วันที่ 2 ก.ค. 2568 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติกำหนดราคาสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ รายการ "เหี้ย" เพื่อเปิดทางให้เกิดการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ
โดยก่อนหน้านี้ตัวเหี้ย มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามครอบครอง ฆ่า จำหน่าย หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อมาได้มีการแก้กฎหมายให้สามารถเพาะพันธุ์ตัวเหี้ยได้ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่แน่นอนว่าการจะเพาะพันธุ์ไม่ใช่ว่าจะเดินดุ่ม ๆ ไปจับมาได้ ผู้ประกอบการที่สนใจ จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก่อน และสามารถไปจับจองเป็นเจ้าของพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เหี้ย ได้จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ กำหนดราคาขายตัวละ 500 บาท
โดยราคาดังกล่าวมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู "เหี้ย" ที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ เปรียบเทียบกับราคางูเหลือม ซึ่งอยู่ที่ตัวละ 400 บาท และที่สำคัญคือ บวกค่าไมโครชิปอีก 100 บาท เพื่อให้มั่นใจว่า "พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หรือลูกเหี้ย" ของคุณตรวจสอบได้และถูกกฎหมายทุกตัว
สำหรับ ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย (Varanus salvator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย จนถึงอินโดจีน และเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ในประเทศไทยจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทหนึ่ง
“วงศ์เหี้ย” ในประเทศไทยมีอยู่ 4 ตระกูล คือ
1. เหี้ย
2. แลนหรือตะกวด
3. เห่าช้าง อยู่ทางภาคใต้
4. ตุ๊ดตู่
จำกันได้ไหม? ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 มีข่าวลือหนาหูว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังพิจารณาจะเปลี่ยนชื่อ "เหี้ย" ให้กลายเป็นชื่อที่ฟังดูไพเราะเพราะพริ้งว่า "วรนัส" หรือ "วรนุส" หรือ "วรนุช" มีที่มาจากคำว่า Varanus ที่เป็นชื่อภาษาละตินของเจ้าตัวเหี้ยนั่นเอง ทำเอางานเข้าคนที่ใช้ชื่อวรนุช ถูกแซวฉ่ำ เพราะคำว่าเหี้ยนอกจากเป็นชื่อสัตว์แล้ว ยังเป็นแสลงที่คนไทยนิยมใช้ในความหมายไม่ดีเท่าไหร่
หลายคนอาจสงสัยว่านอกจากจะเพาะเลี้ยงเพื่อขายแล้ว เจ้าสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้มีดีอะไรอีก วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงประโยชน์ของ "เหี้ย" ที่ไม่ได้ "เหี้ย" อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ
รู้ไหมว่า "เหี้ย" คือผู้ช่วยชั้นเยี่ยมในการรักษาสมดุลของแหล่งน้ำ ด้วยระบบย่อยอาหารที่มหัศจรรย์ กระเพาะของมันเต็มไปด้วยน้ำย่อยที่เป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียเฉพาะทางที่พร้อมจัดการซากเน่าเปื่อยได้ ทำให้มันเป็นเหมือนหน่วยกำจัดของเสียตามธรรมชาติ ช่วยให้แหล่งน้ำสะอาดขึ้นได้ด้วย
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์กินซาก แต่ "เหี้ย" ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมประชากรสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะ ไข่งูพิษ
คุณอาจไม่เคยรู้ว่า "เหี้ย" คือสัตว์เศรษฐกิจระดับโลก ในต่างประเทศ หนังของมันถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นสุดหรูอย่าง กระเป๋าและเข็มขัด ที่มีราคาสูงลิ่วไม่แพ้หนังจระเข้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ เนื้อบริเวณโคนหางที่เรียกว่า "บ้องตัน" ก็เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ ถูกรังสรรค์เป็นเมนูหรูราคาแพง ส่วนในประเทศไทยเอง เนื้อ "เหี้ย" ก็เป็นเมนูขึ้นชื่อของร้านอาหารป่ารสเด็ดหลายแห่ง
จากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบว่า เลือดของ "เหี้ย" มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ไวรัส และแบคทีเรียหลายชนิด ที่สำคัญคือ ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์
เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีอนาคตสดใส ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่ง "เหี้ย" อาจจะกลายเป็นความหวังทางการแพทย์ และสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจตัวท็อป สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศไทยก็ได้
Advertisement