ข่าวเศรษฐกิจ

ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

15 ก.ย. 66
ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่  จากนักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไฮไลท์ Highlight
"อยากเห็นรัฐบาลรักษาสมดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการลงทุนในระยะยาว อยากให้หนีจากกับดักระยะสั้น เกลี่ยน้ำหนักอย่าประชานิยมมากเกินไป เข้าใจว่าเป็นการเมือง แต่ถ้าทุกอย่างเป็นนโยบายระยะสั้น ผลก็จะจบอยู่แค่นั้น" รศ.ดร.อาชนัน กล่าว

หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา เสร็จสิ้นลง เราคงได้เห็นการเดินหน้าทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่กันแล้ว เริ่มจากมติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ก็มีมาตรการลดค่าครองชีพออกมาให้ประชาชนหลายส่วน และจากนี้นโยบายต่างๆที่ได้แถลงต่อรัฐสภาก็จะค่อยๆถูกปล่อยออกมาตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายจับตาคือ เงินดิจิทัล 10,000 บาทซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ." เพื่อร่วมกันเสนอแนะถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะสั้น 1 ปีจากนี้และ  สิ่งที่อยากจะเห็นประเทศไทยในอีก 4 ปี เป็นอย่างไร โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ ในหลากมิติมาร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) ผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE) ผศ.ชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green)

ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ."

ขอเริ่มที่ภาคเศรษฐกิจและพลังงานซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวคนไทยอย่างมาก  รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเสียหายจากโควิด 19 ค่อนข้างมาก และปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ที่ผ่านมาจะมีการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องถอดบทเรียนในอดีต "เข้าใจโจทย์" มุ่งไปการฟื้นเศรษฐกิจจากความเสียหายช่วงโควิด-19 "ต่อยอดสิ่งที่มี" โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และ "ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป" 

"อยากเห็นรัฐบาลรักษาสมดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการลงทุนในระยะยาว อยากให้หนีจากกับดักระยะสั้น เกลี่ยน้ำหนักอย่าประชานิยมมากเกินไป เข้าใจว่าเป็นการเมือง แต่ถ้าทุกอย่างเป็นนโยบายระยะสั้น ผลก็จะจบอยู่แค่นั้น" รศ.ดร.อาชนัน กล่าว

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้

  1. หากจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ อย่างนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง คาดว่าผลที่ได้รับอาจไม่มาก และไม่ยั่งยืน เพราะประเมินเงินหมุนเวียนในระบบ (Multipliers) น่าจะต่ำกว่า 3 เท่า

  2. ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ดังนั้นควรมียุทธศาสตร์แยกระหว่าง FTA ที่ลงนามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และ FTA ที่ลงนามกับประเทศกำลังพัฒนา

  3. วาง Position ของประเทศไทยให้เหมาะสม ท่ามกลางกระแสการแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต (Decoupling) เพื่อให้ไทยไดประโยชน์จาก Decoupling และต้องสร้าง Eco-system การลงทุนให้เหมาะสมเพื่อดึงดูดเม็ดเงินที่กระจายการลงทุนเข้ามา

  4. การส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทำคู่ขนาน คือ ต่อยอดจากสิ่งที่ดำเนินการอยู่เดิม และผ่องถ่ายไปสู่โครงสร้างใหม่ 

ขณะที่ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ทั้งหมด 4 ประเด็น 

  1. ประเด็นด้านพลังงาน 

เสนอปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น โดยการปรับแนวคิดการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ควรใช้การอ้างอิงราคาส่งออกไปสิงคโปร์ แทนที่ราคานำเข้าจากสิงคโปร์, ลดค่าไฟฟ้าด้วยการปรับปรุงระบบการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ควรซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่แพงกว่าภาคประชาชน, สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน  และปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า

  1. ประเด็นเรื่องฝุ่น PM 2.5 

แก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในที่โล่งภาคเกษตรด้วยการสร้างความเข้าใจให้ประชาชน,สร้างมาตรการแรงจูงใจในการลดการเผาของสินค้าเกษตร, ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทางเลือกมาตรการที่เหมาะสมแต่ละกรณี และการแก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ต้องทำให้การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นโหมดการเดินทางหลักของเมือง ทำให้กรุงเทพฯ ไม่เป็นเมืองแห่งรถยนต์ โดยใช้ระบบตั๋วร่วม, การอุดหนุนจากรัฐ, ระบบจอดแล้วจรที่เพียงพอ และเพิ่มต้นทุนการใช้รถยนต์ 

  1. ประเด็นด้านโลกร้อน  ยืนยันความมุ่งมั่นกับการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) และผลักดันมาตรการ Carbon Pricing ในรูปของภาษีคาร์บอน หรือตลาดคาร์บอน

  2. ประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ จัดระบบประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก (ลดความซับซ้อนในการรีไซเคิล) และเร่งรัดการออกกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวทาง Extended Producer Responsibility (EPR) ส่วนในระยะยาว อาทิ ภาษีพลาสติก และการเร่งรัดการออกกฎหมาย การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR)

 "รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ความสำเร็จของรัฐบาล อยู่ที่การมองปัญหา และแก้ปัญหา อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือปัญหาความทับซ้อนของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง"ผศ.ดร.ชโลทร กล่าว

 

ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ."

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม(CRISP)ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในหลายด้านทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ที่ดิน การส่งเสริมการแข่งขันขจัดการผูกขาดการกระจายทรัพย์สินและการกระจายอำนาจ 
อย่างไรก็ตามนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องการกระจายทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรมในทุกๆมิติดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 

  1. ข้อมูลด้านการถือครองทรัพย์สิน ต้องเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เช่น การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม

  2. รัฐควรสนับสนุนให้เกิดระบบตลาดที่มีการแข่งขัน และป้องกันไม่เกิดการผูกขาดทางการค้า

  3. รัฐต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจทางการเมือง และการคลังอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับฐานราก รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

  4. ปรับปรุงการจัดก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ตามขนาดการถือครอง เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน

  5. ภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว

  6. ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 
  1. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษี และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ (Tax expenditure) ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

 

  1. จัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน (Capital Gains Tax) เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

  2. ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม สวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ควรมีความครอบคลุมและทั่วถึง

  3. พัฒนาการทำงานภาครัฐ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือมีความซ้ำซ้อน 

"ไม่ได้มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะสำเร็จได้ใน 1 ปี แต่หากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลต้องมองการพัฒนาประเทศรอบด้าน การกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเป็นสิ่งที่ดี แต่พอโตแล้ว ต้องดูว่าการกระจายมีความเป็นธรรมหรือไม่"ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว

สามารถติดตามเนื้อหาของนักเศรษฐศาสตร์ทุกท่าน ที่FB: 
EconTU Official 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT