ข่าวเศรษฐกิจ

มาม่า และผองเพื่อนขอขึ้นราคา 2 บาท แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาติ

16 ส.ค. 65
มาม่า และผองเพื่อนขอขึ้นราคา 2 บาท แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาติ

ภาพการรวมตัวกันของผู้บริหารจากบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 แบรนด์ดัง มาม่า ยำยำ ไวไว ซื่อสัตย์ และนิชชินคงจะมีให้เห็นไม่บ่อยนัก แต่เมื่อวานนี้ 15 สิงหาคม  ผู้ประกอบการขึ้นเวทีเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกันคือ การขอปรับราคาสินค้า นั่นก็คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้น 2 บาทต่อซอง จาก 6 บาท เป็น 8 บาท

 

ผู้ประกอบการทั้ง 5 แบรนด์ชี้แจงตรงกันถึงเหตุผลของการขอปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้น2 บาทว่า ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับขึ้นมากทุกรายการ โดยเฉพาะค่าวัตถุดิบ แป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม คิดเป็นต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้นมากกว่า 1 บาทต่อซอง ยังไม่รวมวัตถุดิบอื่น เช่น หอม กระเทียม พริก ที่ขึ้นมาร้อยละ 8-35   นอกจากนี้ค่าแรงที่กำลังพิจารณาปรับขึ้น ยังส่งผลต่อต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดให้อนุญาติปรับราคาขึ้นได้

 

ทั้งนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตปรับราคาขายปลีก หากมีการปรับราคาขายปลีกเองโดยพลการ ถือเป็นการกระทำความผิดกฎหมายและมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 นั่นจึงเป็นที่มาให้ผู้ประกอบการทั้ง 5 รายต้องออกมารวมกันเรียกร้อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทาง มาม่า ได้ออกมาขอปรับราคามาโดยตลอด

 มาม่า

 

ไม่ได้ปรับราคามา 14 ปี  ถ้าไม่ให้ขึ้นราคาจะลดการขายในไทย   

 

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า บอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับราคาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2551 จาก 5 บาทเป็น 6 บาท เท่ากับไม่ได้ปรับราคามา 14 ปีแล้ว ผู้ประกอบการคาดหวังให้มีการพิจารณา โดยเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะหันไปทำตลาดส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 30-35%  เพราะมีกำไรมากกว่า

 

ผู้ผลิตทั้ง 5 ราย ยืนยันว่า ที่ขาดทุนไม่ได้ขาดทุนกำไร แต่เป็นการขาดทุนจากต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น ที่ผ่านมาพยายามที่จะเพิ่มการขายในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะสามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะไม่มีการคุมราคาเหมือนในไทย เบื้องต้นเตรียมที่จะลดการขายในไทยลงด้วย ถ้าหากกรมการค้าภายในไม่ปรับราคาขึ้นให้

 

นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ระบุว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขึ้นของต้นทุนสินค้า โดยในไตรมาส 1 บางเดือนยอดสุทธิของสินค้าเป็นการขาดทุน  โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ทำให้สินค้าแป้งสาลีราคาปรับขึ้น 20-30% และน้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้นเท่าตัว ทำให้เกิดภาวะขาดทุน ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่ปรับราคาสินค้า ก็จะปรับลดการขายภายในประเทศลง จึงอยากร้องขอให้พิจารณาการปรับราคาขึ้น เพื่อให้อยู่รอดและยืนหยัดอยู่ได้ในสภาวะแบบนี้

นายกฯสั่งพาณิชย์ดูแล ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ  

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึประเด็นนี้ว่า ได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ไปพิจารณาถึงสาเหตุความจำเป็น รวมถึงราคาที่จะปรับขึ้น ซึ่งหากจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก็ให้ไปหารือร่วมกัน

 

เนื่องจากผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เคยขอปรับขึ้นราคามา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับขึ้น ดังนั้นต้องไปดูต้นทุนการผลิต และพิจารณาตามความเหมาะสม โดยยืนยันไม่ได้เข้าข้างใคร จะดูแลทั้ง 2 ส่วน คือ ประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน และผู้ประกอบการต้องสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ และอาจต้องปิดโรงงาน จึงขอให้เห็นใจซึ่งกันและกัน

 

ส่วนท่าทีของ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ยังไม่ได้มีการระบุช่วงเวลาของการพิจารณาว่าจะให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับราคาขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็ระบุว่า  ที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้ตรึงราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพมาโดยตลอด ซึ่งกรมการค้าภายในขอขอบคุณในความร่วมมือมาเป็นอย่างดี การพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น จะพิจารณาเป็นรายๆ โดยอยู่บนหลักการ วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ประกอบการต้องยังคงผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในก็อยู่ระหว่างพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

 quote_spotlight2022

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT