ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดวิธีแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไทย จาก 5 ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน

8 มิ.ย. 66
เปิดวิธีแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไทย จาก 5 ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน
จบไปแล้วสำหรับงานเสวนาในหัวข้อ "ผนึกกำลังประเทศไทย ไม่คอร์รัปชัน" ณ True 5G Pro HUB สยามดิสคัฟเวอรี่ ที่ทีม Spotlight ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อจัดเวทีให้ผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้มาร่วมเสนอแนวทางวิธีแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน
 
การเสวนานี้ได้รับเกียรติจากแขกทั้ง 5 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็ได้แสดงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเน้นในการสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน พนักงานจากภาครัฐ หรือภาคเอกชน
 
โดย รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ รองประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า การทุจริตที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและแก้ยากที่สุด คือ การทุจริตในลักษณะเครือข่าย ที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและมีอิทธิพล อาจเป็นเจ้าหน้ารัฐ นักการเมืองระดับสูง เจ้าหน้าปฏิบัติงานระดับกลาง ตลอดจนเอกชน เครือข่ายในท้องถิ่น และพวกพ้องที่พร้อมจะทำหน้าที่ของตนเพื่อช่วยเหลือเครือข่าย และต่อต้านผู้ตรวจสอบ โดยอาจจะออกกฎหมายหรือแก้กฎหมาย กฎระเบียบ แนวปฏิบัติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือข่าย รวมทั้งข่มขู่กลั่นแกล้งผู้อยู่นอกเครือข่าย
 
ดังนั้น รศ.ดร. สิริลักษณา จึงมองว่าการแก้ไขต้องทำด้วยการศึกษาลักษณะของเครือข่ายให้รู้จริง ใช้ประโยชน์และวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่จำนวนมาก ว่าบุคคลใด ตำแหน่งใด เป็นเครือข่ายกัน มีหน้าที่ปกป้องเครือข่ายกันอย่างไร วางระบบบริหารของประเทศ และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดโอกาสการทุจริตทุกรูปแบบ
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มแข็ง รัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการริบทรัพย์ ที่ควรจะมีการริบทรัพย์ผู้กระทำผิดตามมูลค่าที่เสียหายไปจากการทุจริต ‘โดยไม่คิดว่าทรัพย์สินที่ริบมานั้นเป็นทรัพย์สินที่มาจากการทุจริตหรือไม่’ เพราะทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตการอาจแปรสภาพไปแล้วจนยากจะติดตาม ทำให้กระบวนการริบทรัพย์ช้าลง หรือในหลายกรณีก็ทำให้รัฐบาลไม่สามารถริบทรัพย์ใดๆ กลับมาได้
artboard1copy2_1
 
ด้านคุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระบุสถานการณ์คอร์รัปชันไทยยังเป็นปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไข โดยต้องดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้าน ‘การเปิดเผยข้อมูล’ เพราะประชาชนต้องการข้อมูลในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ว่ามีการนำงบประมาณไปใช้ หรือมีการเปิดประมูลโครงการกับเอกชนอย่างโปร่งใสถูกต้องหรือไม่
 
โดย คุณณัฐภัทร มองว่าหน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐต่อสาธารณะ และข่าวสารของราชการ ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ได้อย่างเสรี ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเผยแพร่ทำซ้ำ หรือใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ เพราะ ข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชน รับรู้ เข้าใจ และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
quote_spotlight2022
 
ในส่วนของภาคเอกชนต่างชี้ถึงสถานการณ์คอรัปชันไทยที่ยังคงน่าเป็นห่วง พร้อมเสนอแนะใน หัวข้อ “ภาคเอกชนผนึกกำลังประเทศไทยไม่คอร์รัปชัน”
 
โดยคุณพรหเมศร์ เบ็ญจรงค์กิจ ผู้อำนวยการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ Thai Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) ระบุว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จ ไม่สามารถดำเนินการได้จากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จึงจะสามารถแก้ไขได้ โดย CAC ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนไทยได้เสนอมาตรการ ดังนี้
 
1. ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศในการทำธุรกิจของภาคเอกชนที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรมผ่านการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น
• การปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนคู่สัญญาที่มีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 500 ล้านบาท ให้มีมาตรการขั้นต่ำในการต่อต้านการคอร์รัปชัน
• การปรับปรุงการให้บริการและการออกใบอนุญาตต่างๆ ของภาครัฐ ให้มีความโปร่งใส รวดเร็ว และตอบสนองต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนอย่างแท้จริง
 
2. ภาครัฐต้องกำกับดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการในการต่อต้านการคอร์รัปชันและต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติใช้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการระดมทุนจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อย จำนวนมาก แต่ในปัจจุบันหลายบริษัทยังมีการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชันและไม่มีการกำกับดูแลในส่วนนี้อย่างจริงจัง
 
3. ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการป้องกันการคอร์รัปชัน และบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
311015
 
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนและกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทเอกชนและนักลงทุน เพื่อส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมนโยบายและการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในแบบ 56-1 One Report ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมุ่งเน้นบทบาทของคณะกรรมการเพื่อสะท้อนแก่นของการกำกับดูแล (CG in substance)
 
โดยบทบาทหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คือการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต ดูแลให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลาและทั่วถึง รวมถึงดูแลระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยหากเกิดการดำเนินการที่เข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตลาดหลักทรัพย์จะรวบรวมข้อมูลให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดและบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
 
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านการกำกับดูแล และมีการจัดเรทติ้งจะเป็นกลไกตลาดจูงใจให้บริษัทสนใจแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในบริษัทเพื่อดึงดูดเงินจากนักลงทุนที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
 
โดยผู้ลงทุนสามารถพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการรายงานเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Corporate Governance Report (CGR) ตั้งแต่ระดับ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนที่มีการรายงานตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป 702 บริษัท
 
quote_spotlight2023
 
ด้านคุณวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด ด้านการขายและการตลาด บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัท เมืองไทยประกันภัย มีหลักปฏิบัติในการไม่คอร์รัปชันและเป็นนโยบายที่ให้กับพนักงาน รวมถึงคู่ค้าทุกภาคส่วน เป็นการสร้างค่านิยม CORE VALUE - INTEGRITY ที่มีการตอกย้ำให้แก่พนักงานทุกระดับ มุ่งเน้นตั้งแต่ผู้นำสูงสุดขององค์กร สื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ในรูปแบบต่างๆ การสร้างจิตสำนึกของพนักงาน
 
โดยในการเสวนา คุณวาสิตได้ให้ข้อเสนอแนะในการลดคอร์รัปชันในประเทศไทย สำหรับฝั่งภาคเอกชน ไว้ว่า
 
1.ต้องสร้างให้ธุรกิจมีจริยธรรม มีความซื่อตรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (BUSINESS INTEGRITY) กำหนดเป็นนโยบายและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
2.สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยให้สัตยาบันร่วมกันปฏิเสธการใช้วิธีทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ
3.ขยายบทบาทของการสร้าง WHISTLE BLOWER ในภาคธุรกิจที่จะส่งผลโดยตรงต่อการปราบปรามคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.สร้างเครือข่ายในการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับสมาคมการค้าหรือสมาคมเอกชน
5.ต่อยอดแนวคิดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตที่มีความสุขอย่างมีคุณภาพ
 
735842
 

สามารถชมภาพบรรยากาศของงานได้ที่ Gallery 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT