รัฐบาลญี่ปุ่นเผย จำนวนประชากรเด็กของญี่ปุ่นลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เด็กอายุ 14 ปีหรือต่ำกว่า มีสัดส่วนไม่ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรญี่ปุ่น นับเป็นการลดต่อเนื่องกว่า 44 ปีแล้ว สะท้อนวิกฤตด้านประชากรของญี่ปุ่น ที่อัตราการเกิดลดลงแต่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่เผยแพร่ก่อนถึงวันเด็กของญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนเด็กอายุ 14 ปีหรือต่ำกว่ามีอยู่ที่ 13.66 ล้านคน ลดลง 350,000 คนจากปีก่อน
ประเทศญี่ปุ่นมีปรชากร 123.4 ล้านคน ทำให้จำนวนเด็กอายุ 14 ปีหรือต่ำกว่ามีสัดส่วนเพียง 11.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า สัดส่วนของเด็กต่อประชากรในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 21.7% ในปี 2023 และในจีนอยู่ที่ 17.1% ในปี 2024 ตามข้อมูลจากรัฐบาลแต่ละประเทศ
วิกฤตประชากรเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุดของญี่ปุ่น หลายศตวรรษที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตในญี่ปุ่นแซงหน้าอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้จำนวนประชากรลดลง ส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจ สวัสดิการ และโครงสร้างสังคมของประเทศ
ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นปี 2024 ชี้ว่า ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิต 1.62 ล้านคน หรือมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ 2 เท่า
อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิง 1 คนจะมีตลอดชีวิตก็ลดลงเช่นกัน โดยยังอยู่ที่ประมาณ 1.3 มาหลายปีแล้ว ซึ่งต่ำกว่าระดับ 2.1 อันเป็นระดับที่ช่วยรักษาประชากรให้คงที่ และโลกมีอัตราการเจริญพันธ์เฉลี่ยราว 2.3 ในปี 2023
ทาคูมิ ฟูจินามิ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute) ชี้ว่า นอกจากอัตราการเกิดที่ลดลงแล้ว อัตราการแต่งงานที่ลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อปีที่แล้ว จำนวนการแต่งงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ประมาณ 10,000 คู่ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีอัตราการเกิดของเด็กนอกสมรสเพียงไม่กี่คนจากเด็กทุกๆ 100 คนอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แนวโน้มการลดลงของประชากรญี่ปุ่น จะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ และไม่สามารถแก้ไขได้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากโครงสร้างประชากรของประเทศ ญี่ปุ่นถือเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ซึ่งหมายถึงประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยจำนวนประชากรรวมของประเทศในปี 2024 อยู่ที่ 123.4 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือประมาณ 88 ล้านคนภายในปี 2065
บทความ “The Mystery of Why Japanese People Are Having So Few Babies” จาก The Atlantic วิเคราะห์สาเหตุที่อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นประเด็นสำคัญดังนี้:
แม้ญี่ปุ่นจะมีอัตราการว่างงานต่ำ แต่การจ้างงานที่ไม่มั่นคงกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานญี่ปุ่นเป็นพนักงานชั่วคราวหรือพาร์ทไทม์ ซึ่งมีรายได้ต่ำและไม่มีสวัสดิการที่มั่นคง สถานการณ์นี้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกไม่พร้อมที่จะแต่งงานหรือมีบุตร เนื่องจากไม่สามารถรับผิดชอบภาระทางการเงินของครอบครัวได้
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ยังคงมีความคาดหวังว่า ผู้ชายจะต้องเป็นผู้นำครอบครัวและเป็นผู้หารายได้หลัก เมื่อผู้ชายไม่สามารถตอบสนองบทบาทนี้ได้ จึงหลีกเลี่ยงการแต่งงานและการมีบุตร ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นก็เผชิญกับความยากลำบากในการบาลานซ์ระหว่างงานและครอบครัว เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านนโยบายองค์กรที่เอื้อให้ผู้หญิงมีครอบครัวและทำงานไปด้วยได้ บทความชี้ว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นราว 70 เปอร์เซ็นต์ลาอกจากงานหลังมีลูกคนแรก
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงานเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแบบชั่วคราวและสัญญาจ้างผ่านบริษัทจัดหางาน ทำให้จำนวนพนักงานประจำลดลง ขณะที่พนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น กฎหมายใหม่ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่มีเส้นทางอาชีพที่มั่นคง และรู้สึกไม่มั่นใจที่จะสร้างครอบครัว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร โดยจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มอัตราการเกิดและส่งเสริมการแต่งงาน รวมถึงริเริ่มมาตรการต่าง ๆ เช่น การขยายศูนย์รับเลี้ยงเด็ก การให้เงินสนับสนุนที่อยู่อาศัยแก่ผู้ปกครองเด็กอายุ 0-15 ปี และในบางเมืองยังมีการจ่ายเงินให้คู่รักที่มีบุตรหรือสนับสนุนของใช้เด็ฏอย่าง อาหารเด็ก ผ้าอ้อม การสนับสนุนทางการแพทย์สำหรับเด็ก และอาหารกลางวันอีกด้วย
ตัวอย่างการสนับสนุนของรัฐบาลต่อประเด็นดังกล่าวเช่น เดือนธันวาคมปี 2024 รัฐบาลกรุงโตเกียวเตรียมเปิดตัวระบบการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์สำหรับข้าราชการ เพื่อช่วยเหลือแม่ที่ทำงานไปด้วย หวังกระตุ้นอัตราการเกิด
นอกจากนี้รัฐบาลกรุงโตเกียวยังเปิดตัวแอปพลิเคชัน Tokyo Enmusubi แอปพลิเคชันหาคู่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการจับคู่คนที่จริงจังกับการแต่งงาน โดยอิงจากค่านิยมและทัศนคติของแต่ละคน ผู้ใช้งานต้องยืนยันตัวตนด้วยเอกสาร เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานรายได้ และใบรับรองสถานะโสด รวมถึงการสัมภาษณ์ออนไลน์ รวมถึงเสียค่าธรรมเนีม 11,000 เยน (ราว 2,500 บาท) สำหรับการใช้งานสองปี
ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ต่างก็เผชิญกับปัญหาประชากรลดลงเช่นกัน เช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรป เช่น สเปนและอิตาลี อย่างไรก็ตาม ประเทศในยุโรปโดยทั่วไปเปิดรับผู้อพยพมากกว่า เพื่อชะลอการสูงวัยของสังคม
จีน ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีประชากรลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สามในปี 2024 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ ขณะที่อินเดียได้แซงหน้าจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดแล้ว