อินไซต์เศรษฐกิจ

ย้อนรอยมหากาพย์ 'จำนำข้าว' สู่ข้าวค้างโกดัง 10 ปี เกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครมีเอี่ยว?

13 พ.ค. 67
ย้อนรอยมหากาพย์ 'จำนำข้าว' สู่ข้าวค้างโกดัง 10 ปี เกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครมีเอี่ยว?

คดีจำนำข้าวกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังองค์การคลังสินค้า (อคส.) เตรียมเปิดประมูลข้าวสารหอมมะลิ 15,000 ตันในล็อตสุดท้ายจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2557 กลางเดือนพ.ค.นี้ ทำให้เกิดภาพนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ พาผู้สื่อข่าวไปพิสูจน์คุณภาพข้าว พร้อมหุงข้าวอายุกว่า 10 ปีรับประทานโชว์

ข้าวสารหอมมะลิค้างโกดังดังกล่าวคือข้าวที่อยู่ในคลังข้าวกิตติชัย อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง อ.เมือง จ.สุรินทร์ และต้องผ่านการซาวน้ำถึง 15 ครั้งถึงจะนำไปหุงรับประทานได้ 

สภาพของข้าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อและประชาชน เพราะแม้รมว. พาณิชย์และเจ้าหน้าที่รับประทานไปแล้วจะยังไม่เป็นอะไร ข้าวเก่าค้างโกดังนานสิบปีนั้นก็ถูกรมยาฆ่ามอดมาหลายครั้งจนมีสีเหลือง และเสี่ยงที่จะมีสารเคมีตกค้าง นับเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสุดท้ายที่ตอกย้ำความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนไปย้อนรอยคดีจำนำข้าวกันว่าเป็นมาอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง และทำไมจึงยังสร้างปัญหามาจนถึงปัจจุบัน

 

โครงการจำนำข้าวคืออะไร? 

โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่รัฐบาลใช้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยการรับซื้อข้าวจากชาวนาในระดับราคาที่กำหนด ซึ่งเป็นการเพิ่มและประกันรายได้ของชาวนาได้ทางหนึ่ง และเป็นกลไกที่หลายรัฐบาลก่อนหน้าใช้มาก่อนแล้ว ไม่ได้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์

แต่โครงการจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์แตกต่างจากโครงการจำนำข้าวครั้งที่ผ่านมาเพราะเป็นการรับจำนำข้าวทุกเม็ดแบบไม่มีโควตา และรับซื้อในราคาที่สูงถึง 15,000-20,000 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาข้าวในตลาดขณะนั้นถึงประมาณ 50% 

จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ตั้งแต่ปี 2554-2557 รัฐบาลรับจำนำข้าวไปทั้งหมด 5 ครั้ง รวมปริมาณข้าว 54.35 ล้านตัน มูลค่าทั้งหมด 8.57 แสนล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด 9.85 แสนล้านบาท ส่วนมากเป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา

โดยในปี 2554 ที่เปิดรับจำนำข้าวครั้งแรก มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนโครงการกว่า 3.26 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวถึงประมาณ 59.78 ล้านไร่

 

ผลการดำเนินโครงการจำนำข้าวเป็นอย่างไร?

จากการรับซื้อข้าวในราคาสูง ชาวนาทั่วประเทศ (ทั้งผู้เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ) ได้รับผลประโยชน์ส่วนเกินไปทั้งหมดถึง 5.6 แสนล้านบาท แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกเป็นของชาวนารายกลางและรายใหญ่ ซึ่งอาศัยในเขตชลประทานของภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐต้องแบกรับต้นทุนในการซื้อข้าวที่สูง ท้ายที่สุดแล้วในเดือนเมษายนปี 2557 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการ โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการขาดทุนการคลังสูงถึง 5.39 แสนล้านบาท หรือเกือบ 53% ของค่าใช้จ่าย นี่ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ระบายข้าวในสต๊อกที่ในปี 2558 คิดเป็นจำนวนถึง 18 ล้านตัน

โดยจากการคาดการณ์ของ TDRI ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลชุดถัดมาจะต้องใช้ระบายข้าวในระยะเวลา 5-10 ปี จะทำให้รัฐบาลขาดทุนเพิ่มขึ้น 6.78 แสนล้านบาทและ 9.1 แสนล้านบาท ตามลำดับ และมีสิทธิที่ตัวเลขขาดทุนจะสูงขึ้นอีก เพราะข้าวที่เก็บไว้ส่วนมากไม่มีคุณภาพพอให้คนรับประทาน โดยจาก 18 ล้านตัน มีข้าวผ่านมาตรฐานเพียง 2.36 ล้านตัน เท่านั้น

artboard1_3

 

ทำไมรัฐบาลขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว?

ต้นตอของการขาดทุนจำนวนมหาศาลเกิดจากการรับจำนำข้าวในราคาสูง แต่ขายข้าวในราคาต่ำเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องซื้อข้าวในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของพรรค และการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์และผู้ค้าข้าว ที่ร่วมขายข้าวให้บริษัทพรรคพวกในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมาก ในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)

ในการทำโครงการจำนำข้าว รัฐบาลคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะสามารถกักตุนและส่งออกข้าวในราคาสูงได้ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่มีชื่อเสียงของโลก 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคิดผิด เพราะการซื้อข้าวในราคาที่สูงเกินควรจากชาวนาเป็นเสมือนการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งดันให้ราคาข้าวขาวของไทยสูงขึ้น ทำให้ข้าวไทยเสียศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาไปจนส่งออกข้าวได้น้อยลง ส่งผลให้ในปี 2555 ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้กับอินเดียและเวียดนาม

นอกจากนี้ ราคารับซื้อข้าวภายในประเทศยังทำให้เกิด ‘อุปทานปลอม’ ขึ้นในประเทศ เพราะเกษตรกรแห่ไปปลูกข้าวเพื่อขายให้กับรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาข้าวสารล้นคลัง ระบายไม่ทัน อีกทั้งถ้าจะขายก็ต้องขายในราคาขาดทุน เพราะผู้ซื้อทั่วโลกรู้ว่าไทยตุนข้าวสารไว้อยู่ อีกทั้งอินเดียยังสามารถผลิตข้าวได้มากขึ้นจนอุปทานล้น กดดันให้ราคาข้าวสารโลกต่ำลงไปอีก

จากการเก็บข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าว ในช่วงปี 2554-2559 ราคาข้าวขาว 5% ลดลงอย่างต่อเนื่องจากแรงกดดันด้านอุปทาน ในปี 2554 ราคาขายเฉลี่ยทั้งปีของข้าวขาว 5% อยู่ที่ 549.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่เมื่อถึงปี 2557 ราคาเฉลี่ยทั้งปีลงมาอยู่ที่ 422.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ก่อนจะลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 385.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2558 และ 394.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปี 2559

การทุจริต G2G ในการจำนำข้าวทำอย่างไร? ใครมีเอี่ยวบ้าง?

นอกจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดด้วยการบิดเบือนราคาข้าวในตลาดแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้กรณีจำนำข้าวมาโจมตีและบีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องออกจากอำนาจได้คือ กรณีทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ G2G ที่มีอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงคือ นาย ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนาย บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาเกี่ยวข้อง

จากการสืบสวนของป.ป.ช. พบว่า นายภูมิ นายบุญทรง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของเครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และพวก ได้ร่วมกันนำบริษัทกว่างตงและบริษัทห่ายหนาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน มาขอซื้อข้าว โดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และนำข้าวราคาต่ำนี้ไปให้นายอภิชาติขายเอากำไรภายในประเทศ ไม่ได้ส่งออกไปประเทศจีนแต่อย่างใด

จากข้อมูลของป.ป.ช. การร่วมกันทุจริตในครั้งนี้ ทำให้เกิดความเสียหายจากการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ถึง มิถุนายน 2556 ป.ป.ช. ยังพบว่าปริมาณการส่งมอบข้าวจากไทยไปยังจีนอยู่ที่เพียง 375,000 ตัน จากปริมาณที่ต้องส่งมอบตามสัญญา จำนวน 4.8 ล้านตัน ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด

จากกรณีทุจริตในครั้งนี้ ในเดือนสิงหาคมปี 2560 ศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกนายบุญทรงเป็นระยะเวลา 42 ปี และนายภูมิเป็นระยะเวลา 36 ปี รวมไปถึงสั่งพิพากษาจำคุกอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และปล่อยให้มีการทุจริต

 

รัฐบาลชุดถัดมาระบายข้าวอย่างไร?

หลังยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อดำเนินการระบายข้าวเหลือในโกดัง โดยในช่วงปลายปี 2560 รัฐบาลได้ออกมาประกาศว่าได้ระบายข้าวในคลังไปแล้วมากกว่า 50% โดยมีปริมาณข้าวทุกชนิดเหลือราว 2 แสนตัน ไม่รวมข้าวนอกคลังที่มีจำนวนไม่มาก

ในช่วงปี 2564 หน้าที่การขายข้าวเปลี่ยนไปอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งได้ดำเนินการระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เร่งประกาศระบายตั้งแต่ปี 2565 และส่งมอบเสร็จสิ้นแล้ว ยกเว้นข้าวตกค้างที่ส่งมอบไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะจากการยึดหน่วง คือข้าวหอมมะลิรวม 15,013 ตัน ใน 2 คลังในจ. สุรินทร์ มูลค่า 300 ล้านบาท ที่ผู้ชนะประมูลได้เมื่อปี 2563 ไม่มาชำระเงินก่อนรับมอบข้าว

นี่ทำให้ในปี 2567 อคส. ต้องเปิดประมูลข้าวล็อตดังกล่าวจากคลังข้าวกิตติชัย และ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง อีกครั้ง โดยจะออกประกาศ TOR กลางเดือนพ.ค.นี้ และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลราวต้นเดือน มิ.ย. 

ส่วนราคาขาย อคส. คาดว่าน่าจะได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 18 บาท มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท ซึ่งจะถูกนำส่งคืนคลัง และปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ทั้งหมด โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าผู้ซื้ออาจเป็นผู้ซื้อจากแอฟริกาที่สนใจข้าวเก่าของไทยเพราะมีราคาถูก โดยอาจถูกนำไปขายต่อในตลาดบริโภคหรือตลาดอาหารสัตว์

 

บทเรียนจากโครงการจำนำข้าว

จากข้อมูลที่ได้กล่าวถึงมา จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือการประเมินความต้องการข้าวในตลาดผิดไป เพราะข้าวเป็นสินค้าที่ผลิตได้ในหลายประเทศ ไม่ใช่สินค้าที่หาได้ในไม่กี่แหล่งเช่น น้ำมัน ทำให้การกักตุนสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ผล

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังไม่มีการกำหนดวงเงินในการรับจำนำข้าว และมีการกำหนดระดับราคาไว้สูงเกินควร ทำให้ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายทำให้รัฐบาลเสียหายหนักตามไปด้วย ถึงแม้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นก็ตาม

ดังนั้น รัฐบาลในอนาคตไม่ควรเน้นดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจประชาชนมากเกินไป ควรมีกรอบงบประมาณที่ชัดเจน และควรมีวินัยการคลัง โดยในการหาเสียงต้องมีการให้ข้อมูลและรายละเอียดชัดเจนว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ ที่มาของเงินทุนมาจากที่ไหน รวมไปถึงจะหารายได้ชดเชยได้อย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน

มิเช่นนั้น พรรคการเมืองก็จะเร่งออกนโยบายประชานิยมออกมาแบบไม่คิดหน้าคิดหลังก่อนเพื่อดึงเสียงประชาชน แล้วค่อยมาคิดหาวิธีหาเงินทุน และสร้างกรอบนโยบายทีหลังเหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

 

 

อ้างอิง: ThaiPBSTDRI 


advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT