อินไซต์เศรษฐกิจ

ส่อง "มาม่านอก" ในจีนและอินโดฯ เป็นอาหารคนยากเหมือน "ไทย" มั้ย?

17 ส.ค. 65
ส่อง "มาม่านอก" ในจีนและอินโดฯ เป็นอาหารคนยากเหมือน "ไทย" มั้ย?

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ "มาม่า" ถือเป็นอาหารคนยาก เพราะในหลายประเทศนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant noodle) ก็ถือเป็นอาหารของคนเบี้ยน้อยเช่นกัน และยิ่งในยุคที่เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นอยางรุนแรงเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้มาม่าในแต่ละประเทศขายดีและทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีก


ทีมข่าว Spotlight จะพาไปดูสถานการณ์มาม่าในต่างประเทศของ "จีน" และ "อินโดนีเซีย" 2 ประเทศผู้บริโภคมาม่ามากที่สุดในโลกกัน

artboard1(41)


มาม่า "อินโดนีเซีย" ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ


ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้นำทั่วโลกแสดงความกังวลเรื่องราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลพวงของสงคราม แต่แอร์ลังกา ฮาร์โตโน รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย พุ่งเป้าความกังวลไปที่ราคา "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ว่าจะแพงขึ้นเพราะผลจากงคราม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ รมต.อินโดฯ จะกังวลต่อราคามาม่าก่อนราคาข้าวและผัก เพราะในอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคนนั้น บะหมี่กึ่งฯ คือที่พึ่งพิงของคนรายได้น้อยจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลของสมาคม World Instant Noodles Association พบว่า ดีมานด์บะหมี่กึ่งฯ ในอินโดนีเซียสูงถึง 1.32 หมื่นล้านซองในปี 2021 เป็นรองเพียงจีนและฮ่องกง ที่ 4.4 หมื่นล้านซอง

แต่หากนับการบริโภคต่อหัวประชากรแล้ว อินโดนีเซียคือประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งฯ มากที่สุดในโลก "แซงหน้าจีน" ไปแล้ว หรือเฉลี่ย 50 ซอง/คน/ปี เลยทีเดียว

และบะหมี่กึ่งฯ ยอดฮิตที่สุดของที่นี่ก็คือ "อินโดหมี่" (Indomie) ของบริษัท Indofood Sukses Makmur ที่เป็นเสมือนกับ "ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ" ไปแล้ว ราคาขายเฉลี่ยต่อซองในปัจจุบันอยู่ที่ 2,800 รูเปียะห์ (ราว 6.75 บาท) ซึ่งถือเป็นราคาที่รับได้สำหรับคนอินโดนีเซียที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ (ราว 7,000 บาท) Indofood ถือเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ รายใหญ่ที่สุดในประเทศ เฉพาะปี 2021 ที่ผ่านมา ทำกำไรสุทธิได้สูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะช่วงที่คนอยู่บ้านเพราะโควิด-19 ทำให้ต้องพึ่งมาม่าเป็นอาหารติดบ้านกันมากขึ้น

อินโดหมี่ เคยขึ้นราคาไปแล้ว 10% เมื่อช่วงต้นปี 2022 นี้ เพราะราคาวัตถุดิบอย่างข้าวสาลีพุ่งขึ้น โดยขึ้นไป 100 รูเปียะห์ (ขึ้นซองละ 0.24 บาท) ซึ่งในตอนนั้นทางสำนักงานสถิติอินโดนีเซียก็เคยแสดงความกังวลมาแล้วว่าการขึ้นราคาของมาม่าอินโดฯ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นตามด้วย และทุกฝ่ายกำลังกังวลว่ามาม่าอินโดนีเซียอาจต้องขึ้นราคาอีกในปีนี้ หลังจากที่เจอการขึ้นภาษี VAT ไปเมื่อเดือน เม.ย. และเจอสถานการณ์ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้นอีก 13% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา


มาม่าจีน ตลาดใหญ่เบอร์ 1 ของโลก

รู้หรือไม่ว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการบริโภคบะหมี่กึ่งฯ ไปถึง 117,000 ล้านซอง/ถ้วย และในจำนวนนี้ เป็น "จีน" ไปถึงเกือบครึ่งหนึ่งในฐานะผู้บริโภคเบอร์ 1 ซึ่งจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2016 ถึง 20.3% โดยในบรรดาคนจีนทั้งหมดเกือบ 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ จะบริโภคบะหมี่กึ่งฯ เฉลี่ยประมาณ 36 ซองต่อคนต่อปี

บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ เจ้าดังๆ ในประเทศนี้ได้แก่ Liziqi ผู้ผลิตแบรนด์ หลัวซือเฝิ่น ซึ่งขายได้ถึง "วันละ 520,000 ซอง/ถ้วย" (ข้อมูลเดือน พ.ค. 2020) รวมถึงบริษัทใหญ่ๆ เช่น Master Kong, Uni-President, Jinmailang และ Baixiang

แต่เดิมนั้น บะหมี่กึ่งฯ ถือเป็นอาหารราคาถูกที่พึ่งพิงของคนรายได้น้อย แต่ปัจจุบันบะหมี่กึ่งฯ มีการพัฒนานวัตกรรม ลูกเล่น และรสชาติไปเยอะมาก ทั้งถ้วยร้อนทันใจ (แค่เติมน้ำเปล่า) Snail noodles (เส้นหมี่ขาว) ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นในหลิ่วโจวและกว่างสี ไปจนถึงการใส่เนื้อสัตว์และผักอบแห้ง และทำบะหมี่กึ่งฯ รสชาติแปลกๆ ถ่ายรูปลงโซเชียลได้ ซึ่งเหล่านี้ทำให้ราคาบะหมี่กึ่งฯ "ปรับตัวแพงขึ้นได้ทั้งเรื่องราคาและภาพลักษณ์" ทำให้จากมาม่าปกติราคาถูกซองละ 5 หยวน (ราว 26 บาท) สามารถขยับราคาไปเป็นมาม่าคัพไฮโซถ้วยละ 66 หยวน (ราว 345 บาท)

ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งฯ ประมาณ 24% ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในจีน จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 5-10 หยวน และอีกประมาณ 33% จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 10 - 20 หยวน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT