อินไซต์เศรษฐกิจ

ถูกเลิกจ้างต้องรู้สิทธิอะไรบ้าง นายจ้างทยอยจ่ายชดเชยเป็นงวดได้หรือไม่?

5 ก.ค. 65
ถูกเลิกจ้างต้องรู้สิทธิอะไรบ้าง นายจ้างทยอยจ่ายชดเชยเป็นงวดได้หรือไม่?

ลูกจ้างต้องรู้สิทธิตัวเองหากถูก "เลิกจ้าง" มีสิทธิได้ "เงินชดเชย-ค่าตกใจ-เงินช่วยเหลือประกันสังคม" เช็กด่วนที่นี่!

กรณีที่พนักงานบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) ถูกเลิกจ้างแบบฟ้าผ่ามีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นประเด็นร้อนทันทีเมื่อบริษัทเปิดเผยว่า จะจ่ายค่าชดเชยให้เพียง 16% ของค่าชดเชยที่พนักงานควรจะได้รับ

กรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน JSL เอง หรือพนักงานบริษัทอื่นๆ ทั่วประเทศไทย ต่างต้องรู้ว่า "เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแรงงาน เข้าข่ายการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่งพนักงานลูกจ้างสามารถ "ยื่นฟ้องศาลแรงงาน เพื่อต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรมได้" ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจริง จะไม่มีลูกจ้างอยากสู้ในชั้นศาล เพราะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานก็ตาม


เรื่องนี้มีความคืบหน้ามากขึ้นในวันนี้ (5 ก.ค. 2565) เมื่อบริษัท JSL ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่การจ่ายชดเชยแบบตามมีตามเกิด 16% แต่เป็นเพียง "การจ่ายก้อนแรก" ก่อนจะทยอยจ่ายก้อนต่อๆ ไปตามมา เพราะบริษัทมีปัญหาขาดกระแสเงินสด


ส่วนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลืออดีตพนักงาน JSL ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้มีการหารือเร่งด่วนวันนี้กับกลุ่มอดีตพนักงาน ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ส่งรองปลัดกระทรวงแรงงานเข้าไปพูดคุยแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. และมีแนวทางการแก้ปัญหาแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ


1. เรื่องการแจ้งสิทธิ และเรียกนายจ้างเข้ามาพบภายใน 7 วัน หากนายจ้างไม่มาพบ จะออกประกาศแปะที่บริษัท และแจ้งความดำเนินคดีอาญา หากตำรวจออกหมายเรียก และไม่มาพบก็จะออกหมายจับตามกระบวนการ

2. ประกันสังคมได้เข้าไปแจ้งสิทธิกับพนักงาน เรื่องกองทุนว่างงาน 180 วัน จำนวน 50% โดยทุกคนจะได้รับเงิน เนื่องจากตกงานแบบฉับพลัน

3. พล.อ.ประวิตร ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับว่าให้คัดเลือกตำแหน่งงานที่คล้ายคลึง นำไปให้พนักงานได้เลือก


ส่วนการต่อสู้ทางกฎหมาย ถ้าบริษัทเจเอสแอลฯ จะยื่นล้มละลาย นั้น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการของศาล ซึ่งกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ในการช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นฝ่ายกฎหมายจัดหาทนาย และแจ้งความดำเนินคดีให้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการของศาล


ส่วนจะได้ข้อยุติในวันนี้หรือไม่นั้น นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตามข้อกฏหมายอย่างเต็มที่ หากนายจ้างไม่มา ก็จะเข้าสู่กระบวนการแจ้งความดำเนินคดีทางอาญา และฟ้องศาล



ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีของอดีตพนักงาน JSL จะออกมาอย่างไร แต่เบื้องต้นนั้น พนักงานและคนทำงานทั่วประเทศไทย ควรรู้สิทธิที่ตัวเองจะได้รับหากถูกเลิกจ้าง ซึ่งทีมข่าว SPOTLIGHT แบ่งออกมาใน 3 ประเด็นที่น่าสนใจด้วยกัน ดังนี้

  1. ถ้าถูกเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับชดเชยอะไรบ้าง?
  2. ถูกเลิกจ้างแบบไหน ถึงไม่ได้ค่าชดเชย?
  3. บริษัทที่เลิกจ้าง สามารถ "ทยอยจ่ายเงินชดเชยเป็นงวดๆ" ได้หรือไม่?


613414


ถ้าถูกเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับชดเชยอะไรบ้าง?


1.1 ค่าชดเชยตามอายุงาน

- เมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ หรือในกรณีที่บริษัทปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน "บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชย" ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานตาม "อายุงาน" ของพนักงาน (นับตั้งแต่วันเข้าทำงานถึงวันที่ถูกเลิกจ้าง) โดยคำนวณจาก "เงินเดือน/ค่าจ้างงวดสุดท้าย" โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 อายุงานตั้งแต่ 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 30 วัน
1.2 อายุงาน 1 ปี ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 90 วัน
1.3 อายุงาน 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 180 วัน
1.4 อายุงาน 6 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 240 วัน
1.5 อายุงาน 10 ปี ไม่เกิน 20 ปี ได้รับค่าชดเชยอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 300 วัน
1.6 อายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 400 วัน


1.2 ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ)

- ในกรณีที่เลิกจ้างกระทันหัน พนักงานยังมีสิทธิได้รับ "ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า" หรือ "ค่าตกใจ" อีก 1-2 เดือน

- บริษัทจะต้องแจ้งเรื่องการเลิกจ้างล่วงหน้าภายใน 1 รอบเงินเดือน เช่น หากจ่ายเงินเดือนทุกวันที่ 30 แล้วแจ้งพนักงานเรื่องเลิกจ้างในวันที่ 30 ของเดือนว่า "พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว" กรณีนี้จะต้องจ่ายค่าตกใจ 1 เดือน

- แต่ถ้าบริษัทยังให้มาทำงานต่อในวันที่ 1 แล้วบอกเลิกจ้างวันนั้น ให้เก็บของออกจากบริษัทเลย จะต้องจ่ายค่าตกใจ 2 เดือน (เริ่มจ้างงานของเดือนใหม่ไปแล้วในวันที่ 1)


1.3 เงินทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง (ประกันสังคม)

- พนักงานยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม โดยจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท

 

2. ถูกเลิกจ้างแบบไหน ถึงไม่ได้ค่าชดเชย?


2.1 ลาออกเองโดยสมัครใจ
2.2 ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
2.3 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
2.4 ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
2.5 ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
2.6 ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
2.7 ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
2.8 สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเอาไว้




3. บริษัทที่เลิกจ้าง สามารถ "ทยอยจ่ายเงินชดเชยเป็นงวดๆ" ได้หรือไม่?


- คำตอบคือมีทั้งผ่อนได้ และผ่อนไม่ได้


3.1 "ออกข้อบังคับฝ่ายเดียว" ว่ามีการผ่อนชำระค่าชดเชย "ไม่ได้"

หลักกฎหมาย (มาตรา 5) กำหนดว่าค่าชดเชยเป็นเงินที่ต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเลิกจ้างชัดแจ้งหรือเลิกจ้างโดยปริยาย กล่าวคือมีพฤติการณ์ว่าไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อ และไม่จ่ายค่าจ้างให้

ก็มีปัญหากับนายจ้างหลายองค์กรเหมือนกันที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอาไว้ หรืออาจมีเงินแต่เมื่อเห็นยอดที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้วจะตกใจที่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง หรือในช่วงโควิดนายจ้างอาจประสบปัญหาทางการเงิน จึงเกิดไอเดียเรื่องการออกระเบียบขอผ่อนจ่ายค่าชดเชยเป็นงวด ๆ ขึ้นมา

ตามกฎหมายค่าชดเชยจ่ายวันที่เลิกจ้างและไม่สามารถผ่อนค่าชดเชยเป็นงวด ๆ ได้ มิฉะนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างจ่ายค่าชดเชย ร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 แห่ง พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ (ข้อหารือกองนิติการ ที่ รง 0505/1445 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2563)

ลูกจ้างไม่ได้ตกลงด้วย นายจ้างจะคิดเอาเองว่าลูกจ้างยินยอมแล้วไม่ได้

ประเด็นนี้เคยมีคดีที่นายจ้างได้ทำหนังสือเลิกจ้าง เมื่อคำนวณแล้วลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชย เป็นเงิน 2,428,550 บาท แต่ปรากฎว่าในหนังสือนั้นมีข้อความว่า จะจ่ายค่าชดเชยเป็นงวด ๆ ละ 54,500 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่ครบ 2,428,550 บาทตามสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับ

นายจ้างต่อสู้ต่อไปว่างวดที่เหลือลูกจ้างไม่ติดใจรับเงินค่าชดเชยแล้ว คือจะสู้ต่อว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนที่เหลือ เพราะส่วนที่เหลือเป็นการตกลงยินยอมไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ศาลก็พิพากษาว่าแม้ในหนังสือเลิกจ้างจะมีข้อความว่าจ่าย 3 งวดก็จริง แต่ก็ไม่มีข้อความส่วนใดที่ตกลงว่าไม่ต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือ หรือข้อความที่ตกลงว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครบตามกฎหมาย นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยที่เหลือแก่ลูกจ้าง (คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 1109/2561)


3.2 ถ้ามีการทำข้อตกลง "โดยลูกจ้างยินยอมด้วย" สามารถ "ทำได้"

กรณีลูกจ้างทำข้อตกลงโดยในข้อตกลงมีข้อความว่าลูกจ้างยินยอมผ่อนจ่ายค่าชดเชยก็สามารถทำได้ เพราะการตกลงผ่อนจ่ายไม่ใช่ข้อตกลงว่าไม่จ่าย และหากตกลงผ่อนชำระแล้วไม่ชำระตามที่ตกลงกันลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยนั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 15780/2555)
ข้อสังเกต

1. หนังสือเลิกจ้างเป็นหนังสือจากนายจ้างฝ่ายเดียวที่แจ้งการเลิกจ้าง แม้จะแจ้งว่ามีการผ่อน 3 งวด แต่ก็ไม่ใช่ว่าที่เหลือไม่ต้องจ่าย
2. ฝ่ายลูกจ้างก็ควรระวังเมื่อได้รับหนังสือเลิกจ้างก็ไม่ควรไปลงชื่อ หรือลงข้อความตกลงด้วย เพราะในหนังสือเลิกจ้างอาจซ่อนไว้ด้วยข้อตกลงสละสิทธิที่ลูกจ้างควรจะได้รับเงินหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย



ที่มา: เฟซบุ๊กเพจ กฎหมายแรงงาน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT