การเงิน

เก็บภาษี ‘ลงทุนหุ้นนอก’ สะเทือนรายย่อย ความมั่งคั่งลดลง

19 ก.ย. 66
เก็บภาษี ‘ลงทุนหุ้นนอก’ สะเทือนรายย่อย  ความมั่งคั่งลดลง
ไฮไลท์ Highlight

“หากกรมสรรพากรมีการเรียกเก็บภาษีจากเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กลุ่มคนที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุด คือ นักลงทุนรายย่อยมากกว่า นักลงทุนรายใหญ่ๆ ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย”

จากกรณีที่มีคำสั่งของกรมสรรพากรที่กำหนดให้ผู้มีรายได้จากต่างประเทศต้องนำเงินได้พึงประเมินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดานั้น จะกระทบกับนักลงทุนไทยอย่างไร? ผลกระทบจะมีในวงกว้างแค่ไหน? นักลงทุนไทยที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศมองว่าอย่างไร?

โดยกรมสรรพากรเองได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่มาที่ไปในการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ แล้วว่า กรมสรรพากรจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับการพิสูจน์การมีเงินได้และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษี จากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมากแล้ว 

เนื่องจากปัจจุบันได้มีการพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและการลงทุนอย่างมากประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีว่า ด้วยการให้ความช่วยเหลือ  ด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS) 

SPOTLIGHT จะพามาพบกับมุมมองของนักลงทุนไทยที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศว่า มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก ที่นักลงทุนไทยนิยมใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนต่างประเทศ ได้เผยกับ SPOTLIGHT ว่า เม็ดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศปี 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มมากถึง 19.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มียอดคงอยู่ที่ 9.22 หมื่นล้านดอลลารสหรัฐ เนื่องจากคนไทยได้แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวย 

ส่วนปี 2565 คาดการณ์ว่า เม็ดเงินลงทุนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จะมียอดคงค้างอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว เพราะผลตอบแทนในหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากได้ลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและสูง รวมถึงเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี เช่น Apple Google และการลงทุนในหุ้นต่างประเทศถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอีกด้วย 

“ในความเห็นส่วนตัวมองว่า นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ต้องมีพอร์ตลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อย 10% และการลงทุนในต่างประเทศก็มีความเสี่ยง ทั้งงอัตราแลกเปลี่ยนและผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนอยู่แล้ว” นายตราวุทธิ์ เผย

ภาพรวมแล้ว แนวทางที่สรรพากรนำมาใช้ เพื่อจัดเก็บภาษีรายได้ในต่างประเทศส่วนนี้เพิ่มเติม ก็เพราะคิดว่า บุคคลที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้นั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ทำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว

โดยปัจจุบันนี้ นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศได้แล้ว ด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น

“หากกรมสรรพากรมีการเรียกเก็บภาษีจากเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กลุ่มคนที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุด คือ นักลงทุนรายย่อยมากกว่า นักลงทุนรายใหญ่ๆ ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย”

เก็บภาษีหุ้นนอก ผลเสียมากกว่าผลดี

ผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าว มีข้อดี คือ รัฐบาลจะได้จัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น แต่ผลเสีย จะมีมากกว่าเพราะจะเป็นการปิดโอกาสการลงทุนของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการความมั่งคั่งให้กับตัวเอง เพราะนักลงทุนก็จะนำเงินกลับเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

โบรกเกอร์อาจได้ค่าธรรมเนียมลดลง กระทบการจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้ นักลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยนั้น เวลาลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ต้องดำเนินการผ่านโบรกเกอร์ในประเทศ ซึ่งโบรกเกอร์ก็จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น ซึ่งในแต่ละปีโบรกเกอร์เหล่านี้ก็ต้องเสียภาษีให้กับภาครัฐทุกปี เมื่อนักลงทุนมีการลงทุนหุ้นต่างประเทศน้อยลง รายได้ค่าธรรมเนียมตรงนี้ก็จะหายไป เมื่อโบรกเกอร์มีรายได้ลดลง ภาครัฐเองก็จะมีรายได้จากภาษีจากตรงนี้น้อยลงเช่นกัน

“จิตตะ” เสนอภาครัฐต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจน  

แนวทางปฏิบัติในการคิดภาษีในส่วนของการลงทุนในหุ้นยังต้องมีความชัดเจนอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะแตกต่างจากการมีรายได้อื่นๆ เช่น จากการทำงาน หรือ การมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะหุ้นเป็นทรัพย์สินเสี่ยง มีโอกาสขาดทุนหรือมีกำไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนการทำธุรกรรมการซื้อขายที่เยอะกว่า  ทำให้การคิดภาษีมีความซับซ้อนสูง สร้างความสับสนในการปฏิบัติต่อนักลงทุน

ดังนั้น ถ้าหากจะต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราลงทุนต่างประเทศ ปีแรกมีกำไรแล้วนำเงินเข้ามา เสียภาษีไปแล้ว อีกปีนำเงินไปลงทุนต่อ แต่กลับขาดทุนหนัก แต่ขอภาษีตอนกำไรคืนก็ไม่ได้ แบบนี้ก็ยิ่งทำให้ในระยะยาวแล้ว นักลงทุนจะยิ่งขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครอยากจะไปลงทุนในต่างประเทศอีกเลย

หรือในกรณีมีการนำเงินไปลงทุนในพอร์ตการลงทุน 2 พอร์ต ที่จีนและที่อเมริกา ถ้าพอร์ตที่อเมริกากำไร แต่พอร์ตที่จีนขาดทุน แล้วนำเงินกลับมา เมื่อทำการคิดภาษีเฉพาะพอร์ตที่กำไร ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุน

"การจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ควรที่จะมีเกณฑ์ที่ชัดเจน และต้องมีการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เช่น ถ้าเราไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ มีกำไร แล้วเอาเงินกลับเข้ามาเสียภาษี แต่เงินที่ลงทุนในหุ้นจีนแล้วขาดทุน ตรงจุดนี้ ภาครัฐจะมีการเข้ามาซัพพอร์ตอะไรให้บ้าง หรือไปลงทุนกำไรนำเงินกลับเสียภาษี และบางช่วงที่ขาดทุนแล้วนำเงินกลับเข้ามา ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือตรงจุดนี้หรือไม่" 

รวมถึง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีไปแล้ว และนักลงทุนนำเงินเข้ามาในไทยจะต้องเสียอีกหรือไม่ แนวทางสำหรับปฎิบัติตรงจุดนี้มองว่า ต้องมีความชัดเจน ปฎิบัติ และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งหากภาครัฐจะจัดเก็บจริงๆ 

เสนอลงทุนหุ้นต่างประเทศควรยกเว้นจัดเก็บภาษี

ในประเด็นของความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนนั้น เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษี capital gain tax ดังนั้น ส่วนตัวจึงคิดว่า การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็ควรจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะตรงกับที่ทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจงล่าสุดว่า ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นภาษีภายในประเทศจัดเก็บแบบไหน ก็ควรจะนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ดีจากทั่วโลกได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงทุนได้กำไร นักลงทุนก็จะนำเงินกำไรที่ได้จากต่างประเทศกลับมาใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนต่อไป น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะจัดเก็บภาษีจากกำไรตั้งแต่ต้น

นักลงทุนมีความกังวล รอความชัดเจน 

ขณะนี้ก็มีนักลงทุนสอบถามถึงเรื่องนี้จำนวนมาก จึงอยากให้ภาครัฐมีความชัดเจน และอยากให้นักลงทุนรอดูความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน ซึ่งเรื่องนี้คิดว่า กรมสรรพากรจะมีการหารือกับผู้ทีเกี่ยวข้อง และคาดว่าเรื่องการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นต่างประเทศคงต้องใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนาน เพราะมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก 

“ ผมยินดีเป็นอย่างมากที่จะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) เสนอแนะปัญหาและข้อกังวลร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมให้มากที่สุดต่อนักลงทุนทุกคน ในฐานะจากประสบการณ์ที่เป็นนักลงทุน ผู้สร้างเทคโนโลยีการลงทุน และการได้คลุกคลีอยู่กับนักลงทุนรายย่อยที่ได้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวนมาก”

แหล่งข่าวจากนักลงทุนส่วนบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเงิน การลงทุน กล่าวกับ "SPOTLIGHT" ว่า แนวทางการเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมาก อยู่ระหว่างปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับเงินลงทุนในต่างประเทศดี ควรจะนำกลับเข้ามาก่อน แล้วค่อยนำไปลงทุนใหม่ในปีหน้าหรือไม่ อย่างไร

เรื่องนี้คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ภาครัฐอย่างกรมสรรพากร จะกำหนดทิศทางอย่างไรกับรายได้จากเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกำไรจากการซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ที่นักลงทุนไทยไปลงทุนค่อนข้างมาก จากอัตราผลตอบแทนที่สูง และหุ้นที่มีความน่าสนใจ และให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นไทยทุกวันนี้ ที่มีหุ้นระดับ 700-800 บริษัทเท่านั้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT