การเงิน

5 เทคนิคใช้บัตรเครดิต ยังไง? ให้มีแต่ได้

15 เม.ย. 65
5 เทคนิคใช้บัตรเครดิต ยังไง? ให้มีแต่ได้
ไฮไลท์ Highlight
บัตรเครดิต หากเลือกใช้ให้เป็น สอดคล้องไลฟ์สไตล์และความต้องการของแต่ละคน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่ำกว่าทางเลือกอื่น มีโอกาสนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงย และช่วยให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยลองเอาไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กันนะครับ

5 เทคนิคใช้บัตรเครดิต ยังไง? ให้มีแต่ได้

 

ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

นักวางแผนการเงิน CFP

 

 

บัตรเครดิต สิ่งอำนวยความสะดวกยอดฮิตของใครหลายคน ที่ไม่เพียงแต่ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากเพื่อไว้ใช้จ่ายแล้ว หากเลือกใช้ให้เป็นก็ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าหรือลดค่าใช้จ่ายลงได้ และเพื่อให้สามารถใช้บัตรเครดิตได้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสิ่งที่ผู้ใช้บัตรเครดิตควรรู้ ดังนี้

 

1.ยิ่งใช้ ยิ่งสะสมคะแนน แลกเงินคืน

 

โดยปกติยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทุก 25 บาท จะได้รับ 1 คะแนน เพื่อสะสมไว้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการ รวมถึงแลกเป็นเงินคืนเข้าบัตรเครดิตเพื่อหักลบกับยอดที่ได้ใช้จ่ายไป เช่น 1,000 คะแนน แลกเป็นเงินคืนได้ 100 บาท เป็นต้น ทุกการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จึงเสมือนได้รับเงินคืน 0.4%ของยอดใช้จ่าย ดังนั้นยิ่งเปลี่ยนการใช้จ่ายเงินสดเป็นใช้บัตรเครดิตได้มากเท่าไร เงินคืนที่ได้รับก็ยิ่งมากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท จะเสมือนได้รับเงินคืน 40 บาท หรือคิดเป็นปีละ 480 บาท แต่หากมีค่าใช้จ่ายกว่านี้หรือให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนหันมาใช้บัตรเครดิตมากขึ้นเงินคืนก็ยิ่งสูงขึ้นตาม เช่นใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท จะเสมือนได้เงินคืน 200 บาท หรือคิดเป็นปีละ 2,400 บาท โดยยังไม่รวมกับโปรโมชันหรือผลประโยชน์อื่น หากเลือกใช้บัตรเครดิตได้อย่างเหมาะสมด้วย

 

 

2.เลือกผูกแพลตฟอร์มที่คุ้มค่า

 

ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่หลายคนนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ หรือแม้แต่การชำระเงินตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าตามแหล่งชุมชนก็ชำระกันด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดกันแล้ว ซึ่งหากการชำระสินค้าและบริการนั้นสามารถทำได้ด้วยแพลตฟอร์มที่ผูกกับบัตรเครดิตด้วยแล้ว นอกจากได้สะสมคะแนนบัตรเครดิตแล้ว ยังอาจได้โปรโมชันหรือสิทธิประโยชน์เพิ่มด้วย สิทธิประโยชน์ของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยการผูกกับแพลตฟอร์มนั้นมีอยู่มากมาย

 

ตัวอย่างเช่น ส่วนลดหรือโค้ดส่วนลดเมื่อใช้จ่ายตามเงื่อนไข เงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตเมื่อสะสมยอดการใช้จ่ายถึงเกณฑ์ที่กำหนด รวมไปการได้คะแนนสะสมในแพลตฟอร์มนั้นๆ เพื่อเป็นส่วนลดในการใช้จ่ายครั้งถัดไปด้วย โดยโปรโมชันที่ว่ามีทั้งแบบให้กับลูกค้าใหม่ที่สมัครหรือผูกบัตรเครดิตครั้งแรก หรือแบบให้กับลูกค้าปัจจุบันที่โปรโมชันมักเปลี่ยนแปลงได้ทุกเดือน ดังนั้นหากผู้ใช้บัตรเครดิตหมั่นติดตามและเลือกใช้โปรโมชันได้เหมาะก็ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ไม่น้อย

 

เทคนิคการใช้บัตรเครดิต

 

 

3.เลือกใช้บัตร ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์

 

บัตรเครดิตบางประเภทถูกออกแบบมาเพื่อรองรับบางไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะบัตรเครดิตแบบ Co-Branding เช่น บัตรที่ให้ส่วนลด 5%-10% เมื่อใช้จ่ายกับไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือโรงพยาบาลที่กำหนด บัตรที่ให้สิทธิดูภาพยนต์ฟรีทุกเดือน บัตรที่มีสิทธิใช้บริการห้องรับรองในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหรือสนามบิน เป็นต้น

 

สิทธิต่างๆ เหล่านี้ นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายทางตรงจากส่วนลดและของแถมแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมด้วย

ตัวอย่างเช่น ใช้บริการห้องรับรองเพื่อพักผ่อนแต่ละครั้ง ย่อมช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหารหรือเครื่องดื่มตามร้านอาหาร เป็นต้น

 

เทคนิคการใช้บัตรเครดิต 


4.ต่อยอดเงิน ช่วงปลอดดอกเบี้ย

 

การรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายตามร้านค้า หรือชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระค่าบัตรหากสามารถชำระคืนได้เต็มจำนวน จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยใดๆ หรือมักเรียกว่าระยะปลอดดอกเบี้ย ซึ่งบัตรเครดิตส่วนใหญ่มีระยะปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 45-55 วัน ขึ้นกับสถาบันการเงิน วันที่ใช้บัตร และวันสรุปยอดบัญชี ฯลฯ จึงเสมือนเป็นการนำเงินของสถาบันการเงินมาใช้จ่ายก่อนแล้วค่อยชำระคืนภายหลังโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งในระหว่างนั้นหากมีการกันเงินที่ต้องชำระคืนไว้บัญชีที่ให้ผลตอบแทนมากพอ ก็ช่วยให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นได้

 

ตัวอย่างเช่น มีการใช้จ่ายบัตรเครดิตแต่ละวัน รวมกันเดือนละ 10,000 บาท โดยมีระยะปลอดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 วัน ดังนั้นหากกันเงิน 10,000 บาท ไว้ในเงินฝาก e-Savings ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ให้อัตราดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี (สูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป 6-12 เท่า) ดอกเบี้ยรวมที่ได้รับทั้งปีอยู่ 150 บาท และยิ่งมีการใช้จ่ายมากขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับก็ยิ่งสูงขึ้น เช่น การใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท ดอกเบี้ยรวมที่ได้รับทั้งปีอยู่ 750 บาท เป็นต้น

 

 

5.ตัวช่วยยามร้อนเงิน

 

สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้เงินสดเร่งด่วน ทางเลือกแรกที่หลายนึกถึง คือ กดเงินสดจากบัตรกดเงินสดที่ตู้ ATM ของธนาคาร เพราะมักไม่มีค่าธรรมเนียมเบิกถอน ในขณะที่การกดเงินจากบัตรเครดิตจะมีค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด 3%ของยอดเบิกถอน แต่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของทุกสถาบันการเงินปัจจุบันอยู่ที่ 16%ต่อปี ส่วนบัตรกดเงินสดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 18%-25%ต่อปี

 

สมมติ จำเป็นต้องใช้เงิน 100,000 บาท โดยมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ กดเงินจาก (1) บัตรเครดิต ดอกเบี้ย 16%ต่อปี ค่าธรรมเนียมเบิกถอน 3% และ (2) บัตรกดเงินสด ดอกเบี้ย 25%ต่อปี ไม่มีค่าธรรมเนียมเบิกถอน หากทยอยชำระคืนเดือนละ 5,000 บาทเท่ากันทุกเดือน (เท่ากับยอดชำระขั้นต่ำงวดแรก ที่ 5%ของยอดคงค้าง) พบว่า

   - หากตั้งใจชำระคืนให้หมดภายใน 4 เดือน ควรเลือกใช้ "บัตรกดเงินสด" ที่มีต้นทุนรวม (ดอกเบี้ย) 7,964 บาท ซึ่งต่ำกว่าการใช้บัตรเครดิตที่มีต้นทุนรวม (ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม) 8,159 บาท

   -  แต่หากตั้งใจชำระคืนให้หมดเกิน 4 เดือน เช่น 12 เดือน วรเลือกใช้ "บัตรเครดิต" เพราะมีต้นทุนรวม (ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม) 16,096 บาท ซึ่งต่ำกว่าการใช้บัตรกดเงินสดที่มีต้นทุนรวม (ดอกเบี้ย) 20,698 บาท


 เทคนิคการใช้บัตรเครดิต

 

บัตรเครดิต หากเลือกใช้ให้เป็น สอดคล้องไลฟ์สไตล์และความต้องการของแต่ละคน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่ำกว่าทางเลือกอื่น มีโอกาสนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงย และช่วยให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยลองเอาไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กันนะครับ

 

 

 

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT