ข่าวเศรษฐกิจ

ทำงานเกาหลีใต้ต้องรู้อะไรบ้าง? เปิดวิธีไปทำงานเกาหลีแบบไม่เป็น“ผีน้อย”

1 มี.ค. 66
ทำงานเกาหลีใต้ต้องรู้อะไรบ้าง? เปิดวิธีไปทำงานเกาหลีแบบไม่เป็น“ผีน้อย”

หากพูดถึงการไปทำงานที่ต่างประเทศสำหรับคนไทย ประเทศต้นๆ ที่คนน่าจะนึกถึงกันในปัจจุบันก็คือ “เกาหลีใต้” ที่หลายๆ คนอยากไปสัมผัสวัฒนธรรมที่เคยเห็นในซีรีส์ รวมไปถึงหางานทำในเกาหลีที่มีค่าแรงต่อเดือนเฉลี่ยสูงกว่าไทยถึงประมาณ 8 เท่า หากคิดจากค่าแรงเฉลี่ยของเกาหลีใต้จาก OECD และค่าแรงเฉลี่ยรายเดือนของไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถือได้ว่าเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ที่ไม่ได้อยู่ห่างจากไทยมากนัก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมที่น่าดึงดูด การเข้าไปทำงานของคนไทยในเกาหลีส่วนมากเป็นไปอย่างผิดกฎหมายผ่านการหนีวีซ่าท่องเที่ยว แล้วเข้าไปทำงานที่มีนายหน้าหรือญาติพี่น้องและคนรู้จักชักชวนให้ไปทำ จนคนไทยจำนวนมากประสบปัญหา ‘ติดห้องเย็น’ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ จนในบางกรณีถึงกับเสียเงินค่าเครื่องบินและทัวร์ฟรีๆ ถึงแม้ในความจริงจะตั้งใจเดินทางไปเที่ยว ไม่ได้หลบหนีไปทำงาน

การแก้ปัญหาแรงงานหลบหนีไปทำงานที่เกาหลีใต้จึงเป็นปัญหาที่ทั้งทางการไทยและเกาหลีต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากปัญหาดังกล่างจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อแรงงานคนไทยจำนวนมากที่เข้าไปทำงานแบบไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง และอาจโชคร้ายต้องถูกบังคับใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ต้องอยู่อาศัยในสถานที่ที่สุขลักษณะไม่ดี หรือในบางครั้งก็อาจถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่อยากเดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ หนทางที่ดีที่สุดย่อมเป็นการเข้าไปทำงานแบบถูกกฎหมายที่ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลเกาหลีใต้ 

กฎเกณฑ์การเข้าไปทำงานที่เกาหลีในตอนนี้เป็นอย่างไร ก่อนไปต้องทำอะไรบ้าง ทีม Spotlight รวบรวมมาให้

 

ทำงานเกาหลีใต้ มีใบอนุญาตทำงานในรูปแบบใดบ้าง?

โดยทั่วไปใบอนุญาตทำงานในเกาหลีใต้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ‘วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูง (professional visa)’ ตั้งแต่ E1 ถึง E7 และ ‘วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะต่ำ (non-professional visa)’  ตั้งแต่ E8 ถึง E10 ผู้ที่ต้องการสมัครวีซ่าแต่ละประเภทต้องมีคุณสมบัติดังนี้

 

  • วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูง (professional visa) คือ วีซ่าทำงานประเภทชำนาญงาน รวมถึงเป็นอาชีพพิเศษหรือเป็นแรงงานที่ขาดแคลน ทำให้ผู้สมัครต้องมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ รวมไปถึงมีประกาศนียบัตรรับรองด้านการศึกษาในด้านนั้นๆ ซึ่งต้องมีที่มาชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเอกสารย่อยและเอกสารประกอบการพิจารณาอื่นๆ ผู้สมัครสามารถยื่นขอด้วยตนเอง หรือดำเนินการผ่านตัวแทนหรือทนายได้ วีซ่าสำหรับแรงงานประเภทนี้แบ่งออกเป็น

  1. C-4 วีซ่าสำหรับ “แรงงานมีทักษะที่เข้ามาทำงานระยะสั้นทุกประเภท” หรือแรงงานทุกคนที่มีแผนทำงานในเกาหลีใต้ไม่เกิน 90 วัน 
  2. D-10-1 วีซ่าสำหรับ “ผู้กำลังหางานทำในเกาหลีใต้” ในสายงานที่มีทักษะสูงทุกประเภท
  3. E-1 วีซ่าสำหรับ “อาจารย์หรือผู้สอนในมหาวิทยาลัย” รวมไปถึงผู้ที่เข้าไปทำวิจัยในสถาบันระดับอุดมศึกษาต่างๆ วีซ่ามีอายุ 1 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ (multiple-entry)
  4. E-2 วีซ่าสำหรับ “ครูสอนภาษาต่างประเทศ” ออกให้กับชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานสอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ วีซ่ามีอายุ 2 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ 
  5. E-3 วีซ่าสำหรับ “นักวิจัย” ที่ทำการวิจัยใน “สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” หรือ ในสายงาน “เทคโนโลยีระดับสูง” วีซ่าประเภทนี้ต้องยื่นพร้อมจดหมายเชิญจากสถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ และมีอายุ 1 ปี ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
  6. E-4 วีซ่าสำหรับ “นักเทคนิคและผู้ฝึกสอนด้านเทคนิค” ที่เข้ามาเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเกาหลีใต้ วีซ่าประเภทนี้ต้องยื่นพร้อมจดหมายเชิญจากสถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ วีซ่าประเภทนี้มีแบบทั้งเข้ารอบเดียว (single-entry) และเข้าได้หลายรอบ และสามารถต่ออายุได้ตามเงื่อนไขของแต่ละงาน
  7. E-5 วีซ่าสำหรับ “ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ ที่ไม่มีชนิดวีซ่ารองรับโดยเฉพาะ” ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย การแพทย์ การบัญชี และอาชีพมีทักษะอื่นๆ ผู้สมัครวีซ่าชนิดนี้ต้องเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเภทดังกล่าวในประเทศเกาหลีใต้ เช่น หากเป็นแพทย์ ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมรักษาผู้ป่วยที่ออกโดยหน่วยงานของเกาหลีใต้
  8. E-6 วีซ่าสำหรับ “แรงงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะ” รวมไปถึงผู้ที่ทำงานในวงการบันเทิงและกีฬา วีซ่ามีอายุ 1 ปี และผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ
  9. E-7 วีซ่าสำหรับ “ผู้ที่เข้ามาทำภารกิจพิเศษที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรม” เช่นข้าราชการที่ถูกเชิญเข้ามาปฏิบัติงานโดยกระทรวงยุติธรรม วีซ่ามีอายุ 1-3 ปี ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ

 

  • วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะต่ำ (non-professional visa) คือ วีซ่าที่ออกแบบมาเพื่ออนุมัติให้กับแรงงานต่างชาติประเภทไร้ทักษะ (non-skills) ที่ต้องการเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ แรงงานกลุ่มนี้จะถูกจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐหรือกรมแรงงานระหว่างประเทศเท่านั้น ‘ไม่มีนายหน้าหางานสามารถขอออกวีซ่าประเภทเหล่านี้ได้อย่างถูกกฎหมายได้’ วีซ่าสำหรับแรงงานประเภทนี้แบ่งออกเป็น

  1. E-8 สำหรับแรงงานใน “ภาคการเกษตรตามฤดูกาล”
  2. E-9-1 สำหรับแรงงานใน “ภาคการผลิต”
  3. E-9-2 สำหรับแรงงานใน “ภาคการก่อสร้าง”
  4. E-9-3 สำหรับแรงงานใน “ภาคการเกษตร”
  5. E-9-4 สำหรับแรงงานใน “ภาคการประมง”
  6. E-9-5 สำหรับแรงงานใน “ภาคการบริการ”
  7. E-10 สำหรับ “ลูกเรือในภาคการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ”

 

อยากไปทำงานเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายผ่านกรมแรงงานทำอย่างไร?

ปัจจุบัน รัฐบาลไทย โดยกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี โดยกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตาม “ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS)” ซึ่งกำหนดให้กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานผู้ทำหน้าที่รับสมัคร คัดเลือกและจัดส่งคนหางานไปทำงาน 

โดยคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต้องผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน ตามที่สำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลีผู้จัดสอบกำหนด และต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมด ดังนี้

  1. ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสอบเพื่อไปทำงานเกาหลีใต้ และเรียนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมตัวก่อนสอบ
  2. สมัครสอบความสามารถภาษาเกาหลี และรอผลการสอบ
  3. รายงานตัวขึ้นทะเบียนผู้หางานกับกระทรวงแรงงานเพื่อไปทำงานเกาหลี
  4. การเซ็นสัญญาจ้างกับนายจ้างผ่านระบบ EPS
  5. เดินทางเข้าประเทศเพื่อทำงานกับนายจ้างที่ได้เซ็นสัญญาจ้างงานกันไว้

 

  • ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสอบเพื่อไปทำงานที่เกาหลีใต้

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี (EPS) ผู้ที่มีความต้องการไปทำงานที่เกาหลีใต้ต้องสมัครสอบความสามารถภาษาเกาหลีใต้ก่อน หรือที่เรียกว่า EPS-TOPIK โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

  • อายุตั้งแต่ 18-39 ปี
  • สายตาไม่บอดสีหรือบกพร่องการแยกสี
  • ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง และไม่เป็นโรคที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือเป็นโรคติดต่อตามที่ทางการเกาหลีกำหนด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส วัณโรค โรคทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรง ไส้เลื่อน นิ่วในไต โรคหัวใจ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้น โรคจิตวิปริต
  • ไม่มีประวัติอาชญากรรม
  • ไม่เคยมีประวัติการถูกเนรเทศออกจากสาธารณรัฐเกาหลี
  • ไม่เป็นผู้ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
  • เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติถือวีซ่าทำงานแบบ (E-9) หรือ วีซ่า (E-10) ในประเทศเกิน 5 ปี

เมื่อตรวจตอบแล้วว่าตัวเองมีคุณสมบัติทั้งหมดที่ทางกรมการจัดหางานได้กำหนดไว้ ผู้สมัครควรเข้าเรียนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมตัวสอบตามศูนย์กวดวิชาต่างๆ

 

  • สมัครสอบความสามารถภาษาเกาหลี และรอผลการสอบ

จากข้อมูลของศูนย์ EPS ผู้ต้องการรสมัครสอบติดตามกำหนดการเปิดรับสมัครการสอบซึ่งทางศูนย์ EPS จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ ได้ที่ http://www.doe.go.th/overseas , http://hrdkoreathailand.com/ และ https://eps.hrdkorea.or.kr/ และต้องเดินทางไปสมัครด้วยตัวเองที่สถานที่สมัครตามประกาศเท่านั้น

โดยผู้สมัครต้องเตรียมหลักฐานที่ต้องใช้ในการสมัครดังนี้

  • สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) จำนวน 3 ฉบับ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ฉบับ
  • ใบสมัครทดสอบภาษาเกาหลี 1 แผ่น (สามารถรับได้ที่สถานที่รับสมัคร)
  • รูปถ่ายสีขนาด 3.5*4.5 เซนติเมตร ฉากด้านหลังสีขาว และไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน เป็นรูปถ่ายในคราวเดียวกัน เขียนชื่อนามสุกล เลขบัตรประชาชนด้านหลังรูปถ่ายด้วย จำนวน 3 แผ่น
  • ค่าธรรมเนียมการสมัคร 25$ (USD) หรือ ประมาณ 8XX บาท (แล้วแต่ค่าเงินในขณะนั้น)

โดยการทดสอบดังกล่าวจะมีทั้งหมด 2 รอบ คือ 1) การประเมินภาคทฤษฎี ประกอบไปด้วยพาร์ทการฟัง 25 ข้อ, การอ่าน 25 ข้อ รวม 50 ข้อ ใช้เวลา 50 นาที และ 2) การทดสอบทักษะ หรือการประเมินภาคปฏิบัติ ที่ประกอบไปด้วยการสอบการพูด ทักษะอาชีพหรือสอบปฏิบัติการใช้เครื่องมือทำงาน ซึ่งผู้ที่มีสิทธิสอบในรอบนี้คือผู้ที่สอบผ่านภาคทฤษฎีมาแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าการเปิดให้สอบทุกครั้งจะเป็นการรับแรงงานทุกประเภทพร้อมกันทั้งหมด เพราะการสอบแต่ละรอบจะจัดขึ้นเมื่อมีโควต้าการทำงานมาจากเกาหลี ซึ่งจะระบุจำนวน เพศ หรือประเภทของแรงงานที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ในบางครั้งการรับสมัครสอบจะทำเพื่อหาแรงงานในภาคส่วนก่อสร้างโดยเฉพาะ ทำให้รับแต่เฉพาะแรงงานชาย และในการสอบรอบที่ 1 ส่วนมาก EPS จะพิจารณาผู้สอบผ่านไว้ไม่เกิน 2 เท่าของโค้วตาทีจะคัดเลือกของแต่ละประเภทงาน ตามลำดับจากคะแนนมากไปหาน้อย

ทั้งนี้ จากประกาศของ EPS ผู้ที่สอบผ่านไม่ได้หมายความว่าจะได้เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ เพระต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกจากนายจ้างเกาหลี รวมถึงต้องได้รับการพิจารณาวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย โดยหากผู้สมัครเคยมีประวัติอยู่เกินวีซ่า เคยถูกปฏิเสธการเข้าเมือง ถูกจับส่งหรือแม้แต่รายงานตัวกลับเองก็อาจไม่ได้รับการพิจารณาวีซ่า และไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่เกาหลีได้ เพราะฉะนั้นผู้สมัครสอบทุกคนควรตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติการเดินทางของตัวเองก่อนสมัคร

 

  • ขึ้นทะเบียนผู้หางานในเกาหลีกับกรมการจัดหางาน

เมื่อผ่านการสอบเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องการไปทำงานที่เกาหลีสามารถยื่นคำร้องสมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลีกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตามวันและเวลาที่กระทรวงฯ ประกาศเพื่อไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้หางานในเกาหลี โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมคือ

  • เอกสารคำร้องสมัครงาน
  • ผลการสอบผ่านการคัดเลือก
  • ผลตรวจสุขภาพ
  • สำเนาหนังสือเดินทาง
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายสีขนาด 3.5*4.5 เซนติเมตร ฉากด้านหลังสีขาว และไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน เป็นรูปถ่ายในคราวเดียวกัน เขียนชื่อนามสุกล เลขบัตรประชาชนด้านหลังรูปถ่ายด้วย จำนวน 3 แผ่น
  • ค่าธรรมเนียมการสมัคร

 

  • การเซ็นสัญญาจ้างกับนายจ้างผ่านระบบ EPS และเดินทางไปทำงาน

หลังขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากว่าเราได้รับการคัดเลือก ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะติดต่อกลับภายในเวลา 3-6 เดือน หลังจากนั้นเราต้องเดินทางไปที่กรมการจัดหางานอีกครั้งเพื่อเซ็นสัญญาจ้าง ตามวันและเวลาที่นัดหมาย

นอกจากนี้เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนเดินทางผู้ที่กำลังจะเดินทางไปทำงานยังต้องไปเรียนภาษาเกาหลีอีกครั้ง ซึ่งเป็นคอร์สแบบ ‘บังคับเรียน’ ที่หลายคนเรียกกันว่าคอร์สเตรียมบิน เพราะเป็นการเรียนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมพร้อมก่อนบินไปทำงานจริง และต้องเข้าการฝึกอบรมกับกรมการจัดหางานอีกครั้ง ซึ่งทางกรมฯ จะจัดการดำเนินการทุกอย่างให้แก่ผู้เดินทาง ตั้งแต่การเดินทางไปสนามบิน การเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้ ไปจนถึงเวลาที่ผู้ว่าจ้างของเกาหลีใต้มารับ

 

การใช้ชีวิตและทำงานในเกาหลีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

สำหรับผู้ที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ข้อดีแรก คือ เงินค่าตอบแทนที่สูงกว่าไทยหลายเท่าตัว โดยจากข้อมูลของ OECD ในปี 2021 แรงงานในเกาหลีใต้ได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 3562.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 124,839.05 บาท ในขณะที่แรงงานในไทยได้เฉลี่ยเดือนละ 14,892.27 บาท ทำให้แรงงานในเกาหลีในทุกระดับมีเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าแรงงานไทยถึง 8 เท่า และมีความแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา และอุตสาหกรรมเหมือนในประเทศอื่นๆ

จากข้อมูลของ Outsource Accelerator “ระดับการศึกษา” เป็นปัจจัยแรกที่มีผลต่อระดับเงินเดือนที่ได้ โดยแรงงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเงินเดือนสูงกว่าผู้ที่จบเพียงระดับมัธยมศึกษาถึง 24% โดยมีเงินเดือนอยู่ในช่วงเดือนละ 3,500,000-4,500,000 วอน หรือราว 93,208-119,768 บาท

ผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาโทส่วนมากจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่จบระดับปริญญาตรี 29% โดยมีช่วงเงินเดือนอยู่ที่ 5,500,000-6,500,000 วอน หรือราว 146,383-172,999 บาท ในขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจะมีเงินเดือนสูงขึ้นกว่าระดับปริญญาโทอีก 23% และมีช่วงเงินเดือนมากกว่า 5,880,000 วอน หรือราว 156,497 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ นอกจากระดับการศึกษาแล้ว “ประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม” ก็มีผล โดยจากข้อมูลของ Salary Explorer อาชีพที่มีเงินเดือนสูงที่สุดในเกาหลีใต้ คือ "ศัลยแพทย์ทุกประเภท" ซึ่งมีเงินเดือนอยู่ในช่วง 7,090,000-22,600,000 วอน หรือราว 188,631-601,279 บาท แล้วแต่ประเภทของการผ่าตัดและประสบการณ์ สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เงินเดือนเฉลี่ยของแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นดังนี้

  1. การแพทย์                   154,310 บาท/เดือน
  2. อสังหาริมทรัพย์             117,077 บาท/เดือน
  3. การธนาคาร                  112,553 บาท/เดือน
  4. การศึกษา                    109,613 บาท/เดือน
  5. การบริหารจัดการบุคคล     97,942 บาท/เดือน
  6. สถาปัตยกรรม                96,045 บาท/เดือน
  7. วิศวกรรม                     87,332 บาท/เดือน
  8. ภาคการผลิต                 70,557 บาท/เดือน
  9. ภาคการก่อสร้าง             60,972 บาท/เดือน

และหากมองเป็นรายอาชีพ เงินเดือนเฉลี่ยของแต่ละอาชีพเป็นดังนี้

  1. หมอฟัน                      249,291 บาท/เดือน
  2. อัยการ                        214,246 บาท/เดือน
  3. นักบิน                         177,940 บาท/เดือน
  4. นักวิเคราะห์ทางการเงิน     139,952 บาท/เดือน
  5. นักวิเคราะห์ธุรกิจ            130,330 บาท/เดือน
  6. สถาปนิก                      121,870 บาท/เดือน
  7. วิศวกร                        100,231 บาท/เดือน
  8. ครูโรงเรียนมัธยม             82,152 บาท/เดือน
  9. พยาบาล                      79,808 บาท/เดือน
  10. นักบัญชี                       74,998 บาท/เดือน
  11. พนักงานแคชเชียร์            40,431 บาท/เดือน
  12. พนักงานเสิร์ฟ                 32,983 บาท/เดือน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รายได้ของแรงงานในเกาหลีใต้จะสูงกว่ารายได้ของอาชีพเดียวในประเทศไทยมาก สิ่งที่ขึ้นสูงตามรายได้ ก็คือ ค่าครองชีพ โดยจากการจัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดของปี 2022 โดย Mercer เกาหลีใต้มีอันดับสูงถึงอันดับที่ 14 โดยเฉพาะค่าที่พักที่สูงถึงขนาดคนเกาหลีรุ่นใหม่บางคนยังไม่สามารถหารายได้พอที่จะซื้อที่พักของตัวเองได้

จากข้อมูลของ Outsource Accelerator ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของประชากรในเกาหลีเป็นดังนี้

  • ค่าครองชีพสำหรับครอบครัว 4 คน            71,782 บาท/เดือน
  • ค่าครองชีพสำหรับคนเดียว (รวมค่าเช่า)      18,902 บาท/เดือน
  • ค่าเช่าอพาร์ทเมนต์หนึ่งห้องนอนนอกเมือง    26,590 บาท/เดือน
  • ค่าเช่าอพาร์ทเมนต์สามห้องนอนนอกเมือง    42,537 บาท/เดือน

จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าค่าครองชีพในประเทศเกาหลีใต้นั้นสูงกว่าการใช้ชีวิตมากกว่าในประเทศไทยหลายเท่า อีกทั้ง ยังมีสภาพอากาศและสภาพสังคมวัฒนธรรมบางประการไม่เหมือนประเทศไทย ทำให้ผู้ที่ไปทำงานต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นประเทศเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศหนาวจัด ภาษา และอาหารการกิน เพราะแน่นอนว่านอกจากเงินแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนๆ หนึ่งสามารถทำงานอยู่ในต่างบ้านต่างเมืองได้อย่างปกติสุข

 

งานแบบไหนบ้างที่เกาหลีใต้อยากได้คนไปร่วมงาน?

จากการรายงานของ CNA เกาหลีใต้มีแผนที่จะนำเข้าคนงานต่างชาติถึง 110,000 คนในปีนี้ เพื่อเข้ามาทำงานในฟาร์มและโรงงานเพราะเช่นเดียวกับงานใช้แรงงานในไทย ไม่มีชาวเกาหลีใต้คนไหนอยากทำงานแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำอีกต่อไป เพราะมองว่าเป็นงานสกปรกและอันตราย ทำให้แรงงานต่างชาติรวมไปถึงแรงงานไทยสามารถเข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ไม่ได้ต้องการแค่แรงงานทักษะต่ำเท่านั้น เพราะในบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นก็ต้องการแรงงานมีทักษะเช่นกัน เพราะเกาหลีใต้ได้กลายสภาพเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ มีวิจัยออกมาว่า สังคมเกาหลีจะกลายเป็น “super-aged society” ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุเกิน 65 ปี มากกว่า 20% ภายในปี 2026 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี จำนวนประชากรของเกาหลีเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2020 ก่อนจะลดลงมาเรื่อยๆ นับแต่นั้น โดยในปี 2022 เกาหลีใต้มีประชากรเพียง 51.75 ล้านคน ลดลงจาก 51.84 ล้านคนในปี 2020 นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มี “อัตราการเจริญพันธุ์” ที่ต่ำที่สุดในโลก โดยเพิ่งทำลายสถิติตัวเองด้วยการลดลงเหลือ 0.81 ในปี 2021 ลดลง 0.03 จากปี 2020 

จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาหนักในการเพิ่มและรักษาจำนวนประชากร และถ้าหากเทรนด์การเกิดยังลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตประเทศเกาหลีจะเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องการแรงงานต่างประเทศจำนวนมากในทุกระดับไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าไปหางานทำ หรือย้ายประเทศไปอยู่ที่เกาหลีใต้น่าจะเป็นที่ต้อนรับอย่างมากในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงที่สามารถทำรายได้ได้มากกว่าการทำงานในประเทศไทยหลายเท่า




ที่มา: EPS, Multiplier, โฆษกรัฐบาลไทย, CNNธนาคารแห่งประเทศไทย, Statistaสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT