เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 มีความคืบหน้าด้านการมีส่วนร่วมของผู้พิการในสังคมไทยมากขึ้นอย่างหนึ่ง นั่นคือ ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดทำแผนที่การเดินทางสำหรับคนพิการที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงทั้ง 16 สถานี เป็นผลการพิจารณาคดีที่สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและพวกรวม 6 คนยื่นฟ้องต่อ รฟม. ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการในรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่สะดวกและปลอดภัย
คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ เป็นคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า "รฟม. มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้วตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง"
ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ผลตัดสินดังกล่าว นำมาสู่ผลการตัดสินในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้พิการ ครั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดกล่าวว่า
“แม้ในภาพรวมจะมีการติดตั้งลิฟต์ครบถ้วน และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่ในประเด็นการไม่มีแผนที่เดินทางสำหรับคนตาบอดที่สามารถเข้าถึงได้นั้น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง และสามารถรับฟังได้ว่าเป็นการละเลยหน้าที่ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ รฟม. จัดทำแผนที่สำหรับคนตาบอดให้ครบทุกสถานีในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงสถานีเตาปูน - บางใหญ่ รวมทั้งหมด 16 สถานี ภายใน 120 วัน นับจากวันที่มีคำพิพากษา เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”
ศาลมีคำสั่งพิพากษาแก้ไขบางส่วน และเห็นตามศาลชั้นต้นในหลายประเด็น ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ศาลไม่เห็นพ้อง เช่น ขนาดป้ายสิ่งอำนวยความสะดวกที่เล็กเกินไป การไม่มีโทรศัพท์สาธารณะเฉพาะสำหรับคนตาบอด รวมถึงกระบวนการสอบถามเพื่อยืนยันความพิการ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่ใช่การละเมิดสิทธิหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ
Spotlight ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนผู้พิการที่ยื่นฟ้องต่อ รฟม. ในกรณีดังกล่าว ประกอบไปด้วย สว่าง ศรีสม ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) คุณสุนทร สุขชา ฝ่ายกฎหมายสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และกรรมการบริหารสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และคุณซาบะ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักสิทธิและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้พิการ และเจ้าของ Facebook Page Accessibility is Freedom เกี่ยวกับกระบวนการและแนวคิดเบื้องหลังการยื่นฟ้องต่อ รฟม.
แม้สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและพวกรวมจะยื่นฟ้องกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการที่ปลอดภัยในปี 61 และเส้นทางการฟ้องรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนมีมายาวนานกว่านั้น
สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยติดตามการสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มเล็งเห็นถึงปัญหาหลาย ๆ ด้านที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อการมีส่วนร่วมของผู้พิการในระบบรถไฟฟ้า จึงรวมตัวกันในกลุ่มผู้พิการนับร้อยคน โดยมี 6 คนเป็นหัวหอกยื่นฟ้อง ขอให้มีการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่ม เช่น โทรศัพท์สำหรับคนตาบอด แผนที่แบบนูนสำหรับคนตาบอด ติดตั้งลิฟต์ทุกทางเข้าออก ขยายป้ายที่เล็กเกินไป รวมถึงกระบวนการสอบถามเพื่อยืนยันความพิการ
ด้านคุณซาบะ หนึ่งในผู้ฟ้องคดีสายสีม่วง และผู้ขับเคลื่อนแคมเปญกระทุ้ง (ตามที่คุณซาบะเรียก) กล่าวว่า เขาได้จับตาดูการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มทีเดียว
“ผมจับรถไฟฟ้าสายสีม่วงนานมาก ผมขับรถไปดูตั้งแต่เขาเริ่มสร้าง ตั้งแต่เขาขุดหลุมสร้างสถานี คอยมองว่า เขามีลิฟต์รึเปล่า มีโน่นนี่รึเปล่า จนกระทั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการ [...] ประเด็นของผมคือเรื่องลิฟต์ เพื่อผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว”
“รถไฟฟ้าหลายๆ สายถูกพัฒนาและสร้างมาเรื่อยๆ ทั้งสายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพู การยื่นฟ้องก็ขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มของเราเกาะกันได้ และมีเวลากันแค่ไหน นั่นหมายความว่าเราต้องลงไปสำรวจ 16 สถานี [ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง] เพราะฉะนั้นกว่าจะฟ้องศาลได้เราสำรวจกันหนักมาก” คุณซาบะกล่าว
คุณสุนทร กรรมการบริหารสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและฝ่ายกฎหมายของสมาคมคนพิการทุกประเภท กล่าวถึงอุปสรรคของคนตาบอด จากการไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนในสถานีรถไฟฟ้า
“เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนไปถึงสถานีแล้ว ทางเข้าสถานีจะมีตำแหน่งแตกต่างกันไป ซึ่งเราไม่รู้ว่าต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เข้าทางไหน เพราะไม่มีการบอกทิศทาง”
จริงอยู่ว่าหากใช้สถานีรถไฟฟ้าสายเดิมเป็นประจำ คนตาบอดสามารถสร้างความคุ้นชิน และจดจำได้ว่าจะต้องเดินทางอย่างไร แต่คนตาบอดก็เช่นเดียวกับคนตาดี คือต้องมีโอกาสเดินทางไปที่ใหม่ๆ และใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ การเดินทางในสถานีความยาว 300–400 เมตร โดยที่ไม่รู้ว่าก้าวต่อไปคืออะไร หรือหันหน้าไปทิศไหนจึงจะได้ขึ้นรถไฟอย่างคนตาดี เป็นการเดินทางที่ยาวนานไม่น้อย
“...หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ คนตาบอดก็ไม่รู้เลยว่าทางหนีอยู่ตรงไหน” คุณสุนทรกล่าวเสริม ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่คนตาบอดต้องรู้ตำแหน่งที่ตั้งสิ่งต่างๆ ในสถานี เพื่อที่เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแผ่นดินไหว หรืออัคคีภัยขึ้น คนตาบอดจะสามารถช่วยเหลือตัวเองออกไปจากสถานการณ์เร่งด่วนเหล่านั้นได้
แม้จะเชื่อกันว่าคนไทยมีน้ำใจ แต่การหวังพึ่งพิงความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทั่วไปหรือฉุกเฉิน ย่อมไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรมต่อผู้พิการ แต่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างอย่างไร สามารถเข้าถึงได้เท่ากันคือวิธีการที่ดีที่สุด เพราะแม้ตาบอดก็มีสิทธิ์รู้ทางเท่าคนตาดี
แผนที่สำหรับผู้พิการทางสายตาที่สามารถใช้ในสถานีรถไฟฟ้าได้มีหลายแบบ คุณสุนทร ยกตัวอย่างแผนที่จากมุมมองคนตาบอด
“แผนที่สำหรับคนตาบอดมีหลายลักษณะ มีแผนที่ในเชิงกายภาพ อย่างแผนที่ภาพนูน เท่าที่ผมเจอมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทยคือ ที่อาคารศูนย์พัฒนาฝึกอบรมอาชีพคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ที่นั่น เมื่อคนตาบอดยืนอยู่หน้าตึก และสัมผัสกับแผนที่นั้น เขาจะเข้าใจสภาพแวดล้อมในตึกใหญ่ๆ ทั้งตึกได้ด้วยการสัมผัสแผนที่ นอกจากนี้แผนที่ภาพนูนจะมีอักษรเบรลล์คู่ขนานกับรูปลักษณะอาคาร และมีปุ่มกดให้เครื่องแผนที่อธิบายออกมาเป็นเสียง”
และแผนที่อีกอย่างที่คุณสุนทรคิดว่ามีความสะดวกมากกว่า ทั้งสำหรับผู้ใช้งาน และผู้สร้างก็คือ แผนที่ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอเข้ามาช่วย
“ยุคปัจจุบัน เราน่าจะเน้นไปที่ AI มากกว่า” คุณสุนทรกล่าว “แผนที่ AI ผมเห็นว่าที่สยามพารากอนมีอยู่และน่าจะเป็นที่เดียวในประเทศไทย แผนที่นี้ไม่ได้จำกัดว่าสำหรับคนตาบอดเท่านั้น แต่สำหรับทุกคน ทำงานด้วยระบบถามตอบ สั่งการด้วยเสียง บอกตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่างๆ ในอาคาร”
คุณสุนทรแนะนำว่า อาจเพิ่มระบบสำหรับผู้พิการทางสายตาเข้าไปในแอปพลิเคชันของ MRT ชื่อว่า Bangkok MRT ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้คำนวณเวลา อัตราค่าโดยสาร บอกข้อมูลสถานีต่างๆ ของ MRT รวมไปถึงทางออกและสิ่งอำนวยความสะดวก การเพิ่มฟังก์ชันสำหรับผู้พิการทางสายตา อย่างระบบถามตอบด้วยเสียง อาจเป็นทางที่คนพิการสามารถเข้าถึงเส้นทางอย่างคนตาดีได้โดยไม่สร้างภาระให้ผู้ต้องสร้างแผนที่น้อยกว่าแผนที่แบบเดิม
อีกประเด็นที่ตัวแทนยื่นฟ้องอย่างคุณสว่างและคุณซาบะ ซึ่งเป็นผู้พิการด้านความเคลื่อนไหวให้ความสำคัญมากคือ การมีลิฟต์ที่เพียงพอสำหรับผู้พิการ
ทั้งสองชี้ว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีการติดตั้งลิฟต์จริง และมีการติดตั้งลิฟต์ทั้งสองฝั่งถนน แต่ไม่ครบทุกทางเข้า คือในด้านหนึ่งของสถานีอาจมี 2 ทางเข้าขึ้นไป แต่มีลิฟต์แค่ด้านเดียว ฟังอย่างนี้แล้ว คนที่ไม่มีความพิการทางร่างกายอาจมองว่า “คนพิการเยอะไปไหม” เข็นรถไปอีกหน่อยก็ขึ้นลิฟต์ได้แล้วไม่ใช่หรืออย่างไร คุณสว่างชี้ถึงปัญหาของการมีลิฟต์ไม่ครบทุกทางเข้าว่า
“บางจุดสถานีตั้งคร่อมสี่แยก [หากจะใช้ลิฟต์] เราต้องข้ามถนนหลวง ซึ่งมีหลายเลน ยิ่งข้ามถนนรัตนาธิเบศร์เนี่ย คนพิการข้ามไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย” คุณสว่างกล่าวและชี้ว่าปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่านั้น แต่สายสีน้ำเงินก็เช่นกัน บางสถานียังมีลิฟต์ฝั่งเดียวเสียด้วยซ้ำ อย่างสถานีวัฒนธรรม
การข้ามถนนสำหรับผู้พิการในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากใช้เวลามาก ยังลำบากมากเช่นเดียวกัน หากเข็นรถไปจนเจอทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าแล้วแต่ใช้ไม่ได้ ผู้ใช้รถเข็นต้องเข็นต่อไปอีกราว 300 เมตรเพื่อหาทางขึ้นใหม่ที่มีลิฟต์ ไม่จำเป็นต้องมีสี่แยก หรือวีลแชร์ การเดินทางเพิ่มในระยะเท่านี้ก็ทำให้คนขาดีเหนื่อยได้ไม่น้อย คุณซาบะให้มุมมองเพิ่มว่า
“ขออนุญาตพูดแบบกวนๆ นะครับ คนอาจจะคิดว่า ‘ก็ติดลิฟต์ให้แล้ว ก็เข็นไปอีกหน่อยจะมีปัญหาอะไร?’ คนพิการก็เลยต้องยอมรับสภาพแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ผมต้องเข็นไปอีก แต่ถนนใต้สถานีมีความซับซ้อนต่างกัน บางสถานีคร่อมอยู่บนสี่แยกหรือห้าแยก ดังนั้นเราต้องข้ามถนนไป ยิ่งสายสีม่วงตัวสถานียาวมากด้วย” คุณซาบะกล่าวและชี้ว่า การติดลิฟต์เพียงฝั่งละตัวเป็นการอำนวยความสะดวกเพียงขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ความเท่าเทียม
“ถ้าเท่าเทียมกันจริงต้องติดลิฟต์ 4 ตัว ทุกทางเข้าออก เพราะผมเป็นคนที่ไม่สะดวก เป็นคนที่เดินไม่ได้ ทางเข้าที่ 1 ไม่มีลิฟต์ผมต้องเข็นรถเข็นไปทางเข้าที่ 2 อีก 150 เมตรหรือมากกว่านั้น ในขณะที่คนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงสามารถเดินขึ้นบันไดได้เลย เห็นความแตกต่างไหมครับ ผมกับคุณเท่ากัน ฉะนั้นมันไม่มีข้อแม้เลย”
สถานีสายสีม่วงที่รฟม. สร้างมานั้น หากทางเข้าออกสถานีไม่มีลิฟต์บริการ จะมีการใช้ลิฟต์เกาะบันไดแทน ซึ่งคุณสว่างชี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายกำหนดว่าสามารถนำมาใช้ได้เพราะมีอันตรายอยู่
“ปัญหาของลิฟต์เกาะบันไดคือมันไม่สะดวกอย่างยิ่ง และมันเป็นอันตราย เวลาจะใช้งานต้องคอยชะเง้ออยู่ข้างล่าง รอให้เจ้าหน้าที่มาเห็นเราและลงมาช่วย เราไม่สามารถใช้งานเองได้เลย เคยมีกรณีที่ขึ้นไปและเสียกลางทางด้วย”
หลังคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม แม้ว่าจะมีการสั่งให้รฟม. จัดทำแผนที่สำหรับคนตาบอด แต่ก็ยังมีคำฟ้องอีกหลายประการที่สมาคมฯ ยังไม่ได้รับตามคำเรียกร้อง คุณสว่างเข้าใจมุมมองของศาลเป็นอย่างดี แต่ก็ชี้ว่า คำสั่งของศาล เช่นเดียวกันกับแนวคิดเบื้องหลังกระบวนการสร้างสถานีรถไฟฟ้า ยังขาดมุมมองจากผู้ใช้จริงอยู่
“เราเคารพคำตัดสินของศาล เพราะเข้าใจว่าศาลเองก็ตัดสินตามตัวบทกฎหมาย แต่สิ่งที่อาจยังขาดไป คือประสบการณ์การใช้งานจริง ในหลาย ๆ ครั้งกฎหมายไม่ครอบคลุมถึงประสบการณ์การใช้งานจริง ในทางปฏิบัติต้องใช้ได้จริง คือถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายมากเกินไป หรือใช้ความพยายามมากเกินไป ก็อาจถือได้ว่าไม่เป็นธรรม”
คำสั่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมมีกำหนดให้รฟม. สร้างแผนที่สถานีสำหรับผู้พิการทางสายตาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่การทำได้สำเร็จในเวลาที่กำหนดนั้นก็มีความท้าทายอยู่มาก
หากย้อนไปเมื่อปี 2554 สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้ชนะฟ้องกรุงเทพมหานครมาแล้ว และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กทม. จัดทำลิฟต์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานีของรถไฟฟ้า BTS ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
คุณซาบะกล่าวเพิ่มเติมว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นสายที่สร้างก่อน จึงมีจุดบกพร่องด้านการครอบคลุมการใช้งานของผู้พิการมาก และเป็นสายที่สมาคมฯ ดำเนินการฟ้องมาก แต่ผ่านมาแล้วเกินทศวรรษ กรุงเทพมหานครก็ยังไม่สามารถดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายให้แล้วเสร็จได้ ยังมีอีกหลายสถานีที่ขาดลิฟต์ชั้นพื้นดิน ห้องน้ำผู้พิการ และกระเบื้องนำทางที่ใช้ได้จริง
ด้านคุณสุนทรมีมุมมองว่าหากหลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกัน ไม่มีการคิดแทนคนพิการ แต่รวมคนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและตัดสินใจ การดำเนินสามารถเป็นไปได้อย่างดี
“สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมไปถึงสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เรากำลังจะมีหนังสือไปที่รฟม. เพื่อให้ตั้งคณะทำงาน ให้มีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านกายภาพ ทางด้านดิจิทัล และทางด้านอักษรเบรลล์ ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบ”
คุณซาบะยกตัวอย่างการสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีแดง ที่ตัวคุณซาบะเองและสมาคมผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างว่า
“รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีชมพูและสายสีเหลือง พวกพี่ได้มีโอกาสไปนั่งคุยด้วย ดูแบบด้วยกัน พวกพี่ไม่ได้เรียนเรื่องการออกแบบมา แต่ก็นั่งดูและแก้กัน ทำให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่น ลิฟต์ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะอยู่ด้านใน ไม่อยู่ในถนนหรือทางเท้าแล้ว” คุณซาบะยกตัวอย่าง แต่กล่าวว่าสายสีชมพู ที่สร้างทีหลังสายสีเหลืองกลับไม่เป็นอย่างนี้ แต่ลิฟต์กลับไปอยู่บนทางเท้า ซึ่งนอกจากไม่สะดวกสำหรับคนพิการนัก และกีดขวางทางเข้าสำหรับคนทั่วไปอีกด้วย
“หลักการง่ายๆ คือให้คนที่เขาใช้โดยตรง เป็นผู้ออกแบบมาตั้งแต่ต้น เราไม่อยากให้เกิดกรณีอย่าง คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด จะได้ไม่เกิดกรณีฟ้องศาลกันต่ออีกไม่รู้จบ เพราะที่ผ่านมา เราออกแบบกันอย่างไม่มีส่วนร่วม และไม่มีหุ้นส่วนจากคนพิการเลย” คุณสุนทรกล่าว