การเงิน

ถูกรางวัลที่ 1 งวดนี้ จะต้องเสียภาษีกี่บาทกันนะ?

1 ก.ย. 65
ถูกรางวัลที่ 1 งวดนี้ จะต้องเสียภาษีกี่บาทกันนะ?

“ยินดีด้วยครับ คุณถูกรางวัลที่ 1 งวดนี้” ถ้าหากได้ยินคำนี้ขึ้นมาจริง ๆ เราจะรู้สึกยังไง ผมว่าหลายคนคงวางแผนบริหารจัดการเงินกันชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทำตามความฝัน ใช้จ่ายต่าง ๆ หรือลงทุนต่อเพื่อให้เงินงอกเงยต่อไป 

เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งดีใจครับ! เพราะยังไม่ได้ถูกงวดนี้ (ไว้งวดหน้าค่อยว่ากันอีกที ฮ่าๆ) แต่สิ่งที่เราเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ได้ คือ การวางแผนภาษีไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะศึกษาหาความรู้ในประเด็นที่ว่า ถ้าเราถูกรางวัลที่ 1 จะต้องเสียภาษีไหม และ เสียเท่าไรกันนะ” 

สำหรับบทความนี้ ขออนุญาตเล่าสู่กันฟังในส่วนของลอตเตอรี่ หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ออกโดยรัฐบาลหรือ กองสลากที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้นนะครับโดยผู้ที่ต้องการจะขายต้องขออนุญาตจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อนครับ


สำหรับรางวัลที่ออกทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนนั้น มีรายละเอียดตามนี้ครับ 

รางวัลล็อตเตอรี่

โดยรางวัลก็จะมีตั้งแต่สูงสุด 6 ล้านบาท สำหรับรางวัลที่ 1 ไปจนถึงเลขท้าย 2 ตัว จำนวน 2,000 บาทครับ และตอนนี้ไม่ได้มีแค่สลากกินแบ่งรัฐบาลที่เป็นกระดาษอย่างเดียวครับ แต่ยังมีสลากตัวใหม่ คือ สลากดิจิทัล ซึ่งเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถูกสแกนและแปลงเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ซื้อ-ขายแบบออนไลน์ผ่านแอปฯ เป๋าตังได้สะดวกมากยิ่งขึ้นครับ (ว่ากันว่าขายดีมาก) ซึ่งข้อดีหลัก ๆ สำหรับคนที่ซื้อสลากดิจิทัลก็คือ ไม่ต้องลุ้น ซื้อสลากได้ในราคา 80 บาทอย่างแน่นอนครับ 

แหม่… ลากมาซะยาวแบบนี้ จนใครหลายคนเกือบจะซื้อสลากไปแล้ว เรากลับมาว่ากันที่เรื่องของภาษีกันบ้างครับ สำหรับคนที่สงสัยว่า ถ้าหากถูกรางวัลแล้ว จะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ผมสรุปออกมาตามนี้ครับ โดยแยกเป็นสลากสองประเภทครับ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล และ สลากการกุศล 


กรณีถูกรางวัล สลากกินแบ่งรัฐบาล เราไม่ต้องเสียภาษีจากเงินรางวัล แต่ต้องเสียค่า "อากรแสตมป์" ในอัตรา 0.5% ของเงินรางวัลที่ได้รับแทนครับ (หรือเสีย 1 บาท จากรางวัลของเงินรางวัลทุก 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท) 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 6 ล้านบาท เราต้องเสียอากรทั้งหมด 30,000 บาท โดยเราจะได้เงินสุทธิจำนวน 5,970,000 บาทครับ

อย่างไรก็ดี เร็ว ๆ นี้น่าจะได้เห็นการกลับมาของสลากอีกตัวหนึ่งครับ นั่นคือ สลากการกุศล ซึ่งจะแตกต่างจากสลากกินแบ่งตรงที่ เมื่อเราถูกรางวัล เราจะถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 1% ของเงินรางวัลที่ได้รับครับ แต่ไม่ต้องเสียอากรสแตมป์ครับผม ซึ่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ครม.เห็นชอบให้มีการ "ออกสลากการกุศล" ไม่เกินงวดละ 11 ล้านฉบับ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากโครงการ "สลากการกุศล" จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 8,239.93 ล้านบาทครับ

ดังนั้น ในกรณีของสลากการกุศล ถ้าหากเราถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 6 ล้านบาท เราต้องภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 60,000 บาท โดยเราจะได้เงินสุทธิจำนวน 5,940,000 บาทครับ

แต่ภาษีทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ จ่ายแล้วจบได้ทันทีครับ เพราะถ้าหากเราถูกรางวัลส่วนนี้ เงินรางวัลที่ได้นั้นไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกรอบหนึ่งแล้วครับ เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนตามนี้ครับ 

  • มาตรา 42 (11) รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสินของรัฐบาล รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขัน ซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน หรือสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิด 

  • ส่วนฝั่งของสลากการกุศลนั้น ถึงแม้จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% แต่เงินได้ส่วนนี้ก็ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเช่นกันครับ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 5 จตุทศ กฤษฏีกา ฉบับที่ 10 ครับ 

ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1

ทีนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องรู้อีกเรื่องหนึ่งสำหรับคนที่ซื้อสลากในรูปแบบดิจิทัล นั่นคือ เรื่องของค่าธรรมเนียมในการขึ้นรางวัลครับ โดยเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 1% ในกรณีเลือกรับโดยการโอนเงิน (โอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้กับแอปฯ เป๋าตัง) ดังนั้นถ้ารับโอนรางวัลผ่านระบบออนไลน์เข้าบัญชี รางวัลตรงนี้ก็จะลดลงไปอีก 1% เลยนะครับ 

แต่เท่าที่ทราบ มีผู้ให้บริการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเจ้าหนึ่งรับผิดชอบทั้งค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับลูกค้าทั้งหมดด้วยนะครับ อันนี้ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันด้วยนะครับผม (ฺฮ่าๆ) 

มาถึงตรงนี้เราได้เรียนรู้กับภาษีกันไปหมดแล้วครับว่า ถูกรางวัลที่ 1 งวดนี้ต้องเสียภาษีกันกี่บาท เสียค่าธรรมเนียมยังไง วางแผนแบบไหนดี แต่เชื่อว่าหลายท่านคงแอบคิดในใจเหมือนกับผมว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องภาษีที่ต้องเสียหรอก มันอยู่ที่การถูกรางวัลต่างหาก  จริงไหมล่ะครับ :)

.

คลิปสรุปโอกาสถูกล็อตเตอรี่มีมากน้อยแค่ไหน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT