหกขนาดนั้นอย่างน้อยตอนนั้นเราทำให้อาม่าสบายใจ จริงๆ ผมเชื่อว่าหลายบ้านก็ใช้วิธีนี้ แต่ว่าพอเรามานั่งนึก การที่เราจะใช้ White Lies ผมว่าใช้ในบางกรณีเท่านั้น สมมติกรณีเคสที่อาจเป็นมะเร็ง กลุ่มที่มีโรคซีเรียส การโกหกมันอาจจะมีผลดีในระยะสั้นแต่บางทีในกรณีที่ต้องใช้ระยะยาวผมว่าอาจจะต้องค่อยๆ คิดและหาวิธีบอกความจริงอาจจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าครับ
เป็ด ทศพล: เสริมคุณหมอนิดนึง การดูแลคนป่วยมันเหมือนกับเป็นงานกลุ่มเนาะ กระทั่งคนป่วยเองก็ต้องให้ความช่วยเหลือด้วยครับ ผมเห็นด้วยนะว่าการพูดความจริงแล้วเล่าให้เขาฟัง คนป่วยเขาจะได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจของเขาเองว่าเขาอยากรักษาในแบบไหนหรือต้องการอะไรอย่างนี้ครับ
มุมมองความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สู่การวางแผนสุขภาพผู้สูงอายุในอนาคต
เป็ด ทศพล: ล่าสุดผมเพิ่งพาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพ ซึ่งปกติคุณพ่อเขาไม่เคยไปเลยเหตุผลเดียวคือกลัวเปลืองเงิน กลัวลูกเสียเวลา จนวันที่ผมอธิบายให้คุณพ่อฟังว่าถ้าเรารู้ก่อน เราก็จะสามารถรักษาให้หายได้หรืออย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่าตัวเราอยู่ในสภาวะอะไร มีเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้างจะได้ป้องกันได้ ซึ่งอันนี้พอคุณพ่อฟังเขาก็เห็นด้วยแล้วก็เริ่มเข้าใจ เขาก็อยากให้เราคอยสรุปให้เขา ว่าเขาเป็นอะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง รักษาอะไรก่อน ซึ่งสำหรับผมอันดับแรกเลยคือการชวนคุยเรื่องนี้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญนะสำหรับสุขภาพ
นพ.เก่งพงศ์: อย่างคุณเป็ดว่าเลยครับ ผมว่าพอเราพูดกันด้วยเหตุผล อย่างบางอย่างรู้ก่อน สามารถที่จะดูแลได้ทันท่วงทีถูกต้องไหมครับ เดี๋ยวนี้คนจะเป็นมะเร็งไม่ใช่หมดความหวังทุกคนนะ ตอนนี้ต้องถามว่าเป็นมะเร็งอะไร ระยะไหน ยิ่งระยะต้นหลายมะเร็งสามารถรักษาหายขาดได้ อย่างสมมติผู้ชาย มีมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ บางระยะต้นๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้หญิงเองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม หรือว่ามะเร็งรังไข่ถ้ามาต้นๆ เช็กอัพไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก็สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือว่าถ้าต้องกินยาหรือเคมีบำบัด บางโรคเป็นยาเม็ดกินวันละวันครั้งเท่านั้นเอง ก็สามารถจะมีชีวิตยืนยาวได้ ประกันเบิกจ่ายได้ด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งนะผมว่าถ้าจะให้ Gen X ขายไอเดียให้คุณพ่อคุณแม่มาตรวจสุขภาพ ผมว่าก็ต้องชี้ด้วยความสำคัญถูกไหมครับ ชี้ให้เห็นถึงแสงสว่างด้วยว่าสมัยนี้การรักษาเราดีมาก สามารถเบิกจ่ายได้มีผลประโยชน์จากการดูแลสุขภาพระยะยาวด้วย
แต่เทคนิคหนึ่งผมว่าการสื่อสารอาจจะต้องใช้ตัวช่วย บางทีเราใช้ลูกมาพูด อย่างผมเองพูดเป็นหมออาจจะไม่ค่อยฟังเท่าไร บางทีเราก็ต้องหาวิธีช่วยว่าแล้วอาม่าฟังใครล่ะ บางทีผู้สูงได้เห็นหลานน่ารักมาเจาะแจ๊ะ เราก็หยอดให้หลานไปบอกอาม่าว่าไปหาหมอหน่อยเดี๋ยวไปด้วย รวมถึงการปรับเปลี่ยนสุขภาพด้วยนะครับ การกินการอยู่การขอเลิกบุหรี่ บางทีลูกขอแทบตาย ชักแม่น้ำทั้งห้าพูดให้ตายก็ไม่เลิก อย่างเลิกเหล้าหมอเคยบอกบางบ้านนะ จะให้เลิกเหล้านะเลิกเมียดีกว่า แหรือใช้หลานน่ารักๆ ไปคุย พอหลานไปคุยเริ่มลดบุหรี่ เลิกกินเหล้า บางอย่างก็มันเป็นไลฟ์สไตล์ทำมาตลอดชีวิต แต่ว่าจะเปลี่ยนในช่วงที่สำคัญช่วงที่กระทบกับสุขภาพ บางทีต้องใช้เทคนิคบางทีอาจไม่ใช่เทคนิคเดียวผสมผสานกัน
อาม่าทำ Advance Care Plan สำหรับการจากไปอยู่เสมอ
นพ.เก่งพงศ์: จริงๆ อาม่าเป็นคนที่ไม่ได้มีการศึกษาใดๆ ตั้งแต่มาเมืองไทยก็ขายปลาทูแล้วก็ค้าขายมาตลอดจนอายุ 60 ปี แกก็เริ่มสบายหน่อยลูกก็เริ่มลงหลักปักฐานได้ ตอนนั้นผมเกิดมาอาม่าก็ซักประมาณจะ 70 ปี แต่พอ 70 ปี ทุกคนในบ้านจะรู้ว่าอาม่าจะมีกระเป๋าใบนึงอยู่ที่หัวนอน จะเป็นกระเป๋าใบสีดำใบใหญ่เลย ผมสมัยเด็กๆ เคยนั่งซนไปเปิดกระเป๋าเล่น ในนั้นมีชุดกี่เพ้าสีขาว มีรองเท้าคู่นึง มีพัดเล่มนึง แล้วก็จะมีรูปถ่าย ผมก็ถามว่าอาม่าเตรียมไว้ทำไม อาม่าบอกว่ากระเป๋าใบนี้ใช้ในงานศพของแก เตรียมไว้ตั้งแต่อายุ 70 ปีนะ แล้วรูปที่อาม่าจะใช้ในงานศพเปลี่ยนมาแล้วสามเวอร์ชั่นเปลี่ยนตอน 70-80-90 แล้วก็ตอน 100 มันก็เลยทำให้เวลาหมอเรียนจบหมอมาแล้วหมอมองย้อนกลับไป อาม่าทำ Advance Care Plan มานานมาก ให้ทุกคนได้รู้ ลูกหลานมาแกก็จะมานั่งกินข้าวแล้วเห็นกระเป๋าใบนี้ตลอด แกก็ได้เตรียมความพร้อมมรณานุสติมาตลอดเลยตั้งแต่ 70 ปี
ทุกครั้งที่แกตื่นมาถือว่าเป็นโบนัส ถ้าแกตายไปไม่อยากให้ยื้ออยากให้ไปสบายๆ นอนหลับไปไม่ต้องมานั่งเจาะแทนดูดอะไรแก อันนี้ก็ทำให้ทุกคนมองเรื่องการตายของอาม่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ แล้วช่วงเวลาสำคัญที่จะบากลำบากทุกคนก็เข้าใจในบริบทที่อาท่าได้ตั้งความประสงค์ไว้ ก็ทำให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านในวันที่ยากลำบากตรงนั้นมาได้ครับ อยากให้ทุกบ้านได้มองเรื่องการตายเป็นวัฏจักรหนึ่งของชีวิต แล้วไม่อยากให้มองว่าเป็นการนำเอาเรื่องอวมงคลมาพูดหรือเปล่า แต่ว่าการตายเป็นการเปลี่ยนผ่านแนวคิดสมัยใหม่มองว่าการตายเป็นการเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปอีกสถานะหนึ่งเท่านั้นเอง
การวางแผนและดูแลผู้สูงวัยแบบวัยชะ-รา-ล่า
เป็ด ทศพล: พอพูดคำว่าสังคมผู้สูงอายุ ผมจะนึกถึงญี่ปุ่นเพราะผมเคยไป เราเห็นแล้วว่าบ้านเมืองเขามีผู้สูงอายุเยอะนะแล้วเห็นเลยว่าผู้สูงอายุเขายังทำงานอยู่เลย แสดงว่าถ้าต่อไปประเทศเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราอาจต้องทำงานถึงขนาดนั้นแต่ว่าการที่เราจะทำงานได้ถึงอายุ 70 80 90 ผมว่ามันต้องเกิดจากสามอย่างนะในความคิดผม คือต้องเป็นคนที่กินดี นอนดีแล้วก็ออกกำลังกายดี รู้สึกว่าสามสิ่งนี้มันมันสำคัญมาก อย่างน้อยพอเราเป็นผู้สูงอายุไปเราจะเป็นผู้สูงอายุที่เรามีต้นทุนที่ดี สมมุติเราป่วยขึ้นมาลูกหลานเราอาจจะไม่ต้องมาดูแลเรามาก ไม่ต้องเหนื่อยมาก สามสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญครับ
นพ.เก่งพงศ์: หมอคิดว่าสังคมผู้สูงวัยหรือ Aged Society อีกสักห้าปีจะเป็นคำโบราณ เพราะว่าเราจะอยู่ในสังคมอายุยืนมากกว่า หมายความว่าตอนนี้ของ TDRI เขบอกว่าลูกหลานเหลนเราที่อายุต่ำกว่า 10 ปีตอนนี้อายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 99 ปี ผมว่าถ้าเกษียณที่ 60 ผมว่าเหนื่อยนะ เหนื่อยเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเก็บเงินไว้เท่าไหร่ จริงๆ หมอก็ได้เคยเสนอรัฐบาลไปหลายเรื่อง ว่าจริงๆ เราอยู่ในสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่จะมาเตรียมตัวกันตอนอายุ 50 ปี แต่มันต้องพูดถึงตั้งแต่เด็ก อย่างตอนนี้เราอยู่ในงาน sustainability เราต้องพูดถึงว่าเด็กโตมาอย่างไรถึงจะมีต้นทุนสุขภาพที่สูงมากพอ ที่จะมีชีวิตกันเป็น 99 ปีได้ เช่นการเข้าถึงโปรตีนอย่างเหมาะสมตั้งแต่ในวัยประถมมีการกระตุ้นพัฒนาอย่างไร การเข้าถึงวัคซีนที่ครอบคลุม การได้รับการศึกษา ความรู้เรื่องการออกกำลังกายที่ดี เพศศึกษาที่ดี การทำงานเราจะทำยังไงให้เราไม่ต้องมีปัญหาเรื่องออฟฟิศซินโดรม อันนี้คิดว่าน่าจะต้องเป็นพูดกันถึงนโยบายแบบกว้างว่าต้องเตรียมตัวตั้งแต่เด็กเลย
อย่างผู้สูงวัยจะมีสุขภาพดีผมว่าจะต้องเช็คอัพสุขภาพบ้าง การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่อยากจะรณรงค์เยอะๆ อย่างเรื่องวัคซีนผู้สูงวัยมี 5 วัคซีนที่จำเป็นที่จะต้องได้รับ คำแนะนำของหมอ 5 วัคซีนที่สำคัญจะต้องได้รับคือ 1.ไข้หวัดใหญ่เรารู้กันอยู่แล้วแล้วทุกปี 2.อนาคตวัคซีนโควิดที่ต้องได้รับทุกปี เพราะนำไปสู่การเจ็บป่วยหนักได้ 3.วัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อตาย เด๊๋ยวนี้เขาทำปลอดภัยมาก ฉีดสองเข็มกันตลอดชีวิตลดการบาดเจ็บป่วยหนักได้ 4.วัคซีนตัวปอดบวม เพราะผู้สูงอายุบางคนบางทีนั่งดูทีวีไอสำลักน้ำลาย ติทำให้มีปัญหาติดเชื้อปอดบวมค่อนข้างเยอะ ลดความสูญเสียได้ค่อนข้างเยอะ
วางแผนชีวิตในวัยชราของตัวเองเอาไว้อย่างไร
เป็ด ทศพล: วันนั้นผมไปอบรมโรงเรียนอนุบาลที่อยากให้ลูกเข้า เขาพูดคำนึงดีมากเหมือนว่าที่ผ่านมาทุกคนน่าจะได้เรียนวิชาที่เรียกว่าพ่อ-แม่ คือเราจะได้รู้ว่าเราจะต้องเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลลูกยังไง ซึ่งเสียดายที่ผ่านมาเราไม่เคยเตรียมตัวอะไร ปีก่อนผมยังไม่มีลูก ปีนี้ผมมีลูก หรือเราจะเป็นพ่อแม่ยังไงดี เราก็ได้แต่อ่านหนังสือหรือถามประสบการณ์จากคนรอบตัวเรา การตรวจสุขภาพผมว่ามันจำเป็นอย่างมาก อย่างผมเองต้องไปตรวจสุขภาพทุกปี บางทีมีคนถามผมเหมือนกันว่าทำไมต้องตรวจ ซึ่งผมแปลกใจมากเหมือนกัน ผมเลยถามกลับไปว่าคุณมีรถคุณยังเอารถไปเช็คระยะทุกหกเดือนเลย นี่ร่างกายเราทำไมเราถึงไม่เช็คหน่อยหรอว่าร่างกายเราเป็นยังไง ต่อให้ข้างนอกเราจะดูดียังไงก็ตามแต่เราไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้สึกว่าอันนี้คือการเตรียมตัวของผมแล้วก็เตรียมเรื่องเงินเพื่อที่จะวางแผนการเงินได้ในชีวิตของเรา
การเตรียมตัวของผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน
นพ.เก่งพงศ์: ต้องให้ให้กำลังใจคนที่เป็นเจนวายก่อนนะครับ เจนวายเราเป็นแซนด์วิชเจเนอเรชั่น เราดูแลทั้งลูกเล็ก ทั้งผู้สูงวัยพ่อแม่ด้วย เป็นวัยที่ใช้ทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ ทั้งความเครียดก็อยากให้กำลังใจก่อน จริงก็มีคนพูดถึงเรื่องถ้าเกิดเราเกษียณ 60 ปี จะเป็นตัวเลขนี้ไหม เพราะอย่างที่ผมเรียนว่าอนาคตเราไม่ได้อยู่กันแค่อายุ 80 นะครับ เราอยู่กันอายุหลักร้อย 60 ปีผมว่าอาจจะเป็นแค่วัยกลางคน แล้วก็สมัยก่อนคำว่าเกษียณคือหมดอะไรตายอยากถูกไหมครับ กลายเป็นว่าอยู่บ้านเลี้ยงหลาน อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ผมว่า คงไม่ได้ ข้อมูลเยอะขึ้นเลยนะครับว่าผู้สูงอายุที่เกษียณอายุ ไม่มีงานทำไม่มีกิจกรรมที่เติมเต็มด้านจิตใจเลย 30% เป็นอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควร อันนี้ชัดเจนมากๆ มันก็เลยเป็นที่มาว่ามันคงไม่ได้มีอาชีพเดียวถูกไหมครับ เราอาจจะยังเหลือกลุ่มงานที่เรายังทำงานได้อยู่ เราอาจจะขยับทักษะต่างๆ ของเราให้กลายเป็นอาชีพใหม่ได้ในอนาคต เวลาผู้สูงอายุมาปรึกษาหมอว่าอยากเกษียณเออรี่ไทร์ ผมมักจะบอกว่าพี่เอิรี่รีไทร์จากอาชีพเก่าได้แต่ต้องหาสี่สิ่งนี้ให้เจอ สิ่งที่ท่านถนัด สิ่งที่ท่านรัก สิ่งที่ท่านทำอาชีพเลี้ยงชีพได้ ทำเงินได้และอันสุดท้ายคือสามารถที่จะตอบโจทย์คนส่วนรวมรวมถึงเติมเต็มตัวเองได้ด้วย จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องอาชีพ แต่จะเป็นกลุ่มงานที่ตอบโจทย์ทั้งตัวเราเอง ครอบครัวแล้วก็สังคมได้
การทำพินัยกรรมชีวิต (Living will)
นพ.เก่งพงศ์: จริงๆ มีการพูดถึงมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานะสำหรับการทำพินัยกรรมชีวิต เป็นการบอกความต้องการของปัจเจกบุคคลว่า สมมุติหมอเองมีความต้องการในวาระสุดท้ายอย่างไรกับชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านตัวโรค การตัดสินใจที่จะยื้อชีวิตหรือว่าอาจจะต่อสุขภาพตัวเองมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถที่จะเข้าถึงการเขียนหรือการบอกความต้องการของตัวเองได้ แต่อยากจะเรียนว่า Living will ไม่ใช่เป็นตัวเขียนแล้วแก้ไขไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามความประสงค์ของเราตามวันเวลาที่ผ่านไปเรามีบริบทที่แตกต่างกัน สามารถที่จะมาปรับเปลี่ยนกันได้ทุกเมื่อ
ประสบการณ์ในฐานะหลานม่าตัวจริง
เป็ด ทศพล: ที่ผ่านประสบการณ์มา สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราเคยเป็นผู้ดูแล ซึ่งย้ำเลยครับว่าการดูแลมันคืองานกลุ่มจริงๆ เราอยากให้คนที่ดูแลกับผู้ป่วยได้พูดคุยกัน อย่างเรื่องเมื่อกี้ถ้ารู้ว่ามีการทำแบบนี้ผมจะให้อาม่าทำเลยครับ ว่าเขาอยากได้อะไรเราจะได้ดูแลเขาอย่างที่เขาต้องการที่เขาตัดสินใจเอง ไม่งั้นมันก็จะเหมือนกับว่าเราตัดสินใจเอง ญาติหรือลูกก็ตัดสินใจเองโดยที่เราไม่รู้เลยว่าอาม่าเขาคิดอะไรอยู่ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีมากในการเตรียมการวางแผนล่วงหน้าไว้ครับ
หมอเก่ง : แต่ละคนก็มีแว่นตาเป็นของตัวเอง ประสบการณ์แต่ละคนมันนำมาสู่การตัดสินใจ แต่ว่าแนวคิดในอนาคตเราจะมักจะต้องเคารพการตัดสินใจของคน แม้ว่าในวันที่เรายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ เราสามารถเขียนความต้องการของเราลงไปได้ ก็อยากให้ทุกๆ คนได้ได้แจ้งความประสงค์ ตัว Living will ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์มากๆ อย่างที่บอกปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่เขียนไปแล้วห้ามเปลี่ยนเลย ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วก็เลยอยากให้กำลังใจ อยากให้ทุกคนได้เข้าใจซึ่งกันและกันตามแว่นตาของแต่ละคนที่ได้ใส่อยู่ครับ