ข่าวเศรษฐกิจ

ธปท.ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ปรับ GDP ปี 66 ลดลงเหลือ 3.6%

29 มี.ค. 66
ธปท.ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ปรับ GDP ปี 66 ลดลงเหลือ 3.6%
ไฮไลท์ Highlight
  • กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ
  • กนง.ปรับจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 3.6%
  • เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน จับตาดูวิกฤตภาคธนาคาร
  • มองสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง-กระทบวงจำกัด
  • ประเมินดอกเบี้ยขึ้นส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจไม่มากขณะนี้
  • ธปท.ติดตามค่าเงินบาท/ดอลลาร์ใกล้ชิด
  • กรุงศรีคาดประชุมกนง.ครั้งถัดไป คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% 

วันนี้ การประชุมคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบ 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที 

กนง.มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย ส่งผลให้ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ

“ เราเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ส.ค.ปีที่แล้ว  ปีที่แล้วมีเรื่องของสถานการณ์โควิด ทำให้โจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด แต่ในปีนี้ โจทย์ต่อไป คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายที่วางไว้” นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวแถลงข่าวภายหลังการประชุม กนง.

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

นายปิติ กล่าวว่า  “ อุปสงค์การฟื้นตัวเศรษฐกิจค่อนข้างดี ยังมีอัพไซต์ให้ขยายตัวขึ้น ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังต้องติดตามต่อไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสม เศรษฐกิจปีนี้โต 3.6% ปีหน้าเติบโต 3.8% มีสมมุติฐานหลักมาจากปัจจัยภายในประเทศ มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะฉะนั้น นโยบายการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แรงส่งดี เงินเฟ้อแม้ลดลง แต่ก็ยังอยู่ระดับที่สูง” 

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ค่อนข้างชัดว่า เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งดี แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับที่เสี่ยง แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ก็คงต้องมีกระบวนการถอนคันเร่งต่อไป แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาภาคการเงินของต่างประเทศ ซึ่งกนง.ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเงินมาสักระยะแล้ว แต่ถ้าจะถามว่า จะหยุดตรงไหน ที่ไหน กระบวนการตรงนี้คงต้องรอดูในระยะต่อไป

“มองไปข้างหน้า ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าที่คาดไว้ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่มาจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จะ ส่งผ่านเงินเฟ้อได้มากกว่าในอดีตที่เป็นมา  การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่อเนื่องยังเหมาะสม” 

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

กนง.ปรับจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 3.6%

โดยในที่ประชุมกนง.วันนี้(29 มี.ค.) ได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 อยู่ที่ 3.6% ซึ่งลดลงจากประมาณก่อนหน้าเมื่อเดือนพ.ย.2565) ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.7% แต่แนวโน้มการขยายตัวยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคนเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4.0% จากที่เคยคาดไว้เพียงแค่ 3.4%  

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยปีนี้คาดว่าปริมาณการส่งจะเติบโต 6.8% ลดลงจากที่คาดก่อนหน้าที่ 7.0% ขณะที่มูลค่าการส่งออกปีนี้คาดว่าจะหดตัวลง 0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.0% 

เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน จับตาดูวิกฤตภาคธนาคาร

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงด้านสูงจาก การส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่  2.9% และปี 2567 อยู่ที่  2.4% ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ 2.4% ในปี 2566 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.0% ในปี 2567  ซึ่งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของกนง. อยู่ที่ระดับ 0-3% 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้ง มีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด 

มองสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง-กระทบวงจำกัด

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก กนง.ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทย มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด 

รวมถึง ธนาคาพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด 

ธปท.ประเมินดอกเบี้ยขึ้นส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจไม่มากขณะนี้

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการกนง.เห็นว่า ควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

“ ผลกระทบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยภาพรวมที่ผ่านมารองรับได้ดี มองไปข้างหน้าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยไป ทั้งผู้กู้ ผู้ให้กู้ กลุ่มเปราะบางแง่ของครัวเรือนมีอยู่ ผลมาจากโควิดที่ช็อกมากว่า เอสเอ็มอียังรับเม็ดเงินอย่างคงที่ กลุ่มเปราะบางสัดส่วนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ข้อสังเกต ธุรกิจส่วนใหญ่ต้นทุนกู้ยืมไม่ได้เยอะ โครงสร้างการกู้ยืมหลายส่วนมีดอกเบี้ยคงที่ 50% ทอนภาระการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ระดับหนึ่ง ส่งผ่านการตั้งราคาไม่ได้เป็นประเด็นที่สำคัญในขณะนี้” 

อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างจากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

ธปท.ติดตามค่าเงินบาท/ดอลลาร์ใกล้ชิด

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการ กนง. จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

โดยสรุป คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

“ ที่ผ่านมาค่าเงินบาทผันผวนจริง เป็นการผันผวนที่มีเหตุมีผล เพราะช่วงเดือนที่ผ่านมา ผันผวนจากปัจจัยภายนอก จากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินสหรัฐที่มีการปรับโทนขึ้น และปรับโทนชะลอการขึ้น มีด้านการเงินเป็นประเด็น ความไม่แน่นอนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ มีผลต่อค่าเงินทุกประเทศทั่วโลก และค่าเงินบาทไทยถือว่ายังเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค” 

กรุงศรีคาดประชุมกนง.ครั้งถัดไป คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% 

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ขณะที่ กนง. ระบุว่ายังคงมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่อาจจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงอาจทำให้ กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%

อย่างไรก็ดี ท่าทีและสัญญาณในวันนี้บ่งชี้ว่า กนง. เปิดโอกาสไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้าได้เช่นกันหากสถานการณ์ยังเอื้อให้ปรับนโยบายต่ออีกเล็กน้อย

ทั้งนี้ ประเมินค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 34.20 บาท/ลล่าร์สหรัฐ โดย กนง. ย้ำว่า ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน โดยมีปัจจัยจากการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และแนวโน้มเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (Advanced Economies: AEs)

 

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT