เวียดนาม ประเทศซึ่งถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลกในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยจุดเด่นที่ประเทศมีนโยบายเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ สนับสนุนด้วยจำนวนแรงงานที่มาก ทำให้อัตราการขยายตัวของเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวได้ราว 7% และในปี 2565 GDP เวียดนามเติบโตสูงถึง 8.02% แม้แต่ในช่วงโควิด 19 ที่หลายประเทศต้องเผชิญกับเศรษฐกิจติดลบ แต่ GDP เวียดนามก็ขยายตัวได้ โดยปี 2564 โต 2.4 %
แต่เวียดนามกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ และสำคัญมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในอนาคต นั่นคือ “ปัญหาความมั่นคงด้านไฟฟ้า” หลังจากเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ทางการเวียดนามยังคงมีนโยบายหมุนเวียนการดับไฟฟ้าในประเทศ เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง
การดับไฟดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นในช่วงกลางเดือน พ.ค. - 25 พ.ค. 66 ซึ่ง ในบางพื้นที่ดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกใช้เข้มข้นในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาแต่ปรากฏว่า ปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังดูน่าเป็นห่วง เพราะยังมีการสลับสับเปลี่ยนกันดับไฟ ทั้งในโฮจินินห์ และ ฮานอย ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ให้ข้อมูลกับรายการ Ceo Vision Plus ทาง FM 96.5 อธิบายถึงสถานการณ์ไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในเวียดนามว่า มาจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ
ปัญหานี้นับเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดเพราะปรากฏการณ์ เอลนีโญส่งผลต่อภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก เห็นได้จากอุุณหภูมิของประเทศต่างๆในอาเซียนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการรณ์ เวียดนาม ร้อนสุด 44 องศาเซลเซียส หลวงพระบาง 43 องศาเซลเซียส กรุงเทพ 42 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่สิคโปร์ ก็ร้อนที่สุดในรอบ 40 ปีเช่นกัน ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนจัดนี้ ส่งให้เกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศที่กินไฟถึง 70% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือน
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ประมาณ 10- 12 ปีที่ผ่าน เติบโตราว 7-8% ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น ข้อมูลพบว่า 10ปีที่ผ่านมา เวียดนามใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ไม่ถึง 9 หมื่นล้านหน่วย แต่ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 230,000 ล้านหน่วย นับเป็นการเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว
ดังนั้น เมื่อ 2 ปัจจัยนี้ผนวกกัน คือ ทั้งความร้อน และ เศรษฐกิจโต ทำให้การใช้ไฟที่มากขึ้น ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ จนเกิดการขาดแคลน
ใช่ว่ารัฐบาลเวียดนามจะไม่รู้ถึงสาเหตุของปัญหา เพราะปัจจุบันทางการเวียดนามกำลังเร่งสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศมีไฟฟ้าอย่างเพียงพอ เพราะปัจจุบัน โครงสร้างการผลิตไฟฟ้า ของเวียดนามคือ 50% ผลิตจากถ่านหิน , 30% ผลิตจากน้ำในเขื่อน และ อีก 15% ผลิตจากแก๊สธรรมชาติ จะเห็นได้ว่า “น้ำ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อร้อน และ แล้ง ทำให้ปริมาณน้ำก็น้อยลงไป ปริมาณน้ำไม่พอก็กระทบต่อการผลิตไฟฟ้านั่นเอง
ขณะที่รัฐบาลเวียดนามได้มีการอนุมัติแผนพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 (PDP8) ที่ต้องการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น คือ เวียดนามจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า มากกว่า 150 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 รวมทั้งลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ให้เหลือร้อยละ 20 ของแหล่งจ่ายพลังงานของเวียดนาม และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยการส่งเสริมให้อาคารสำนักงานและบ้านเรือน กว่าร้อยละ 50 ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ โดยรัฐยอมทุ่มงบประมาณ ราว 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเป็นเงินไทย 4.69 ล้านล้านบาท เพื่อรับรองความมั่นคงทางพลังงานของเวียดนาม รักษาอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อปี ไปจนถึงปี 2573 และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 ให้ได้
คงต้องติดตามดูแผนการปิดจุดอ่อนของเวียดนามครั้งนี้ หากเวียดนามแก้ปัญหาความมั่นคงทางไฟฟ้านี้ได้สำเร็จ อาจจะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุนของต่างชาติหรือไม่ แต่ในระหว่างนี้ก็เป็นข่าวดีสำหรับเอกชนไทยในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะเข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเช่นกัน