อินไซต์เศรษฐกิจ

#แบนเกาหลี เมื่อโลกโซเชียลร้อนระอุ เปิดข้อสังเกต กรณีของ ’ผีน้อย’ ของตม.เกาหลีใต้

13 พ.ย. 66
#แบนเกาหลี เมื่อโลกโซเชียลร้อนระอุ เปิดข้อสังเกต กรณีของ ’ผีน้อย’ ของตม.เกาหลีใต้

istock-1471093998

เกาหลีใต้ หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิต ประเทศในฝันของใครหลายๆคน ประเทศที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ธรรมชาติทั้ง 4 ฤดู สวรรค์ของนักช็อปและนักกินตัวยงตามรอยศิลปิน-ดาราคนโปรดในดวงใจ  

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ เป็นที่รู้กันถึงความเข้มงวดของตม.และความโหดของห้องเย็น เพราะหากนักท่องเที่ยวติดเข้าไป เป็นอันต้องถูกส่งกลับประเทศเกือบทุกราย ถึงแม้ว่าเราจะมีการแผนการเดินทางที่อัดแน่น มีการจองโรงแรมแรมที่แพงระดับไหน มีเงินพกติดตัวไปมากเท่าไร หรือแม้เดินทางเข้า-ออกเกาหลีใต้หลายสิบครั้ง แต่หลักฐานเหล่านี้ก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาของตม.แดนกิมจิ

ยิ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสโต้กลับของชาวเน็ตกลับคุกรุ่นอีกครั้ง และตั้งคำถามถึงมาตรฐานการตรวจคนเข้าเมืองของตม.เกาหลีใต้ เนื่องจากมีการปฎิเสธการเข้าประเทศ จนเกิด #แบนเกาหลี ขึ้นใน X (Twitter) อย่างหนักหน่วง

ทีม SPOTLIGHT พาทุกคนมาค้นหาคำตอบทำไมถึงเกิดกระแส #แบนเกาหลี ไปจนถึงเปิดข้อชวนสงสัย ทำไมตม.เกาหลีถึงเพ่งเล็งคนไทยเป็นกรณีพิเศษ

istock-1171210256_1

#แบนเกาหลี

คนดังติดตม.เกาหลี

กระแส #แบนเกาหลี เกิดขึ้นหลังจาก “บิว วราภรณ์” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของไทยและ CEO แบรนด์เครื่องสำอางดัง ถูกปฎิเสธเข้าประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังถูก ตม.เกาหลีส่งเข้าห้องเย็นและส่งกลับประเทศไทยในเวลาต่อมา แม้ว่าเธอจะเดินทางเข้า-ออกประเทศเกาหลีใต้มาเกือบ 10 ครั้งแล้ว

แต่แท้จริงแล้ว บิว วราภรณ์ ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงจากประเทศไทยคนแรกที่ถูกตม.เกาหลีปฎิเสธ แต่ยังมีคนอื่นๆอีกมากมาย เช่น นุ่น - วรนุช ภิรมย์ภักดี, ดีเจนุ้ย, เกรท วรินทร หรือแม้กระทั่งแร็ปเปอร์สาวที่มีผลงานชื่อดังในเกาหลีใต้อย่าง มิลลิ

ทำให้ชาวเน็ตตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ตม.เกาหลี อย่างดุเดือดผ่าน #แบนเกาหลีใต้ เพราะแม้ตม.เกาหลีขึ้นชื่อเรื่องความโหด เพื่อสกัดกั้นแรงงานต่างดาวผิดกฎหมายเข้าประเทศ แต่การปฎิเสธบุคคลดังเหล่านี้กลับดูไม่ค่อยสมเหตุสักเท่าไร ถึงเป็นคำถามชวนสงสัย ว่า ตม.เกาหลีมีเกณฑ์คัดเลือกอย่างไร ลุกลามไปถึงเรื่องเชิงข้อสันนิษฐานว่านี่คือ การเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติหรือไม่

bbghscq_1

ส่องความเดือดชาวเน็ตไทยกับประเด็น #แบนเกาหลี

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน 2566 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่า มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวบนโลกโซเชียลมากกว่า 12,000 ข้อความ และกวาดเอ็นเกจเมนต์รวม 3.7 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เฉลี่ยมีเอ็นเกจเมนต์สูงถึง 300,000 เอ็นเกจเมนต์ต่อวัน โดยมาจากช่องทาง X เป็นหลัก คิดเป็น 90% และช่องทางอื่นๆ 10%  และเมื่อเจาะลึกถึงสถิติการพูดถึง พบว่า 75% เป็นผู้หญิง และถูกพูดถึงในช่วงวัย 18-24 ปีมากกว่า 50% เนื้อหาที่พูดถึงเกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นหลัก คือ

stat1_1

1.มาตรฐานการคัดเลือกคนของตม.

ประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นส่วนใหญ่คือ มาตรฐานการคัดเลือกคนเข้าประเทศของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศเกาหลี มีนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนโพสต์ว่าตนเองต้องการจะไปเที่ยวจริงๆ ทำแผนการท่องเที่ยวเรียบร้อย แต่ถูกตม.เพ่งเล็ง และไม่ฟังคำอธิบาย อีกทั้งยังตัดสินและส่งกลับประเทศ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากเรื่องการจัดการแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ควรเข้มงวดมากกว่านี้ และให้ศึกษาประเทศที่ให้ฟรีวีซ่าไทย เพราะไม่ได้ส่งคนไทยกลับเยอะขนาดนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการปฏิบัติตนต่อนักท่องเที่ยวไทยของตม.ทั้งพูดจาไม่ดีและหงุดหงิด มีเคสการถูกยึดโทรศัพท์และอ่านแชทส่วนตัวที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เคสถูกอดข้าวตลอด 24 ชั่วโมง ลงท้ายด้วยการเปรียบเทียบการไปท่องเที่ยวในประเทศใกล้ๆ อย่างญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่หากเลือกได้คงไปสองประเทศนี้แทน

p1_1

2.การเหยียดเชื้อชาติของคนเกาหลี

อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงบน X ที่ถูกพูดถึงคือเรื่อง การเหยียดเชื้อชาติ ชาว X มีมาแชร์ว่าบนพื้นที่โซเชียลของชาวเกาหลีเองมีการเหยียดคนไทยให้เห็นอยู่บ้าง โดยเหยียดตั้งแต่เรื่องภาพลักษณ์, สีผิว, LGBTQ​+, ลอกเลียนแบบวัฒนธรรมเกาหลี เช่น T-POP ที่เหมือน K-POP หรือหมูกระทะที่เลียนแบบหมูย่างเกาหลี ไปจนถึงมองว่าไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีหลายคนเข้าไปแสดงความไม่พอใจกับสิ่งนี้ พร้อมแนะนำให้เลิกสนับสนุนอุตสาหกรรมจากประเทศเกาหลีในทุกรูปแบบ

3.สงครามโซเชียลไทย VS เกาหลี

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวโซเชียลไทยคือ หากมีใครมารุกราน เราก็พร้อมสู้ และผนึกกำลังกันอย่างเป็นทีม เช่น “เป็นแค่ประเทศที่ดองผัก เพราะไม่มีจะกิน อย่ามาแหยมกับประเทศที่ดองเพราะกินไม่ทัน” หรือ“อย่างน้อยประเทศไทยก็มีภาคเหนือ”

จากข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ส่งผลให้ชาวเน็ตเกาหลีใต้โต้กลับ อย่างดุเดือดจำนวนมาก แต่เป็นในเชิงเห็นด้วยกับด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะหากต้องเลือกระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เข้ามา กับ ความปลอดภัยในประเทศ ชาวเกาหลีใต้ก็คงเลือกอย่างหลังมากกว่า เช่นเดียวกันกับคอมเมนต์ที่เผ็ดร้อนถึงรัฐบาลไทย ว่า รัฐบาลไทยควรดูแลคนไทยที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือขนยาเสพติดให้ได้เสียก่อน

 cats7_2_1

เปิดข้อชวนสังเกต กรณีของ’ผีน้อย’

ผีน้อย คืออะไร

ผีน้อย เป็นคำศัพท์ใช้เรียก “แรงงานผิดกฎหมาย” ในต่างประเทศ โดยแรกเริ่มมาด้วยการถือวีซ่าที่ถูกกฎหมาย เช่น วีซ่าท่องเที่ยว หรือ วีซ่านักเรียน แต่เมื่อวีซ่าหมดอายุแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่เกินกำหนดวีซ่า หรือเรียกว่า โดดวีซ่า เพื่อทำงานและส่งเงินกลับมาที่ประเทศไทย

ผีน้อยเดินทางไปทำงานอย่างไร

  • การเข้าประเทศโดยผ่าน “นายหน้า” ที่ชักชวนพร้อมโปรโมชัน ว่าจะหางานที่ถูกกฎหมายให้

  • ไม่ใช้“นายหน้า” แต่ใช้ญาติพี่น้องที่ “ล่วงหน้า” ไปแล้ว มีนายจ้าง มีที่อยู่รองรับ

  • “กรุ๊ปทัวร์” รู้เห็นเป็นใจ เช่น พาทัวร์ไป 30 กลับมาเพียง 10 คน

แน่นอนว่าการอยู่ต่างประเทศโดยที่ไม่มีวีซ่า นั้นคือการอยู่อย่างผิดกฎหมาย พอเกิดหรือขอความช่วยเหลือใดๆ กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เช่น ธุรกรรมทางด้านการเงิน ทำให้การอยู่แบบไม่มีตัวตนนี้ จึงโดนเปรียบเปรยว่า ถึงแม้มีชีวิตอยู่แต่กลับเป็นเหมือนผีที่ไร้ตัวตน

istock-1081381146

ผีน้อย ทำอาชีพอะไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่อาชีพที่ผีน้อยนิยมไปทำ คืออาชีพแรงงาน เช่นในโรงงาน ทำไร่ ทำสวน ไปจนถึงอาชีพขายบริการ โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 2,000- 3,000 บาท หรือเดือนละ 60,000- 90,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูง และสามารถส่งเงินกลับมาในครอบครัวที่ไทยได้อย่างสบาย ส่งผลให้ขบวนการเหล่านี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดขึ้นในแต่ละปี

istock-1431206916

สถิติผีน้อยในแดนเกาหลีใต้

จากการรายงานของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ พบว่า ประเทศไทยครองแชมป์ แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายสูงสุดในปี 65 และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 35.9%

  • ประเทศไทย 147,482 คน

  • ประเทศจีน 63,463 คน

  • ประเทศเวียดนาม 78,235 คน

  • ประเทศมองโกเลีย 15,359 คน

  • ประเทศฟิลิปปินส์ 14,041 คน

เช่นเดียวกับ ข้อมูลสถิติของ กระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 66 ยังคงพบว่า มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้จำนวนกว่า 2.14 ล้านคน เป็นคนไทยจำนวน 195,569 คน (ชาย 91,081 คน หญิง 104,488 คน) แบ่งเป็น :

  • ผู้ที่พำนักถูกกฎหมาย 48,129 คน

  • ผู้ที่พำนักผิดกฎหมาย 147,440 คน

  • ผู้ที่วีซ่าทำงานหมดอายุ 5,271 คน

จากข้อมูลนี้สามารถบอกได้ว่า คนไทยที่พำนักผิดกฎหมายนั้นมีสัดส่วนมากกว่า 75% ของคนไทยในเกาหลี และคิดเป็นกว่า 7% ของคนต่างชาติในเกาหลีทั้งหมด

istock-1187978274

สถิติลักลอบของผิดกฎหมายเข้าเกาหลีใต้

กรมศุลกากรเกาหลีใต้  (Korea Customs Service) ได้มีการเปิดเผยข้อกังวลใจถึงปริมาณการลักลอบขนยาเสพติดเข้าในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากปี 66 มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยนับตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. 66 กรมศุลกากรเกาหลีใต้ สามารถสกัดกั้นและยึดยาเสพติดได้ปริมาณรวมกันถึง 493 กิโลกรัม และ “ประเทศต้นทาง” ของยาเสพติดที่ทะลักเข้าสู่เกาหลีใต้ 4 อันดับ นั้นก็คือ :

  1. ประเทศไทย คิดเป็น 24.9% (123 กิโลกรัม)

  2. สหรัฐฯ คิดเป็น 23.53% 

  3. ประเทศลาว คิดเป็น 9.53%

  4. ประเทศเวียดนาม คิดเป็น 7.1%

เช่นเดียวกันกับ กระทรวงยุติธรรมของเกาหลี ยังคงเปิดเผนข้อมูล “อัตราการก่ออาชญากรรมของต่างชาติในเกาหลีปี 66”  ในคดีอาญาใหญ่ๆ เช่น ยาเสพติด หรือ การทำร้ายร่างกาย พบว่า คนไทยติดอยู่ที่อันดับ 3 รองจากจีนและเวียดนามเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รับรู้ถึงประเด็นดังกล่าว และพร้อมคุยกับนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต

ปัญหาเรื่องคนไทยติด ตม.เกาหลี น่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่แรงงานไทยจำนวนมากยังคงหลบหนีเข้าไปทำงาน แต่ปัญหานี้จะถูกแก้ไขอย่างไร เป็นสิ่งที่รอคำตอบเพราะหากปล่อยไว้อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวได้เช่นกัน สาวกเกาหลีทั้งหลายคงอยากให้คลี่คลายโดยเร็ว 

istock-1061952078

ที่มา : Wisesight

Naver

Isranews Agency

Thai PBS

MGR Online

KTO

Korea Customs Service

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT