อินไซต์เศรษฐกิจ

"ไทย" อันดับ 8 ประเทศที่ Expat ต่างชาติอยากมาทำงานมากที่สุด

19 ก.ค. 65
"ไทย" อันดับ 8 ประเทศที่ Expat ต่างชาติอยากมาทำงานมากที่สุด

ไทยขึ้นอันดับ 8 ประเทศที่ Expat ต่างชาติอยากมาทำงานมากที่สุด "ยุคเงินเฟ้อแบบนี้ เมืองไหนถูก เมืองนั้นมาแรง" เพื่อนบ้าน "อินโดนีเซีย" ติดจรวดขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ตามมาด้วย "เวียดนาม" อันดับ 7


เว็บไซต์ InterNations เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่คนอยากไปใช้ชีวิตทำงานมากที่สุด (Expat Insider 2022) พบว่าในปีนี้ มีประเทศในกลุ่มอาเซียนติด Top 10 ถึง 4 ประเทศด้วยกัน นำโดย "อินโดนีเซีย" ซึ่งขยับแรงจากอันดับที่ 31 ขึ้นมาอยู่ที่ 2 ตามมาด้วย "เวียดนาม" ในอันดับ 7 "ประเทศไทย" อันดับ 8 และ "สิงคโปร์" อันดับ 10

รายงานนี้เป็นการสำรวจเอ็กซ์แพททั้งหมดเกือบ 12,000 คน ใน 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยใช้ปัจจัยในการประเมิน 5 หัวข้อหลักคือ

  1. ความยากง่ายในการย้ายไปใช้ชีวิต (Ease of Settling In)
  2. การเงินส่วนบุคคล (Personal Finance)
  3. คุณภาพชีวิต (Quality of Life)
  4. ความเหมาะสมในการทำงาน (Working Abroad) และ
  5. ปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น (Expat Essentials)   
      

artboard1(33)

เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ "ปัญหาเงินเฟ้อ" ลุกลามไปทั่วทั้งโลก ดังนั้นปัจจัยหลักที่บรรดา Expat ให้ความสำคัญมากที่สุด จึงเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประเทศที่ "ค่าครองชีพต่ำ" และ "อยู่ด้วยแล้วมีความสุข" ซึ่งประเทศในกลุ่มท็อป 10 นั้น จะได้น้ำหนักในส่วนนี้เยอะ เมื่อเทียบกับปัจจัยรองลงมาอย่างเรื่องคุณภาพชีวิต

และนั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรรดากลุ่มท็อป 10 เดิมที่ "แพง" หลุดอันดับกันทั่วหน้า โดย "ไต้หวัน" เสียแชมป์หล่นไปอยู่ที่ 3, "ออสเตรเลีย" หล่นจากที่ 7 ไปอยู่ที่ 9, "นิวซีแลนด์" หล่นจากที่ 6 ไปอยู่อันดับที่ 51 (รองบ๊วย) และ "แคนาดา" หล่นจากที่ 9 ไปอยู่อันดับที่ 23



"ประเทศไทย" ขยับจาก 14 ขึ้นที่ 8

รายงานพูดถึงประเทศไทยสั้นๆ ว่า "ไม่แพง" และ "เป็นมิตร" โดยประเทศไทยมีส่วนที่ทำคะแนนได้ดีใน 4 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน คือ        

  • มีระดับความสุขเฉลี่ยที่ 77% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 71%
  • ดัชนีเรื่องการเงิน อยู่ที่ 4 (จากทั้งหมด 52 ประเทศ)
  • ดัชนีความยากง่ายการย้ายถิ่นฐาน อยู่ที่ 11
  • ดัชนีปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การเช่า/ซื้อบ้าน, ภาษา และดิจิทัล อยู่ที่ 18

 
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 2 หมวดที่ไทยทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี คือ คุณภาพชีวิต (Quality of Life) ซึ่งได้อันดับที่ 35 จากทั้งหมด 52 ประเทศ โดยมีหมวดย่อยที่ได้คะแนนน้อยสุด "ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต"

ส่วนอีกหมวดที่คะแนนไม่ค่อยดี คือ ความเหมาะสมในการทำงาน (Working Abroad) ซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ โอกาสก้าวหน้า ไปจนถึงสมดุล Work-life balance โดยเราได้ที่ 45 จากทั้งหมด 52



ทำไม "อินโดนีเซีย" พุ่งแรงขึ้นมาอยู่อันดับ 2

ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียนที่ติดท็อป 10 นั้น ถือว่า "อินโดนีเซีย" น่าสนใจที่สุด เพราะขยับแรงจากอันดับ 31 เมื่อปีที่แล้วพุ่งไปอยู่อันดับ 2 ในปีนี้ โดยมีความโดดเด่นใน 4 ด้านด้วยกัน คือ

  • มีระดับความสุขเฉลี่ยที่ 91% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 71%
  • ดัชนีเรื่องการเงิน อยู่ที่ 3 (จากทั้งหมด 52 ประเทศ)
  • ดัชนีความยากง่ายการย้ายถิ่นฐาน อยู่ที่ 2
  • ดัชนีปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การเช่า/ซื้อบ้าน, ภาษา และดิจิทัล อยู่ที่ 6

จุดเด่นในเรื่องค่าครองชีพ ความยากง่ายในการย้ายถิ่น และความสุขนี่เอง ที่ทำให้อันดับของอินโดนีเซียพุ่งขึ้นมา แม้ว่าคะแนนในด้าน "คุณภาพชีวิต" จะอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายที่ 41 จากทั้งหมด 52 ประเทศก็ตาม โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุข


10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ "น่าย้าย" ไปทำงานมากที่สุด

1. เม็กซิโก
2. อินโดนีเซีย
3. ไต้หวัน
4. โปรตุเกส
5. สเปน
6. สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี)
7. เวียดนาม
8. ไทย
9. ออสเตรเลีย
10. สิงคโปร์


10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ "ไม่น่าย้าย" ไปทำงานมากที่สุด

52. คูเวต
51. นิวซีแลนด์
50. ฮ่องกง
49. ไซปรัส
48. ลักเซมเบิร์ก
47. ญี่ปุ่น
46. แอฟริกาใต้
45. ตุรกี
44. อิตาลี
43. มอลตา

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT