ข่าวเศรษฐกิจ

อัตราเกิดโลกตกต่ำ 123 ประเทศเด็กเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ เกาหลีใต้ต่ำสุด ไทยอยู่อันดับที่ 18

1 ม.ค. 67
อัตราเกิดโลกตกต่ำ 123 ประเทศเด็กเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ เกาหลีใต้ต่ำสุด ไทยอยู่อันดับที่ 18

ปี 2023 อัตราเกิดของเด็กยังมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง พบ 123 ประเทศมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าเกณฑ์ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด เสี่ยงประชากรลด ขาดแรงงานอายุน้อยดำเนินเศรษฐกิจในอนาคต

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) อัตราการเกิด (birth rate) ของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 17.464 คนต่อประชากร 1,000 คน ลดลง 1.15% จากปีก่อนหน้า และลดลง 16.9% จากปี 2003 หรือ 20 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 21.017 คน ขณะอัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) ของโลก หรือ จำนวนบุตรเกิดที่รอดชีวิตโดยเฉลี่ยต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์ 1 คน (อายุ 15 – 49 ปี) อยู่ที่ 2.3118 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน จาก 2.6 คนในปี 2003

ข้อมูลนี้สะท้อนเทรนด์การเกิดที่ลดลงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูงและปานกลางค่อนไปทางสูง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงประเทศไทย ที่ประชาชนส่วนมากมีรายได้และค่าครองชีพค่อยไปทางสูง ผู้หญิงมีการศึกษา เข้าร่วมตลาดแรงงานได้เต็มที่ มีอิสระทางการเงิน และสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยและการคุมกำเนิดได้อย่างสะดวก 

ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศรวมไปถึงประเทศไทยเริ่มมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโนที่จะลดจำนวนลงในอนาคตหากอัตราเกิดต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตมาก และในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และประเทศยุโรป เช่น อิตาลี ตุรกี โปรตุเกส ก็เริ่มมีจำนวนประชากรลดลงแล้ว

 

123 ประเทศอัตราเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกาหลีใต้ต่ำสุด

ในปี 2023 มีถึง 123 ประเทศ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ทดแทน (replacement fertility level) หรือ อัตราเจริญพันธุ์ระดับที่สตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะให้กําเนิดบุตรเพียงพอที่จะทดแทนตนเองและคู่สมรส ซึ่งอยู่ที่ 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน

ในปัจจุบัน ประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1) เกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 0.8831 คน 2) หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0277 คน 3) แซ็ง-บาร์เตเลมี ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0277 คน 4) สิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0426 คน และ 5) อันดอร์รา ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.145 คน ส่วนทางด้านของ ‘ประเทศไทย’ อยู่ที่อันดับที่ 18 ด้วยอัตราการเจริญพันธุ์ที่ 1.3158 คน 

จากข้อมูลของ UN ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ทดแทนมาตั้งแต่ปี 1992 หรือประมาณ 32 ปีมาแล้ว แต่อัตราการเกิดของไทยเริ่มน้อยกว่าอัตราเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในปี 2021 โดยในปีดังกล่าว ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน ในขณะที่ปี 2020 ประเทศยังมีการเกิดมากกว่าการตายอยู่ถึง 85,930 คน และเลวร้ายลงในปี 2022 ที่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด 93,858 คน

 

UN คาดประชากรโลกเสียชีวิตมากกว่าเกิดในปี 2086

ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศยากจนยังมีอัตราการเกิดและอัตราเจริญพันธุ์ในระดับที่สูง ทำให้โดยรวมแล้วประชากรโลกยังมีการเกิดมากกว่าการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเทรนด์นี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศที่กำลังพัฒนาในที่สุดก็จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจจนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและค่านิยมในการสร้างครอบครัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว 

โดยจากการคาดการณ์ของ UN อัตราการเกิดโดยรวมในโลกจะเริ่มน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2086 หรืออีก 62 ปีข้างหน้า โดยจะมีการเกิดประมาณ 118.98 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 119.21 ล้านคน และดำเนินไปในทางตรงข้ามกันเรื่อยๆ ในอนาคต

ส่วนในประเทศไทย ได้มีการศึกษาเพื่อคาดการณ์อัตราเจริญพันธุ์และจำนวนประชากรของไทยในอนาคตหลายชิ้น โดยในงานวิจัยหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2023-2083 อัตราเจริญพันธ์ุ์ของไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ เหลือ 0.7 ในปี 2050 ใกล้เคียงกับภาวะเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน และลดลงเหลือ 0.5 ในปี 2083

และจากการคาดการณ์ดังกล่าว ในปี 2023-2083 จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนเหลือเพียง 33 ล้านคน มีจำนวนประชากรวัยแรงงาน (อายุ15-64 ปี) ลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือเพียง 14 ล้านคน และประชากรผู้สูงวัย (อายุ 65 ขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนไปเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ

 

การลดลงของประชากรจะส่งผลอย่างไรบ้าง?

การลดลงของประชากรจะส่งผลกระทบชัดเจนในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรคือแรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจในทุกที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหลักที่ใช้แรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง และจะทำให้ภาครัฐมีรายได้และงบประมาณลดลงในการนำมาพัฒนาประเทศ เพราะจำนวนผู้เสียภาษีจะลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ การลดลงของประชากรยังส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ ทำให้หากประชากรลดลงไปเรื่อยๆ ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น อสังหาริมทรัพย์ อาหาร และบริการต่างๆ ก็จะมีรายได้ลดลง เพราะดีมานด์ลด ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาดได้ในปริมาณเท่าเดิมได้

ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรนี้จะทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุส่วนมากไม่มีลูกหลานคอยดูแลในยามบั้นปลาย ทำให้หากประเทศนั้นๆ ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากพอ ประชากรสูงอายุอาจจะได้เกษียณอายุการทำงานช้ากว่าเดิม เพราะต้องหารายได้เลี้ยงชีพ เกิดปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งไม่มีคนดูแล รวมไปถึงเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพราะผู้สูงอายุขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุก็เป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ยา อุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมไปถึงบริการและกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันไทยมีครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” ในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยในปี 2018  นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 37.4% ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มจาก 26.1% ในปี 2006 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 43.3% ทำให้ถือได้ว่าประเทศไทยกำลังเจอความท้าทายจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างระบบสวัสดิการเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

 

 

อ้างอิง: CU, Macro Trends, Our World in Data, Database Earth

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT