การเงิน

ทางเลือกการลงทุน สำหรับคนอยากเริ่มต้น

15 ม.ค. 66
ทางเลือกการลงทุน สำหรับคนอยากเริ่มต้น

การลงทุน คือ การนำเงินที่มีเก็บไว้ในทางเลือกที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากทั่วไป โดยผู้ที่ลงทุนในทางเลือกที่ว่าอาจไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวเศรษฐกิจหรือโลกการลงทุนตลอดเวลา เพราะทางเลือกที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยอาศัยความเข้าใจเพียงเล็กน้อย แถมยังเข้าถึงง่ายไม่วุ่นวาย ปัจจุบันมีให้เลือกลงทุนอยู่มากมาย


ตัวอย่างการลงทุนสำหรับผู้เริ่มต้น

1.พันธบัตรรัฐบาล

คือ ทางเลือกการลงทุน ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยรัฐจะจ่ายผลตอบแทนคืนเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นในกำหนดเวลาและจำนวนเงินที่แน่นอนตามสัญญา เหมือนการที่รัฐขอกู้ยืมเงินจากประชาชนหลายๆ คน เพื่อนำเงินไปใช้กิจกรรมต่างๆ ของประเทศ โดยเสมือนมี “พันธบัตรรัฐบาล” เป็นสัญญาที่ระบุเงื่อนไขการกู้ยืมนั้นไว้

เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.3%ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน (ปีละ 4 ครั้ง) ที่เคยมีการเสนอช่วง ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา หากผู้ลงทุนจองซื้อไป 1,000 บาท หลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วจะได้ดอกเบี้ยครั้งละ 4.89 บาท (= 1,000 บาท x 2.3%ต่อปี x (1 – 15%) ÷ ปีละ 4 ครั้ง) รวม 12 ครั้ง ตลอดอายุ 3 ปี โดยเมื่อครบอายุ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ยงวดสุดท้าย

ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาล สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยและเงินคืนตามสัญญาอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ออกเป็นหน่วยงานรัฐ จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้หรือจ่ายคืนล่าช้า เพียงแต่ต้องถือพันธบัตรนั้นไว้จนครบอายุไม่สามารถขอเงินต้นคืนได้ก่อนครบอายุ เพื่อแลกกับดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร

พันธบัตรรัฐบาล 

2.หุ้นกู้เอกชน

คือ ทางเลือกการลงทุน ที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการทั่วไป โดยผู้ถือจะได้รับดอกเบี้ยและเงินคืนตามสัญญา คล้ายกับตัวอย่างพันธบัตรรัฐบาล เช่น หุ้นกู้ดิจิทัล ซีพี ออลล์ รุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.25%ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง) ที่เคยมีเสนอช่วง พ.ค. 65 หากผู้ลงทุนจองซื้อไป 1,000 บาท หลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วจะได้ดอกเบี้ยครั้งละ 13.81 บาท (= 1,000 บาท x 3.25%ต่อปี x (1 – 15%) ÷ ปีละ 2 ครั้ง) รวม 10 ครั้ง ตลอดอายุ 5 ปี โดยเมื่อครบอายุ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ยงวดสุดท้าย

สำหรับพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุใกล้เคียงกับ หุ้นกู้เอกชนมักให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า เนื่องจากผู้ลงทุนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้หรือบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น ว่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นตามสัญญาได้หรือไม่ เพราะบางบริษัทที่ออกหุ้นกู้อาจกำลังเผชิญสถานการณ์ขาดทุนหรือไม่สามารถจัดหาเงินสดมาจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ทันตามสัญญา อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนจะพอทราบความเสี่ยงนี้ในหุ้นกู้เอกชนแต่ละรุ่นที่ออกมา ได้จาก “อันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating)” โดยอันดับที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่สุด มีความเสี่ยงที่จะจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนไม่ได้ต่ำที่สุด คือ ระดับ AAA รองลงมาคือ AA, A และ BBB ตามลำดับ ดังนั้น credit rating จึงเป็นสิ่งที่ต่างไปจากพันธบัตรรัฐบาล ที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณาเพิ่มก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนหุ้นกู้เอกชน

3.กองทุน Term Fund

คือ ทางเลือกการลงทุน รูปแบบกองทุนรวมที่มีกำหนดอายุโครงการ เช่น ประมาณ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ซึ่งเมื่อครบอายุโครงการกองทุนจะคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประมาณการไว้ตั้งแต่วันที่ออกกองทุน เช่น Term Fund อายุ 6 เดือน ประมาณการผลตอบแทน 1.2%ต่อปี (ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย) หากผู้ลงทุนจองซื้อไป 1,000 บาท เมื่อครบ 6 เดือน (โดยประมาณ) โดยทั่วไปผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 6 บาท (= 1,000 บาท x 1.2%ต่อปี ÷ 2) พร้อมกับเงินต้นที่ได้ลงทุนไป

การลงทุน

อย่างไรก็ตาม Term Fund อาจมีโอกาสให้ผลตอบแทนต่างจากที่ประมาณการไว้หรือเมื่อครบอายุโครงการอาจได้รับเงินคืนน้อยกว่าเงินต้นที่ลงทุนไปได้ เช่น Term Fund มีการลงทุนในหุ้นกู้ที่มี credit rating ต่ำ และมีเหตุให้หุ้นกู้เหล่านั้นให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนสามารถพิจารณาความเสี่ยงนี้ได้จาก

(1) กองทุนนี้มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนต่างๆ สัดส่วนเท่าไร หากมีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มี credit rating ต่ำ ในสัดส่วนที่สูง ก็ถือว่าเป็น Term Fund ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า Term Fund อื่นที่เน้นลงทุนพันธบัตรเท่านั้น

(2) กองทุนนี้มีระดับความเสี่ยงเท่าไร ยิ่งเลขน้อยความเสี่ยงยิ่งต่ำ ซึ่งโดยปกติ Term Fund ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีความเสี่ยงระดับ 3 ส่วน Term Fund ที่เน้นลงทุนหุ้นกู้ credit rating สูง จะมีความเสี่ยงระดับ 4 แต่หาก Term Fund ใดมีระดับความสูงกว่านี้ ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงมากกว่า Term Fund ทั่วไป

 

4.กองทุนเปิด

นอกจาก Term Fund แล้ว ยังมีกองทุนรวมประเภทอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถเลือกเริ่มลงทุนได้ตามความเสี่ยงหรือระยะเวลาการลงทุนที่ตั้งใจ เช่น

   - กองทุนตราสารหนี้ ที่เหมาะกับระยะเวลาการลงทุนสั้นๆ หลักสัปดาห์ ไปจนถึงนาน 1-2 ปี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เพราะเน้นลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ซึ่งโดยปกติราคาหรือมูลค่ากองทุนอาจมีขึ้นลงให้เห็นได้ แต่หากถือไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละกองทุน ราคาก็มักเห็นเป็นกำไรได้

   - กองทุนผสม ที่เหมาะกับระยะเวลาการลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง เพราะนอกจากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนแล้ว ยังมีการลงทุนในหุ้นสามัญและสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย ราคาหรือมูลค่ากองทุนจึงขึ้นลงได้แรงกว่ากองทุนตราสารหนี้ แต่โดยปกติหากถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กองทุนเหล่านี้มักให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้

กองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมผสม แม้ผู้ลงทุนจะไม่ทราบผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเหมือนกับพันธบัตร หุ้นกู้ และ Term Fund แต่มีข้อดีตรงที่ส่วนใหญ่สามารถขายคืนได้ทุกวันทำการและรอ 1-2 วันทำการ ก็ได้เงินตามมูลค่าที่ขายคืน จึงเป็นทางเลือกที่มีความคล่องตัวสูง ไม่ต้องถือจนครบอายุเหมือนทางเลือกอื่นที่ยกตัวอย่างมา

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากเริ่มลงทุนหนึ่งในทางเลือกที่เล่ามา สามารถลงทุนผ่านช่องทางของธนาคารที่ตนเองใช้บริการอยู่ได้ ทั้งสาขาและ Mobile Banking หรือใครที่มีแอปยอดฮิตอย่างแอปเป๋าตัง ที่นอกจากใช้เสี่ยงดวงด้วยการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้แล้ว ยังสามารถจองซื้อพันธบัตรวอลเล็ตหรือหุ้นกู้ดิจิทัลได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีทยอยให้ลงทุนได้บ้างแล้ว

การลงทุนไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว แต่กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เริ่มต้นได้ง่ายและทันที เพียงหยิบโทรศัพท์ที่มีแอปต่างๆ ที่เล่ามา ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ทันที เงินเก็บที่มีก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ยังฝากกัน

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT