จากกรณี เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2568 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศนโยบายครั้งสำคัญ เปิดโอกาสให้ "เหี้ย" หรือ ตัวเงินตัวทอง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กลายเป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ โดยอนุญาตให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเพาะพันธุ์เพื่อการค้าได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ และควบคุมประชากรเหี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในฐานะผู้ล่าระดับสูง
ซึ่งนโยบายนี้ กำหนดให้การเพาะพันธุ์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ โดยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะต้องซื้อจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมฯ ในราคาตัวละ 500 บาท พร้อมทั้งมีการฝังไมโครชิปเพื่อป้องกันการลักลอบจับจากธรรมชาติ นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังเตรียมออกระเบียบกำหนดค่าใช้จ่ายและราคาสัตว์ป่า เพื่อเพิ่มรายการเหี้ยในบัญชีอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น
ล่าสุด วันนี้ (5 ก.ค. 2568) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่ ตลาดเทศบาล 5 หรือ ตลาดประตูผี ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ริมคูเมือง พบว่า มีตัวเหี้ยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละวันจะพบตัวเหี้ยขึ้นมากินเศษอาหารและอาบแดด โดยไม่ตื่นกลัวประชาชนที่มาเดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก บางตัวมีขนาดใหญ่เท่าตัวเด็กอายุ 6-7 ขวบ
จากการสอบถาม นางพรทิพย์ อายุ 60 ปี แม่ค้าภายในตลาดประตูผี เล่าให้ฟังว่า "ตนเห็นด้วยกับนโยบายใหม่นี้ เพราะเหี้ยในพื้นที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการค้าขายในตลาดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพฤติกรรมของเหี้ยที่มักจะขึ้นมาหาอาหารในช่วงเช้า เคยมีครั้งหนึ่งที่ตนถูกเหี้ยงับเท้า ขณะที่มันพยายามจะงับนกพิราบใกล้ๆ จนได้รับบาดเจ็บ มีแผลหลายจุด แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญ นอกจากนี้ เหี้ยยังขุดรูทำลายภูมิทัศน์คูเมือง และสร้างความตกใจให้ลูกค้าที่มาเดินตลาดบ่อยครั้ง
ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาควบคุมประชากรเหี้ยอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้แม้จะมีนโยบายใหม่ แต่กฎหมายเดิมยังห้ามจับหรือฆ่าเหี้ยโดยเด็ดขาด ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีกรณีชาวต่างด้าวบางกลุ่ม ลักลอบจับเหี้ยไปกินอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งตนเห็นว่า เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขควบคู่กับการผลักดันเหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจ"
ด้าน นางสายหยุด อายุ 50 ปี แม่ค้าภายในตลาดประตูผีอีกรายกล่าวว่า ตนพบเห็นเหี้ยในตลาดเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเช้าจะมีเหี้ยขึ้นมานอนตากแดดริมทางหรือใต้โต๊ะอาหาร บางครั้งเหี้ยขึ้นมาเดินในตลาดจนลูกค้าตกใจ และเคยเห็นกรณีที่ลูกค้าเดิน "จ๊ะเอ๋" กับเหี้ยโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดความตื่นตกใจและไม่กล้าเดินผ่าน บางครั้งเหี้ยยังเข้าใจผิดว่า เท้าของลูกค้าเป็นเศษอาหาร พยายามจะเข้ากัด ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ส่วนตนเองเคยเจอเหี้ยขึ้นมาเดินบนบ้านเสียด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยของเหี้ยกับคนในพื้นที่ และทำให้การไล่เหี้ยออกจากพื้นที่ทำได้ยาก เพราะเหี้ยไม่กลัวคนอีกต่อไปแล้ว ตนจึงอยากให้มีการเข้ามาควบคุมและจัดการประชากรเหี้ยอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ เพราะในสภาพปัจจุบันที่ยังไม่มีการควบคุมที่ดี ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าโอกาสทางเศรษฐกิจ
Advertisement