ไลฟ์สไตล์

‘ครีเอเตอร์’ อาชีพมาแรง Adobe เผย 'รายได้ดี ทำแล้วมีความสุข'

9 ต.ค. 65
‘ครีเอเตอร์’ อาชีพมาแรง Adobe เผย 'รายได้ดี ทำแล้วมีความสุข'

ศิลปะ คือช่องทางสร้างความบันเทิงให้กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่อาชีพในสายงานศิลปะมักถูกตีกรอบด้วยอคติว่าเป็น ‘ศิลปินไส้แห้ง’ แต่ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ช่องทางการนำเสนอ รวมถึงรูปแบบของงานศิลปะยิ่งพัฒนาขึ้นไปเท่านั้น ส่งผลให้อาชีพ ‘ครีเอเตอร์’ หรือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในสายศิลปะ เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

 

ครีเอเตอร์ วาดรูป 



ผลสำรวจจาก Adobe เจ้าของหลากหลายโปรแกรมสายออกแบบทั้ง Photshop, Premiere, Illustrator ฯลฯ เผยว่า นอกจากจะมีครีเอเตอร์หน้าใหม่ผุดขึ้น ‘ทะลุร้อยล้านคน’ ทั้งโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว รายได้ค่าตอบแทนยังร้อนแรงแซงหลายอาชีพในตลาด เป็นอาชีพที่เติมเต็มความสุขทางใจ แถมอายุเฉลี่ยของครีเตอร์ส่วนใหญ่ ยังอยู่ที่ ‘40 ปี’ ไม่จำกัดแค่เด็กรุ่นใหม่ อย่างที่หลายคนเข้าใจอีกด้วย

 

ครีเตอร์ ศิลปิน

 

โควิด-19 ทำครีเอเตอร์หน้าใหม่ผุดขึ้นกว่า ‘165 ล้านคน’ ทั่วโลก

 

แม้ ‘โซเชียลมีเดีย’ และศิลปินผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ที่เรียกว่า ‘ครีเอเตอร์’ จะอยู่กับพวกเรามาได้พักใหญ่ๆ แล้ว แต่โควิด-19 และการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงปี 2020 คือตัวเร่งที่ทำให้ศิลปินมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และได้สร้างสรรค์ผลงานออกสู่สายตาผู้ชมบนโลกออนไลน์ ก่อกำเนิดครีเอเตอร์หน้าใหม่กว่า 165 ล้านคน จากใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สเปน, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย คิดเป็นกว่าครึ่งของจำนวนครีเอเตอร์เดิมในประเทศเหล่านี้ที่ 303 ล้านคน

โดยกว่า 40% ของครีเอเตอร์ เป็นกลุ่ม ‘Millennials หรือ Gen Y’ ที่เกิดในช่วงปี 1980 - 2000 (อายุเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 40 ปี ในปัจจุบัน) เป็นคน Gen Z เพียงไม่ถึง 20% เป็นคน Gen X ราว 30% และเป็นกลุ่ม Baby Boomer ขึ้นไปราว 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

 

 ครีเอเตอร์ ถ่ายรูป



ครีเอเตอร์สาย ‘ถ่ายภาพ - เขียนคอนเทนต์ - วาดภาพ’ มาแรง


 

ด้านช่องทางและรูปแบบงานศิลปะที่นำเสนอนั้น Adobe เผยว่า ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่มีช่องทางในการสื่อสารและเผยแพร่ผลงานเฉลี่ยคนละ 3 ช่องทาง ซึ่งผลงานในรูปแแบบ ‘ทัศนศิลป์’ หรืองานที่เป็นภาพทั้งหลาย ได้รับความนิยมสูงสุด นอกจากนี้ สามรูปแบบผลงานที่ครีเอเตอร์นิยมลงมากที่สุดได้แก่ ผลงานภาพถ่าย, งานเขียนสร้างสรรค์ และ ภาพวาดทั้งบนวัสดุจริงและบนคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ ยังมีครีเอเอตร์ที่สร้างผลงานด้วยเทคโนโลยี เช่น งานกราฟฟิกดีไซน์, NFTs, ผลงานบน AR/VR และผลงานแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือแม้แต่เกม ได้ออกมาอวดผลงานของตัวเองให้โลกออนไลน์ได้เห็น ซึ่งก็มีสัดส่วนที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับครีเอเตอร์สายศิลป์ ในแขนงอื่นๆ

 

ครีเอเตอร์ กราฟฟิก



ครีเอเตอร์รายได้แรง แซงอาชีพระดับท็อป!

ในด้านผลตอบแทนนั้น ครีเอเตอร์มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 61 ดอลลาร์ (ราว 2,284 บาท) ต่อ 1 ชม. หรือ 1.12 แสนดอลลาร์ (4.19 ล้านบาท) ต่อปีหากทำเป็นอาชีพหลัก ซึ่งในบรรดาครีเอเตอร์ทั้งหมดนั้น จะมีครีเอเตอร์อยู่ราว 14% เท่านั้นที่เข้าข่ายเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่มีเกณฑ์กำหนดว่า จะต้องมีผู้ติตามมากวว่า 5,000 คนขึ้นไป และสามารถสร้างรายได้จากโพสต์คอนเทนต์ลงบนโซเชียลมีเดียได้

รายได้ของอิลฟลูเอนเซอร์นั้นมากกว่าครีเอเตอร์ทั่วไปราว 33% โดยมีรายได้ 81 ดอลลาร์ (3,033 ดอลลาร์) ต่อ 1 ชม. คิดเป็น 1.62 แสนดอลลาร์ (6 ล้านบาท) ต่อปีหากยึดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งรายได้ระดับนี้ นับว่าสูสีกับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ 1.60 แสนดอลลาร์ (5.99 ล้านบาท), ทนายความ 1.29 แสนดอลลาร์ (4.83 ล้านบาท) และผู้สอบบัญชี 1.19 แสนดอลลาร์ (4.46 ล้านบาท)

แต่การจะเป็นครีเอเตอร์ หรือยกระดับเป็นอินฟลูเอนเซอร์นั้นอาจไม่ง่ายดั่งที่หลายคนคิด เพราะต้องใช้เวลาสั่งสมฝีมือและประสบการณ์กันไม่น้อย จากผลสำรวจพบว่า ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ 52% ยังมีประสบการณ์ไม่ถึง 2 ปี ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปีขึ้นไปนั้น มีอยู่เกินครึ่งถึง 58% โดยจะต้องโพสต์อย่างน้อยสัปดา์หละครั้ง ซึ่งฝั่งครีเอเตอร์นั้น ใช้เวลาพัฒนาคอนเทนต์เฉลี่ย 9 ชม. / สัปดาห์ ในขณะที่ฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ใช้เวลาเฉลี่ย 15 ชม. / สัปดาห์

 
 

ครีเอเตอร์ มีความสุข



อาชีพครีเอเตอร์ เติมใจ ยิ่งทำเท่าไหร่ ใจยิ่งฟู

 

โลกโซเชียล มักตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นสถานที่บ่มเพราะอาการซึมเศร้า ยิ่งผู้ใช้งานใช้เวลาไถฟีดมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเกิดความรู้สึกไม่ดีในใจมากขึ้นเท่านั้น แต่ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นจริงสำหรับครีเอเตอร์ มิหนำซ้ำ ยังให้ผลตรงกันข้ามอีกด้วย

Adobe เผยว่า ครีเอเตอร์กว่า 62% ‘อารมณ์ดี’ หรือมีอารมณ์ในด้านบวก และผลสำรวจยังเผยอีกว่า ครีเอเตอร์จากหลายประเทศที่ใช้ระยะเวลาใน 1 สัปดาห์ปั้นคอนเทนต์มากกว่า และโพสต์บ่อยกว่า จะมีความสุขมากกว่า แถมการปล่อยคอนเทนต์รายวัน ยังสร้างความสุขให้ได้เช่นเดียวกันกับการที่คอนเทนต์ของพวกเขาสร้างเงินให้พวกเขาอีกด้วย
.

 

ครีเอเตอร์ คอลลาจ
 

ผลสำรวจของ Adobe ในครั้งนี้ คงพอจะทำให้ทัศนคติต่อคนในแวดวงศิลปะว่าเป็น ‘ศิลปินไส้แห้ง’ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และทำให้เหล่านักสร้างสรรค์ผลงาน พอจะมองเห็นช่องทางในการนำผลงานของตัวเอง มาสร้างความสุขให้กับผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย และโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ผลสำรวจนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงที่เราเข้าสู่ยุค Post-Covid ได้ไม่นาน ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า ‘Creator Economy’ ที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ จะกลายเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่ ในภายภาคหน้าหรือเปล่า

 

ที่มา : Adobe

advertisement

SPOTLIGHT