ข่าวเศรษฐกิจ

ข้าวไทยส่งออกพุ่งแตะ 22,300 บาท/ ตัน เกือบสูงสุดใน 15 ปี เหตุข้าวขาดตลาด

30 พ.ย. 66
ข้าวไทยส่งออกพุ่งแตะ 22,300 บาท/ ตัน เกือบสูงสุดใน 15 ปี เหตุข้าวขาดตลาด

ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาข้าวของเอเชีย พุ่งขึ้นไปแตะ 640 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 22,528 บาทต่อตัน เกือบสูงสุดในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ 2008 หลังข้าวเริ่มขาดตลาดจากการที่อินเดียหยุดส่งออกข้าว และเวียดนามเริ่มมีสต็อกสินค้าลดลงจนไม่พอจำหน่าย

ในปัจจุบัน ข้าวเป็นสินค้าหนึ่งที่กำลังมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุปทานที่ลดลง หลังจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้ออกมาประกาศหยุดส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพราะต้องการกักตุนข้าวไว้สำหรับคนในประเทศ และตรึงราคาข้าวที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตลดลง

การหยุดส่งออกข้าวของอินเดียทำให้ราคาขายและส่งออกข้าวของทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และเป็นโอกาสให้ประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ เช่น ประเทศไทย และเวียดนาม ส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีประเทศที่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่คู่ค้าข้าวสำคัญ อย่างบราซิลและฟิลิปปินส์ เข้ามาติดต่อซื้อข้าว ทำให้เราขายข้าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังช่วยให้มูลค่าส่งออกข้าวของไทยสูงขึ้น

โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งข้าวไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม และมีมูลค่าการส่งออก และอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดังนี้

  • เดือนกรกฎาคม มูลค่าการส่งออก 11,890.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.13% จากเดือนก่อนหน้า
  • เดือนสิงหาคม มูลค่าการส่งออก 12,953.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.94% จากเดือนก่อนหน้า
  • เดือนกันยายน มูลค่าการส่งออก 17,219.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.94% จากเดือนก่อนหน้า
  • เดือนตุลาคม มูลค่าการส่งออก 18,700.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.60% จากเดือนก่อนหน้า

 

ผลผลิตข้าวไทยเสี่ยงลดลงปี 67-68 จากเอลนีโญ

ทั้งนี้ แม้ไทยจะกำลังได้ประโยชน์จากการที่ราคาข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ผลประโยชน์นี้อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี 2024-2025 มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในไทยจะลดลงประมาณ 6% จากภาวะเอลนีโญที่ทำให้อากาศแห้งแล้ง มีน้ำไม่พอสำหรับข้าวที่ต้องการน้ำมาก ทำให้เรามีสต็อกเพื่อส่งออกลดลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของโลกยังมีแนวโน้มสูงที่จะหยุดการส่งออกข้าวไปจนถึงปีหน้า เพราะนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ต้องการที่จะตรึงราคาข้าวเพื่อเอาใจประชาชนในประเทศ และหาเสียงสนับสนุนสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

สภาวการณ์นี้ทำให้มีผู้คาดการณ์ว่าในปีหน้าราคาข้าวอาจพุ่งสูงขึ้นอีกจากอุปทานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ยังคงที่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ในปัจจุบัน ข้าวเป็นอาหารหลักของคนหลายพันล้านคนทั่วโลก และคิดเป็น 60% ของปริมาณแคลลอรี่ทั้งหมดที่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาบริโภคในแต่ละปี ทำให้หากเกิดการขาดแคลนข้าว ประชาชนในภูมิภาคนี้จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

 

ที่มา: Bloomberg

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT