ข่าวเศรษฐกิจ

ทำความรู้จัก 'น้องนมเย็น'รถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อ มีนบุรี-นนทบุรี 

15 ส.ค. 66
ทำความรู้จัก 'น้องนมเย็น'รถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อ มีนบุรี-นนทบุรี 

วันนี้(15 ส.ค.66) เป็นวันแรกที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทาง แคราย – มีนบุรี เริ่มเปิดทดลองการเดินรถเสมือนจริงแล้ว คาดว่า จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรีในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2566 และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.ปีนี้ ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าล่าสุดของ รฟม.หลังจากเปิดให้บริการสายสีเหลืองไปหมาด ๆ  SPOTLIGHT ชวนมาทำความรู้จักกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้มากขึ้น 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู - รถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถูกเรียกแบบน่ารักๆว่า “น้องนมเย็น” ด้วยสีชมพูหวานๆของตัวรถ นับเป็นโครงการ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สอง ที่จะเปิดให้เปิดบริการในประเทศไทย โดยสายแรกก็คือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว - สำโรง  ที่ได้รับฉายาว่า “น้องเก็กฮวย” 

ความแตกต่างของรถไฟฟ้าแบบโมโนโรล หรือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว ก็คือ เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งคร่อมรางโดยใช้รางเดี่ยว ส่วนใหญ่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก เพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนัก เพราะ โมโนเรลถูกกว่ารถไฟฟ้าขนาดหนักราว 40%  และไม่ใช้คนขับ เพราะใช้ระบบควบคุมอัติโนมัติ แต่มีพนักงานคอยดูแล จะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์(Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง

ในปัจจุบันรถไฟฟ้าใน กทม.มี 2 ประเภท 

1.รถไฟฟ้าขนาดหนัก มี 5 สาย ประกอบด้วย สายสีเขียว สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงก์ สีม่วง และสีแดง

2.โมโนเรล มี 2 สาย คือ สายสีเหลือง และสายสีชมพู 

โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นผู้กำหนดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางใด ควรใช้รถไฟฟ้าประเภทไหน พิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางนั้นๆ 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

รถไฟฟ้าสายสีชมพู มี 30 สถานี และ เชื่อมต่อไปยังเมืองทองธานี 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีมพู เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ส่วนเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ  บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ (NBM)  มีคุณคีรี กาญจนพาสน์ เป็นประธานกรรมการ บริษัทฯ จัดตั้งโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่าง บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ราช กรุ๊ป (TATCH )  มูลค่าโครงการมากกว่า 54,000 ล้านบาท 

450285

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างเขตมีนบุรี และจังหวัดนนทบุรี มีระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 30 สถานี และเพื่อให้เส้นทาง มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่อยู่อาศัย และทำงานอยู่ในเมืองทองธานี กว่า 300,000 คน รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้า และการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าส่วนขยายนี้จะเปิดให้บริการได้ในปี 2568”

30 สถานีประกอบไปด้วย

  1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี -ตั้งอยู่บน ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี - เป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าถึง 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม) บางซื่อ-บางใหญ่ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
  2. สถานีแคราย
  3. สถานีสนามบินน้ำ
  4. สถานีสามัคคี
  5. สถานีกรมชลประทาน
  6. สถานีแยกปากเกร็ด
  7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
  8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
  9. สถานีเมืองทองธานี
  10. สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บน ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางสายแยก (อิมแพคลิงก์) เชื่อมเข้ากับด้านในเมืองทองธานี
  11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14
  12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
  13. สถานีทีโอที
  14. สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บน แขวงตลาดบางเขต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต
  15. สถานีราชภัฏพระนคร
  16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุตั้งอยู่บน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
  17. สถานีรามอินทรา 3
  18. สถานีลาดปลาเค้า
  19. สถานีรามอินทรา กม.4
  20. สถานีมัยลาภ
  21. สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บน แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่สถานีวัชรพล
  22. สถานีรามอินทรา กม.6
  23. สถานีคู้บอน
  24. สถานีรามอินทรา 83
  25. สถานีปัญญาอินทรา
  26. สถานีนพรัตน์
  27. สถานีบางชัน
  28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
  29. สถานีตลาดมีนบุรี
  30. สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่บน แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี พร้อมอาคารจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุง

    รถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้าเมืองทองธานี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีสถานีที่สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ 6 สาย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 6 สาย

  1. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล- ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  3. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต- ที่สถานีหลักสี่
  4. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต-  ที่สถานวัดพระศรีมหาธาตุ
  5. รถไฟฟ้าสายสีเทา - ที่สถานีวัชรพล
  6. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)- ที่สถานีปลายทางอย่างสถานีมีนบุรี

ความคืบหน้าโครงการโดยรวมเกินกว่า 97% 

สำหรับความคืบหน้าในขณะนี้ เอกชนผู้รับสัมปทาน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด อยู่ระหว่างทดสอบเดินรถเสมือนจริง โดยความก้าวหน้าของงานก่อสร้างล่าสุดในเดือน ก.ค.2556

  • งานโยธาช่วงแคราย - มีนบุรี อยู่ที่ 97.35%
  • งานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 97.74%
  • ความก้าวหน้ารวมสะสมอยู่ที่ 97.54%

ทั้งนี้ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด มีเป้าหมายเปิดทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรี ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค.2566 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในเดือน พ.ย.2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการจึงถือว่าเ็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ส่องทำเลน่าสนใจตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ข้อมูลจาก DD Property ระบุึง ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตามผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในปี 2566 พบว่า ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าทั้ง 30 สถานี เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% โดยแบ่งเป็นรายสถานีดังนี้

  1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ราคาที่ดินอยู่ที่ 360,000 บาท/ตารางวา เพิ่มขึ้น 5.9%
  2. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ์ ราคาที่ดินอยู่ที่ 330,000 บาท/ตารางวา เพิ่มขึ้น 6.5%
  3. สถานีวงเวียนหลักสี่ ราคาที่ดินอยู่ที่ 380,000 บาท/ตารางวา เพิ่มขึ้น 5.6%
  4. สถานีมีนบุรี ราคาที่ดินอยู่ที่ 200,000 บาท/ตารางวา เพิ่มขึ้น 5.3%
  5. สถานีอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 พบว่า มีหน่วยขายที่อยู่อาศัยรอขายอยู่ 3,244 หน่วย แบ่งเป็น

  1. ทาวน์เฮ้าส์ มีหน่วยรอขายมากที่สุดถึง 1,513 หน่วย โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นในราคา 3-5 ล้านบาท
  2. บ้านเดี่ยว มีหน่วยรอขายอยู่ที่ 1,013 หน่วย โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นบ้านเดี่ยวราคา 5-10 ล้านบาท
  3. คอนโด มีหน่วยรอขายน้อยที่สุดคือ เหลือเพียง 514 หน่วย ทั้งนี้เป็นห้องชุดราคา 2-3 ล้านบาทเป็นหลัก แสดงว่าโอกาสที่ห้องชุดจะเกิดมากขึ้นมีมากกว่ากลุ่มอื่นที่ยังมีอุปทานเหลืออยู่มากมาย

 

advertisement

SPOTLIGHT