ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดไทม์ไลน์นโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลเศรษฐา 1 ทำเรื่องไหนก่อนหลัง?

11 ก.ย. 66
เปิดไทม์ไลน์นโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลเศรษฐา 1 ทำเรื่องไหนก่อนหลัง?
ไฮไลท์ Highlight

เมื่อการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาช่วงเวลา 11-12 ก.ย.2566 เสร็จสิ้นลง เท่ากับว่ารัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีจากนี้ โดยใช้นโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในบริหารประเทศไทยต่อไป
.
การแถลงนโยบายครั้งนี้ ใช้เวลารวม 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาให้ทาง ครม. 5 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 5 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ประชุมระหว่างเวลา 09.00 – 24.00 น. โดยคำแถลงนโยบายของรัฐบาลมีทั้งสิ้น 43 หน้า มีทั้งนโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันที และ นโยบายระระปานกลางถึงยาว ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนก็อยากให้นโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ทำได้จริงไม่ใช่การขายฝัน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง 
.
กองบรรณาธิการ SPOTLIGHTสัมภาษณ์พิเศษ คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และล่าสุดกำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บทบาทของคุณเผ่าภูมิในด้านเศรษฐกิจ ของพรรคเพื่อไทยจึงมีความโดดเด่น เพราะสามารถอธิบายวิธีการดำเนินนโยบาย เป้าหมายของนโยบายของรัฐบาลใหม้ได้เป็นอย่างดี 

คุณเผ่าภูมิ ได้ไล่เรียงไทม์ไลน์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จากนี้ ซึ่งแน่นอนว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทยที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ โดยหลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้นแล้วนโยบายไหนทำก่อนทำหลังวันนี้เราสรุปมาให้
“เศรษฐกิจไทย เหมือนผู้ป่วยหนักเข้าICU เห็นชัดเจนว่าตั้งแต่โควิด พบว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา กำลังซื้อหดหายจากช่วงล็อคดาวน์ แม้ปัจจุบันโควิดจะคลี่คลายแล้วแต่เศรษฐกิจไทยเทียบกับก่อนโควิดก็ยังไม่กลับไปสู่จุดเดิม “ คุณเผ่าภูมิกล่าว
แถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา
.
นี่จึงเป็นที่มาให้การวางนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยถูกแบ่งเป็น 4 ระยะ เพื่อให้เห็นภาพจึงเปรียบสภาพเศรษฐกิจเหมือนคนป่วยไอซียูมีแผลฉกรรจ์

Timeline นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่แบ่งเป็น 4 ช่วง

1.ห้ามเลือด แก้ปัญหาให้ประชาชน  (ทำทันที)

  • นโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งภาคเกษตรกร ภาคธุรกิจ และประชาชน
  • นโยบายลดภาระค่าใช้จ่าย ลดราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

2.เมื่อเลือดหยุดไหล กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่  (2566-2567)

  • นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล
  • นโยบายฟรีวีซ่าให้นทท.ต่างชาติ สร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยว

3.กายภาพบำบัด  ให้ประเทศมีความพร้อมมีรายได้มากขึ้น   (ประมาณ 2570)

  • นโยบายสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)   แก้กฏหมายให้ 4 หัวเมือง กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น  หาดใหญ่ ดึงดูดการลงทุนต่างชาติมากขึ้น

  • นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และ เงินเดือนปริญญาตรี  25,000 บาท
        
  • นโยบายยกระดับภาคการเกษตร  

  • นโยบายยกระดับภาคการท่องเที่ยว 

4.พาประเทศไทยออกวิ่ง  - วางโครงสร้างพื้นฐานให้กับประทศ  (ระยะยาว)

  • นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีรากฐานมาจากดิจิทัล วอลเล็ต

  • นโยบายด้านคมนาคม รถไฟฟความเร็วสูง  รถไฟขนส่งสินค้า ยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศ

ผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

คาดหวังผลต่อนโยบายดัน GDP ไทยโตเฉลี่ย 5% ต่อปี 

คุณเผ่าภูมิระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังเพราะไม่ได้เป็นการกู้เงินมาทำนโยบาย แต่เป็นการบริหารจัดการงบประมาณ และเป็นเรื่องของการใช้เม็ดเงินจากภาษี

อย่างกรณีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 นั้นรัฐบาลจะปรับขึ้นโดยพิจารณาจาก 4 ปัจจัย คือ 1.GDP 2.เงินเฟ้อ 3.การคาดหวัง GDP ในอนาคต 4.ผลิตภาพแรงงาน ทั้ง 4 ปัจจัยนี้จะเป็นเครื่องมือยืนยันว่า การขึ้นค่าแรงของรัฐบาลใหม่ ขึ้นเมื่อประเทศพร้อม เอกชนพร้อม ไม่ได้เป็นการโดยภาระให้ภาคเอกขน 

คุณเผ่าภูมิ มองเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีกำลังซื้อต่ำมากจำเป็นต้องกระตุ้นครั้งใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เปรียบเหมือนการขยายก้อนเค้กให้ใหญ่ขึ้น จากนั้นก็ใส่นโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประเทศในระยะกลางถึงยาวต่อไป ผลของนโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้จะส่งดีผลต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยเราอาจะเห็นปี 2567 GDP ไทยโตมากกว่า 5% ก็เป็นได้จากกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท   

นี่เป็นเพียงแค่การรวบรวมไทม์ไลน์ของนโยบายเศรษฐกิจเท่านั้นในความเป็นจริงนโยบายของรัฐบาลยังมีอีกหลายมิติที่จะต้องดำเนินการในช่วง 4 ปีที่บริหารประเทศพร้อมกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามาท้าทายประเทศไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT