Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แมลงกินได้ โอกาสทองส่งออกไทยในยุคโปรตีนยั่งยืน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

แมลงกินได้ โอกาสทองส่งออกไทยในยุคโปรตีนยั่งยืน

12 พ.ค. 68
14:08 น.
แชร์

อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังมองหาแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืนและแนวทางหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยก็คือ แมลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (Kasikorn Research Center) ชี้การคาดการณ์การเติบโตของตลาดแมลงกินได้ว่าจะเพิ่มสูงถึง 25.1% ระหว่างปี 2025-2030

ทำไมแมลงมาแรง

กระทบสิ่งแวดล้อมน้อย

ตลาดแมลงกินได้มีแนวโน้มเติบโตสูงจากกระแสความยั่งยืนที่โลกกำลังสนใจ เนื่องจากกระบวนการผลิตแมลงกินได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการปศุสัตว์แบบเดิม การผลิตโปรตีนจากแมลง 1 กิโลกรัมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 กิโลกรัม และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) น้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบเดิมถึง 27-40 เท่า

นอกจากนี้การทำฟาร์มแมลงกินได้ยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบเดิมมาก ทั้งพื้นที่ ปริมาณน้ำ และอาหาร น้อยกว่าปศุสัตว์แบบดั้งเดิมราว 5-13 เท่าในการผลิตโปรตีนปริมาณเท่ากัน

การปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7.1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือประมาณ 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

โปรตีนสูง

แมลงเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีวิตามินหลายชนิด และกรดอะมิโนที่ดีสำหรับร่างกายมนุษย์ หากเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงอาหารเป็นโปรตีน จิ้งหรีดมีโปรตีนมากกว่าเนื้อวัว 6 เท่า มากกว่าแกะ 4 เท่า และมากกว่าหมูและไก่เนื้อ 2 เท่า

การบริโภคโปรตีนจากแมลงบริโภคหลายวิธี หลายพื้นที่ อย่างประเทศไทยกินแมลงกินได้ทั้งตัว แต่ส่วนมากในตลาดโลกนิยมบริโภคโปรตีนจากแมลงในรูปแบบแปรรูป เช่น แป้งจากแมลง โปรตีนผงจากแมลง โปรตีนบาร์ นมทางเลือกจากแมลง และอื่นๆ

แมลงทนร้อน

นอกจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อากาศที่ร้อนขึ้นก็ส่งผลดีต่อการเพาะเลี้ยงแมลงมากขึ้น ในขณะที่การปศุสัตว์แบบเดิมเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต และลดการผลิต เช่น เนื้อไก่ น้ำนมวัวมากขึ้นถึง 38%

ในขณะเดียวกันแมลงมีความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิสูงขึ้นได้ดีกว่า อีกทั้งยังเร่งการเจริญเติบโตของแมลงบางชนิดได้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกก็ส่งผลเสียต่อการเติบโต และความหลากหลายของแมลงบางชนิด เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว

แมลงกินได้ในตลาดโลก

ตลาดแมลงกินได้ในโลกเมื่อปี 2024 มีมูลค่า 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การผลิตและบริโภคแมลงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตสูงถึง 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033 โดยสายพันธุ์แมลงที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมที่สุดคือ จิ้งหรีด และแมลงวันทหารเสือ

ภูมิภาคที่มีการเติบโตในตลาดนี้มากที่สุดคือ เอเชียแปซิฟิก มีการบริโภคแมลงกินได้กว่า 50 ชนิด สายพันธุ์แมลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ดักแด้ไหม หนอนไม้ไผ่ ตั๊กแตน ด้วง จิ้งหรีด และมดแดง โดยในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภคแมลงกินได้รายใหญ่ที่สุดของโลก


โอกาสส่งออกไทย

ประเทศไทยมีการส่งออกแมลงใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็น 6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือ 5.86 แสนดอลลาร์สหรัฐ ประเทศปลายทางหลักคือสหรัฐอเมริกา ไทยมีองค์ความรู้พื้นบ้านในการจับและเลี้ยงแมลงหลายชนิด สามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ ต้นทุนการลงทุนเบื้องต้นของฟาร์มขนาดพื้นฐานในการเลี้ยงแมลง อย่างจิ้งหรีดมีราคาไม่สูงมาก ราว 45,000–75,000 บาท และสร้างกำไรได้ราว 9,600–37,000 บาทต่อปีจากการจำหน่ายแมลงสด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ไทยมีความสามารถขยายตลาดการส่งออกแมลงกินได้มากขึ้น จากกระแสสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีความท้าทายบางประการอยู่อย่างเช่น ความไม่คุ้นเคยและความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค

แหล่งที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



แชร์
แมลงกินได้ โอกาสทองส่งออกไทยในยุคโปรตีนยั่งยืน