การเงิน

สินเชื่อแบงก์ไทย Q1/66 ชะลอลง กสิกรคาดส่วนต่างดอกเบี้ยขยับขึ้น

17 เม.ย. 66
สินเชื่อแบงก์ไทย Q1/66 ชะลอลง กสิกรคาดส่วนต่างดอกเบี้ยขยับขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจแนวโน้มดูดีขึ้น จากการเปิดประเทศ เปิดรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เรามองภาพว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แต่สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2566  โดยเฉพาะสินเชื่อมีภาพที่แตกต่างจากไป เนื่องจากจะได้รับแรงกดดันจากการทยอยรับชำระคืนสินเชื่อทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่ลูกหนี้จะทยอยจ่ายคืนหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ขณะที่ตลาดหุ้นกู้เอง ก็สะท้อนว่า ภาคธุรกิจมีการออกหุ้นกู้มากขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน และนำเงินมาชำระคืนสินเชื่อในช่วงจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารทยอยปรับขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การเติบโตของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยในไตรมาส 1/2566 อาจชะลอลงมาที่ 1.9-2.03% เทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่ 2.7%

แม้ว่าสินเชื่อจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อยังคงขยับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยในไตรมาส 1/2566 ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง คือ 1.ต้นปี 2566 ปรับขึ้นอัตราเงินกู้ทุกประเภท 0.40% ตามการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู้และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เข้าสู่ระดับปกติ และ 2.รอบหลังการกรประชุม กนง. (25 ม.ค.2566) โดยธนาคารส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.10-0.20% น้อยกว่าดอกเบี้ยโนยบายที่ขยับขึ้น 0.25% ต่อปี

โดยคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(Net Interest Margin : NIM) ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 3.05-3.17% เมื่อเทียบกับ 3.03% ในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากยังมีสินเชื่อคงค้างประมาณ 67.5% ของพอร์ตสินเชื่อระบบแบงก์ไทย และคาดว่า NIM มีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่าระดับ 3.20% ในไตรมาส 2/2566 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 0.25% และน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหลังรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 31 พ.ค.2566

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อจะมีสัญญาณการฟื้นตัว NIM ปรับตัวดีขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาของคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอาจเป็นการสร้างแรงกดดัน หรือเป็นการสร้างภาระให้กับลูกหนี้บางกลุ่ม เช่น ลูกหนี้รายย่อย หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมถึงลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน

โดยในไตรมาส 1/2566 สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือเรียกง่ายๆ ว่า หนี้เสีย ของระบบธนาคารพาณิชย์ (แบงก์ไทย 17 แห่งและสาขาธนาคารต่างชาติ 11 แห่ง) ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว 2.70-2.75% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2566 ใกล้เคียงกับ 2.73% ในไตรมาส 4/2565 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในไตรมาส 1/2566 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิยู่ที่ระดับ 5.45-5.70 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่า ภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยฟื้นตัวแบบระมัดระวัง เนื่องจากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอยู่บนความเสี่ยงหลายด้าน อาจทำให้สถาบันการเงินยังคงต้องตั้งสำรองอย่างรอบคอบและระมัดระวังอยู่

เพราะฉะนั้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยที่ขึ้น แต่ในอีกมุม อาจทำให้ลูกหนี้มีภาระเพิ่มขึ้น และไม่สามารถจ่ายหนี้ จนเป็นหนี้เสียได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นลูกโซ่ไปถึงความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคตได้ คงต้องสร้าง balabce ให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับทุกๆ ฝ่าย

advertisement

SPOTLIGHT