positioning

“มาม่า” บุกแอฟริกา-จ่อคืนเวียดนาม ทุ่ม300ล. เพิ่มผลิตที่ฮังการีฮับยุโรป

29 มิ.ย. 66
“มาม่า” บุกแอฟริกา-จ่อคืนเวียดนาม ทุ่ม300ล. เพิ่มผลิตที่ฮังการีฮับยุโรป
ผู้จัดการรายวัน 360 – “มาม่า” เดินแผนขยายตลาดเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมลงทุนอึก 300 ล้านบาท เพิ่มไลน์ผลิตที่ฮังการีอีกสองเท่า ฐานบุกตลาดยุโรปพร้อมขยายตลาดใหม่ทวีปแอฟริกา ซุ่มกลับคืนตลาดเวียดนามอีกครั้ง หลังจากเลิกไปแล้ว เกือบ 20 ปี

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทที่ฮังการี เพื่อนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 300 ล้านบาท ในการขยายไลน์การผลิตเพิ่มอีก 2 ไลน์ ในโรงงานเดิมที่ยังมีพื้นที่อีก จากเดิมที่มีไลน์ผลิตเดิม 2 ไลน์แล้วที่ฮังการีหรือเพิ่มอีก 2 เท่า ซึ่งใช้เป็นฐานผลิตในการป้อนตลาดยุโรปเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ประมาณปลายปี 2567

ทั้งนี้ ฐานผลิตเดิมที่ฮังการีนั้น ทำการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ “มาม่า” ซึ่งมีตลาดตลาดประเทศเยอรมันใช้แบรนด์ไทยเชฟและประเทศฟินแลนด์เป็นตลาดหลัก มากกว่า 50% ของยุโรป โดยในฟินแลนด์มาม่าแทบจะเป็นแบรนด์เดียวในตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มผลิตป้อนตลาดไม่เพียงพอแล้ว เพราะตลาดมีความต้องการสูงมากกว่าตลาดประเทศอื่น รวมทั้งเพื่อเป็นการรองรับการขยายตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนั้นบริษัทฯยังทำการขยายตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ที่่ได้เริ่มประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด -19 ซึ่งก็ถือว่าเริ่มต้นได้ดี มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง โดยส่งสินค้าจากเมืองไทยไปจำหน่าย
ขณะเดียวกันก็เตรียมศึกษาที่จะกลับเข้าไปทำตลาดในประเทศเวียดนามอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากที่เคยเข้าไปร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นตั้งโรงงานผลิตที่เวียดนามมาแล้ว แต่ภายหลังได้ยุติกิจการไปเมื่อปี 2542 แต่ก็ยังมีสินค้าวางจำหน่ายอยู่บ้าง

ปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่าย “มาม่า” ในต่างประเทศ ประมาณ 25-30% ทั้งจากที่ส่งจากเมืองไทยไปจำหน่ายและที่ส่งจากฐานผลิตในต่างประเทศโดยบริษัทฯวางเป้าหมายไว้ว่าภายในช่วง2-3 ปีจากนี้จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างาประเทศให้เป็นประมาณ 40%

นายพันธ์ กล่าวถึงตลาดในประเทศไทยด้วยว่า ภายหลังจากที่ทางภาครัฐอนุมัตให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาจำหน่ายได้ 1 บาทต่อซองนั้น ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาบ้าง ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น 7-8% จากก่อนนี้ที่อยู่แค่ 0.3% เท่านั้นเอง
ทั้งนี้จะส่งผลต่อทั้งปีนี้ที่คาดว่าบริษัทฯจะมียอดรายได้รวมเติบโต 5-6% จากปีที่แล้วที่มีรายได้รวมประมาณ 27,000 กว่าล้านบาท ส่วนในแง่ปริมาณจะเติบโต 2% ขณะที่มูลค่าตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท สัดส่วนรายได้จะมาจากการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ “มาม่า” ทั้งการส่งออกและการขายภายในประเทศ และรายได้จากการขายขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์”

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT