การเงิน

ย้อน 3 เหตุการณ์สะเทือนหุ้นไทยปี 66 ร่วงกว่า 15% ต่างชาติขายสุทธิเกือบ 2 แสนล้านบาท

29 ธ.ค. 66
ย้อน 3 เหตุการณ์สะเทือนหุ้นไทยปี 66 ร่วงกว่า 15% ต่างชาติขายสุทธิเกือบ 2 แสนล้านบาท

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับวันเทรดสุดท้ายของปี 2023 สำหรับใครที่เป็นนักลงทุน หรือติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยอยู่คงจะโล่งใจที่เห็นว่าดัชนีหุ้นไทยยังปิดบวกและยืนเหนือ 1,400 จุดได้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2023 หลังจากดิ่งลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ 1,354.73 จุดในช่วงประมาณกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แต่เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากของตลาดหุ้นไทย เพราะถ้าหากมองในภาพรวมทั้งปี ดัชนี SET นั้น ลดลงถึง 15.15% จากช่วงสิ้นปี 2022 ซึ่งปิดที่ 1,668.66 จุด มาอยู่ที่เพียง 1,415.85 จุด ในช่วงสิ้นปี 2023 ส่วนทางกับตลาดหุ้นใหญ่อื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียที่ปิดสิ้นปีในแดนบวกทั้งหมด 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ได้ประเมินว่า ปีนี้ตลาดหุ้นไทยเจอปัจจัยกดดันมากมาย ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ รวมถึง สถานการณ์การเมืองในประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบาย Digital Wallet ประเด็นความตึงเครียดในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจในประเทศเพราะนักท่องเที่ยวกลับมาไม่ตามเป้า

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในศักยภาพในการสร้างรายได้และกำไรของบริษัทไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เทขายหุ้นไทยออกไปเป็นจำนวนมากในปีนี้ 

โดยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2023 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิถึง 192,489.94 ล้านบาท และย้ายการลงทุนไปตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้แรงส่งจากหุ้นเทคโนโลยีในกลุ่มชิปและอีวี

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังเจอเหตุการณ์มากมายที่เข้ามาสะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งกรณีโกงหุ้น MORE ที่ลากยาวมาจากปี 2022 กรณีหุ้น STARK ที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งนักลงทุนรายย่อย สถาบัน และธนาคารใหญ่ และเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้าที่เข้ามาซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ในช่วงสิ้นปีนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนผู้อ่านย้อนดู 3 เหตุการณ์สะเทือนตลาดหุ้นไทยในปีนี้กันว่าให้บทเรียนอะไร สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และในปีหน้าหุ้นไทยจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใดได้บ้าง

มหากาพย์หุ้น MORE อาศัยช่องโหว่ปล้นเงินโบรกเกอร์

ปรากฎการณ์หุ้น MORE ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นมหากาพย์การฉ้อโกงครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นไทยที่สะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการอาศัยช่องโหว่ในการกำกับดูแล เพื่อฉ้อโกงเอาเงินจากบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ ทำให้ในช่วงแรกที่มีข่าวเหตุการณ์นี้ออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว โบรกเกอร์ผู้เสียหายทั้ง 11 ยังไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ในช่วงเวลาดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ หรือ ‘ปั่นหุ้น’ มูลค่าความเสียหาย 800 ล้านบาท และกรณีการฉ้อโกงมูลค่าความเสียหาย 4,000 ล้านบาท 

ในกรณีนี้ ผู้กระทำผิดได้ร่วมกันฉ้อโกงเงินจากโบรกเกอร์โดยการร่วมมือกันซื้อขายหุ้น MORE จำนวน 1,531.77 ล้านหุ้น มูลค่าราว 4,500 พันล้านบาท โดยฝั่งผู้ซื้อคือ ‘นายอภิมุข บำรุงวงศ์’ ได้กู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์ 11 แห่งเพื่อไปซื้อหุ้น MORE จำนวนดังกล่าว และได้มีการวางสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นหุ้นมูลค่าประมาณ 1,500 บาท ไว้กับโบรกเกอร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจับคู่ซื้อขายกันเสร็จสิ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปี 2022 นายอภิมุขกลับบอกว่า ตัวเองไม่มีเงินจ่ายเงินค่าหุ้น MORE ที่ซื้อมา และปล่อยให้โบรกเกอร์ยึดสินทรัพย์ค้ำประกันไปโดยไม่จ่ายเพิ่ม ทำให้โบรกเกอร์ทั้ง 11 แห่งเดือดร้อน เพราะต้องควักเนื้อตัวเองจ่ายเงินให้กับฝั่งผู้ขายทั้งที่ไม่ได้เงินจากฝั่งผู้ซื้อ 

แม้มองเผินๆ นี่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทของฝั่งโบรกเกอร์เองที่ให้นักลงทุนกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นโดยไม่พิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ การซื้อขายในครั้งนี้มีความผิดปกติหลายประการ ทั้งการที่มีผู้ซื้อคนเดียวไล่กว้านซื้อหุ้นมูลค่าหลายพันล้านของบริษัทเล็กๆ บริษัทเดียว และการที่มีผู้เสนอขายหุ้นจำนวนมากในเวลาเดียวกับที่มีผู้ต้องการซื้อพอดี

ความผิดปกติเหล่านี้นำไปสู่การสืบสวนสอบสวนจนพบว่า มีการสมรู้ร่วมคิดเพื่อฉ้อโกงเงินจากโบรกเกอร์จริง โดยล่าสุด DSI ได้ออกหมายเรียก 'ว่าที่ผู้ต้องหา' จำนวน 28 ราย เข้ามาให้การตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค., แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดรวม 10 ราย จากทั้งหมด 32 ราย และได้มีการส่งข้อมูลทรัพย์สินให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการอายัดบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว 34 รายการ รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

กรณีหุ้น MORE จึงสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ด้านการกำกับดูแลใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดร่วมมือกับโกงเงินจากโบรกเกอร์ได้ด้วยการซื้อขายหุ้น โดยไม่มีระบบตรวจสอบหรือระงับธุรกรรมดังกล่าวทั้งที่เป็นการซื้อขายที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดทั้งในแง่ปริมาณ และจังหวะเวลา

 

หุ้น STARK มหากาพย์ตกแต่งบัญชีหลอกนักลงทุน

ในขณะที่กรณีหุ้น MORE ยังไม่จบ เดือนมิถุนาคมก็เกิดข่าวใหญ่ในตลาดหุ้นไทยที่สะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกครั้ง เมื่อ STARK อดีตบริษัทจดทะเบียนใหญ่ที่ทำธุรกิจสายไฟฟ้าและเคเบิ้ล ขาดส่งงบการเงินตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2023 จนถูกตลาดหลักทรัพย์ระงับการซื้อขาย ก่อนคณะกรรมการของบริษัทกว่า 10 คนจะทยอยแจ้งลาออก และเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รวมมูลค่า 9,198.40 ล้านบาท ทำราคาหุ้นดิ่ง 99.2% จาก 3.06 บาทเหลือ 0.02 บาท ทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เสียหายเป็นจำนวนมาก

จากการสืบสวน พบว่า STARK ได้ตกแต่งงบการเงินของบริษัทมานานหลายปีตั้งแต่ก่อนปี 2021 ด้วยการสร้างยอดขายปลอม ใช้บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิกดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดเข้ามาซื้อของแต่ไม่จ่ายเงิน ทำให้มีบันทึกว่าบริษัทมีรายได้ในส่วนของลูกหนี้การค้าแม้จะไม่ได้เงินจริง

นอกจากนี้ ยังมีการทำรายจ่ายปลอมและการจ่ายภาษีปลอมเพื่อกลบเกลื่อนการสร้างรายได้ปลอม ด้วยการเข้าไปซื้อของจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิกดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (ทำให้มีเงินไหลออกไปจากบริษัท) ทำให้บริษัทดังกล่าวสามารถนำเงินบางส่วนมาหมุนเพื่อซื้อของจาก STARK วนไปได้อีก

การตกแต่งบัญชีในลักษณะนี้ทำให้งบการเงินของบริษัทที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท เพราะทำให้บริษัทมีรายได้มากเกินจริง และดูเหมือนมีกำไรทั้งที่ขาดทุน ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบบัญชีใหม่เพื่อแก้ไขงบการเงินให้ตรงกับความเป็นจริง ในปี 2021-2022 บริษัท STARK นั้นขาดทุนมากถึง 12,340 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ระบุในงบการเงินว่ามีกำไร

กรณี STARK ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย ทั้งนักลงทุนรายย่อยรายใหญ่ที่ถือหุ้นของ STARK อยู่ บริษัทที่ทำธุรกิจกับ STARK ผู้ที่ถือหุ้นกู้ของ STARK และธนาคารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ STARK และทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพในการตรวจสอบความถูกต้องของงบการเงินของทั้งบริษัทออดิท ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลระยะยาว เพราะนักลงทุนต้องยึดงบการเงินเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในกรณีการทุจริตใน บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ว่า คณะพนักงานสอบสวนฯ ได้ดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลรวมจำนวน 157 ราย สอบปากคำผู้กล่าวโทษ จำนวน 5 ราย และมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา จำนวน 11 ราย ทั้งที่เป็นบุคคลและนิติบุคคล ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

นอกจากนี้ ดีเอสไอได้ออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 1 ราย คือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ซึ่งหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ โดยดีเอสไอมีการประสานงานไปยังหน่วยบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศผ่านอัยการต่างประเทศ เพื่อติดตามจับกุมตัวนายชนินทร์มาดำเนินคดีตามกฎหมาย 

DSI เผยว่ากรณีการทุจริตใน STARK นั้น มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย และมีมูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท

ในส่วนการดำเนินการกับผู้สอบบัญชีของ ‘ดีลอยท์’ นั้น ขณะนี้ DSI อยู่ระหว่างรอฟังผลจากสภาวิชาชีพบัญชีฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ DSI ได้ทำหนังสือไปยังสภาวิชาชีพบัญชีฯ โดยขอให้สภาฯตอบมาว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีมีการดำเนินการตามมาตรฐานบัญชีหรือไม่ อย่างไร หากสภาฯ ตอบว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานบัญชี DSI ก็สามารถดำเนินคดีในส่วนนี้ได้

 

ก.ล.ต. ตลท. จ่อออกเกณฑ์ Auto Halt ระงับการซื้อขายผิดปกติ

เหตุการณ์เขย่าตลาดหุ้นสองเหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  ต้องเร่งปรับเปลี่ยนการกำกับดูแล พร้อมทั้งออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อเสริมให้การซื้อขายบนตลาดหุ้นไทยมีความปลอดภัยมากยิ่ง 

โดยล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับตลท. เพื่อศึกษาออกเกณฑ์ Auto Halt หรือการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ในหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยจะดูตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนเปิดตลาดไปจนถึงเวลาปิด (ATC) ว่าการซื้อขายหุ้นนั้นมีแนวโน้มจะเป็นการซื้อขายที่ผิดปกติ เช่น มีปริมาณสั่งซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ หรือไม่ เพื่อให้โบรกเกอร์มีเวลาตรวจสอบ และป้องกันได้ทันท่วงที ไม่เหมือนในปัจจุบันที่หากมีการจับคู่ซื้อขายแล้วก็ทำได้ทันทีโดยไม่มีระบบตรวจสอบหรือเตือน และคาดว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์และนำมาปฏิบัติได้ภายในปี 2024

นอกจากนี้ จากกรณีหุ้น STARK ตลท. ยังมีแผนที่จะปรับเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Back-door Listing) ให้เข้มขึ้นเท่ากับการรับหุ้น IPO ทั้งในเรื่องการมีระบบควบคุมภายในที่รัดกุม การบริหารบริหารจัดการที่โปร่งใส และจะผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

 

ท่องเที่ยวไทยไม่ปังอย่างที่คาด เหตุยิงพารากอนซ้ำเติม

ทั้งนี้ นอกจากเหตุการณ์หุ้น MORE และ STARK แล้ว ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเป็นไปอย่างไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคส่วนการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา และเหตุการณ์กราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าพารากอน ที่สะเทือนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม โดยมีผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนชายอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนดัดแปลงก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 5 คน โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 34 ปี

หลังเกิดเหตุในวันที่ 3 ตุลาคม ดัชนีหุ้นไทยปิดร่วง 22.16 จุด หรือ 1.51% จาก 1,469.46 จุดในวันก่อนหน้า มาปิดที่ 1,447.3 จุด สะท้อนว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะมองว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้นักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยวไทยน้อยลงเพราะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย 

โดยจากตัวเลขนักท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2023 พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด 24,838,066 คน เป็นนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด 3,095,154 คน ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นมากจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2022 แต่ก็ยังห่างไกลจากสถิติที่เคยทำได้ในช่วงปี 2019 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 40 ล้านคน ทำให้มีการปรับประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2024 จาก 35-40 ล้านคน มาเหลือเพียง 30-35 ล้านคน

คาดการณ์ดอกเบี้ยขาลงหนุนหุ้นขึ้นปี 2024

บล.กสิกรไทย รายงานว่า หุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายปรับตัวขึ้นในภาพรวมโดยมีแรงหนุนจากคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2024 ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย. ของไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตลอดจนแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-5 ม.ค. 2024) บล. กสิกรไทย มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ1,380 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของยูโรโซน

ส่วน บล.ธนชาต มองว่า SET กําลังเริ่มปีใหม่ด้วย Valuation ที่ตํ่า และมักจะให้ผลตอบแทนตอบแทนเป็น “บวก” ในไตรมาสแรกของทุกปี โดยถ้าพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มหุ้นที่ธนชาตมองว่าจะให้ผลตอบแทนสูงในไตรมาสแรกของทุกปีได้แก่กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่มการเงิน, กลุ่มท่องเที่ยวกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งมีหุ้นพื้นฐานดีที่น่าสนใจ ดังนี้

กลุ่มโรงพยาบาล: BH CHG 

กลุ่มการเงิน: SCB (ปันผล 7% ต่อปี) TTB (ปันผล6% ต่อปี) MTC TIDLOR 

กลุ่มท่องเที่ยว: ERW CENTEL (High Season ปลายปีและผลดีค่าไฟลดลงแรง) 

กลุ่มค้าปลีก: COM7 (ผลบวก Easy e-Receipt) CPN 

กลุ่มอสังหาฯ: LH (มีรายได้จากโรงแรมขณะที่ปันผลสูง8%)

 

advertisement

SPOTLIGHT