ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดนโยบายเศรษฐกิจเด่น จากพรรคเพื่อไทย เมื่อได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่

15 ส.ค. 66
เปิดนโยบายเศรษฐกิจเด่น จากพรรคเพื่อไทย  เมื่อได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่
ไฮไลท์ Highlight

"พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาล 100% เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเข้าไปลดค่าไฟ ค่านัำมันทันที มาตรการเร่งด่วน คือ การให้ประชาชนมีกำลังในการบริโภคด้วยเงินดิจิทัลวอตเล็ต คนละ 10,000 บาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน และในสายตาของนักลงทุนต่างขาติจะมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อ" ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการ เลขานุการ และโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้โหมโปรโมท ประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ในธีม “เมื่อพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล”

ถือเป็นกลยุทธ์ใช้การสื่อสาร เพื่อเป็นการลดแรงกดดันของประชาชนที่ไม่เห็นชอบการข้ามขั้ว หรือการทิ้งพรรคก้าวไกลไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่​ โดยจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกในการโหวต ที่จะมีชึ้นในช่วงเวลาอีกไม่นาน

ภายหลังจากที่มีม๊อบ คาร์ม๊อบ พยายามทวงถามและแสดงสัญลักษณ์ จากความไม่พอใจในสิ่งที่พรรคเพื่อไทย เตรียมตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้

สัปดาห์นี้ ประเด็นที่ต้องจับตา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับ กรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เสนอให้วินิจฉัยเรื่องการโหวตนายกซ้ำไม่ได้ และรอดูท่าทีนายวันนอร์ ประธานรัฐสภาจะกำหนดวันโหวตนายกเป็นวันใด

วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาดูนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กันว่า เมื่อพรรคเพื่อไทย เป็นนายก นโยบายเศรษฐกิจที่เคยสัญญากับประชาชนไว้มีอะไรบ้าง

นโยบายเศรษฐกิจเพื่อไทย

  1. ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คาดว่าจะใช้ได้ภายในครึ่งแรกปี 2567 

 

 

โดยเป็นการเติมเงินให้ทุกคนระบบ ใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องรัศมีการใช้จะเปิดรับฟังเสียงของประชาชนอีกครั้ง เพราะต้องการ “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน” 

ถือการเตรียมพร้อมประเทศและประชาชนให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมาตรการหลายๆ อย่าง ที่จะดำเนินการไปพร้อมกัน แต่เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจเราเดินตามไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน คือ ต้อง “ปั๊มหัวใจ” ของประชาชนเป็นอันดับแรก จึงเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “ใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)” เพื่อให้ประเทศเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อในสายตานักลงทุนต่างชาติ 

ดิจิทัลวอลเล็ต ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 560,000 ล้านบาท มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 270,000 ล้านบาท
  2. รายได้ที่เกิดจากภาษีของดิจิทัลวอตเล็ต จากภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณ 150,000 ล้านบาท จากการประเมินการหมุนของเศรษฐกิจแบบขั้นต่ำ 
  3. การจัดสรรงบประมาณปกติ อีกประมาณ 150,000 ล้านบาท 

ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นรากฐานสำคัญ เพื่อต่อยอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ 

มีรายละเอียดหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital  Wallet)
  • อายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
  • เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ “อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร” เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะมีการพิจารณาเป็นกรณีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน
  • ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในโครงการในภายหลัง
  • เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech
  • กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
  • กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
  • ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไปจะหมุนเวียนเข้ามาเป็นภาษีของรัฐบาลเพื่อเอา เงินไปสนุบสนุนประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

   2. ค่าแรงงานขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายในปี 2570

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ)  ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” 

หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก 

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 
  • ผลิตภาพแรงงาน (Productivity)
  • อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) 

   3. ปริญญาตรีจบใหม่ ข้าราชการไทยทุกคน 25,000 บาท/เดือน ภายในป 2570

เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570

   4. ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ทันที

มีแนวทางในการลดรายจ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อลดภาระและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต รวมถึงเพิ่มโอกาสในการทำมาหากินต่อไปได้ง่ายขึ้น

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการ เลขานุการ และโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวในรายการ กรรกรข่าวคุยนอกจอ วันนี้(15 ส.ค.66) ว่า พรรคเพื่อไทยจะปรับลดค่าน้ำมันลงทันที หลังเป็นรัฐบาลเอาเข้าครม.วาระแรก คือ มีแผนที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ที่คาดว่าจะสามารถให้อยู่ประมาณ 30 บาท/ลิตรได้ทันที

ส่วนการปรับลดค่าไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถปรับบดค่าไฟให้อยู่ที่ระดับ 4.25-4.30 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่นักธุรกิจและประชาชนรับได้ แต่คงต้องขอเข้าไปดูในรายละเอียดต่างๆ ส่วนค่าก๊าชที่แพงจะเข้าไปพิจารณาในรายละเอียด 

    5. รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาทตลอดสาย 

“รถไฟฟ้า กทม.” 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร เพราะการเดินทางเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินชีวิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ชีวิตของประชาชนสะดวกสบายขึ้น การเดินทางด้วยระบบรางถือ เป็นการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้จะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยมีเป้าหมาย คือ ค่าโคยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพ คือ 20 บาทตลอดสาย

    6. พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอก และ SME 1 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 (รหัส 21)

เศรษฐกิจไทยยังต้องการมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน ในเวลานี้ โดยภาระหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่ความสามารถในการทำธุรกิจลดต่ำลงจากการขาดเงินทุนและภาระหนี้สิน

ด้วยเหตุนี้ มาตรการเร่งด่วน พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกฟื้นชีวิตของเกษตรกรไทย และเดินหน้านโยบายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรต่อไป

รวมถึง มาตรการพักชำระหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (รหัส 21) 1 ปี พร้อมต่อยอดด้วยชุดนโยบายอื่นๆ ของพรรค และการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเปิดโอกาสให้ SME สามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งคู่ขนานไปกับโครงการ Digital Wallet ที่จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ระบบเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน

     7. 1 ครอบครัว 1 Soft Power : ยกระดับแรงงานทักษาสูง 20 ล้านคน ให้มีรายได้อย่างน้อย 200,00 บาท/ปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

โดยทุกครอบครัว มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน เพื่อลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ ต่อ ”การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”

จากการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญ คือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS)

อย่างไรก็ตาม หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ และผู้จะรับสิทธิ์จะลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน

โดยจะมีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อดึงคนเข้าระบบ เพื่อทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ หัวใจในการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทย คือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” เดินหน้าให้เศรษฐกิจไทย เติบโตเฉลี่ยอย่างต่อปีละ 5%

นี่เป็นเพียงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเด่นๆ ที่จะมีการโหวตนายก อีกไม่กี่วันต่อจากนี้ ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม 

เราคงต้องติดตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย หากได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่จริงๆ จะสามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้กับประชาชนหรือไม่ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตปีละ 5% ได้หรือไม่ ปากท้องของประชาชนจะดีขึ้น มีเงินกินใช้กันอย่างพอเพียงหรือไม่ 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT