ข่าวเศรษฐกิจ

กรุงไทย-กสิกรไทย คาดปี 2566 เงินเฟ้อไทย 3.0-3.1% แนวโน้มลดลงจากปีก่อน

7 ม.ค. 66
กรุงไทย-กสิกรไทย คาดปี 2566 เงินเฟ้อไทย 3.0-3.1% แนวโน้มลดลงจากปีก่อน

กรุงไทย-กสิกรไทย คาดปี 2566 เงินเฟ้อไทย          3.0-3.1% แนวโน้มลดลงจากปีก่อน

      กรุงไทย-กสิกรไทย คาดปี 2566 เงินเฟ้อไทย 3.0-3.1% ลดลงจากปีก่อน คาดครึ่งปีแรกเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบแบงก์ชาติ แรงหนุนแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในครึ่งปีแรก

       แม้ในปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งไปถึง 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี ผลพวงจากราคาพลังงานพุ่ง ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สคน.) กระทรวงพาณิชย์  แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจโลก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น

Krungthai Compass คาดปี 2566 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 3.1%

       แนวโน้มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของศูนย์วิจัยอย่าง Krungthai Compass คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% จากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์

      โดยคาดว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า (ไม่รวมบ้านอยู่อาศัย) รอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้องเก็บเงินชดเชยเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบถึง 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นรอบด้าน 

คาด H1/66 แบงก์ชาติทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างน้อย 2  ครั้ง

      โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีแรก อัตราเงินเฟ้อจะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ระดับ 1-3% และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรก

เงินเฟ้อปีก่อนสูงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

      สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา ​​อัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.51% จากปัจจัยด้านต้นทุนที่สูงขึ้น (cost-push inflation) จากพลังงานที่สูงขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกและค่าไฟฟ้า และอัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐานขยายตัว 2.51%

      ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 5.89% เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 5.55% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.9%  จากราคาหมวดอาหารสดที่เร่งขึ้น 8.91% เทียบกับ 8.08% เมื่อเดือน พ.ย. ตามราคากลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง รวมถึงกลุ่มผักสด อีกทั้งจากราคาหมวดพลังงานที่เร่งขึ้น 14.62% เทียบกับเดือนก่อนที่ 13.09% ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากผลของฐานที่ต่ำลงในเดือนธ.ค. 2564

s__17604900

      สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ทรงตัวที่ 3.23% จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จากราคาน้ำหวาน ค่าโดยสารสาธารณะ และหมวดบันเทิงการอ่านและการศึกษา เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง และค่าห้องพักโรงแรม ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการขยายตัวชะลอลง ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 

s__17604901

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินเฟ้อไทยปีนี้ 3.0% 

       ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2566 เงินเฟ้อโลก และ ไทยจะทยอยปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลง 

       สำหรับเงินเฟ้อไทยคงไม่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะ ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน และ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

       ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะยังคงเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากราคาสินค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง หรือ กลับมาเร่งตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้ออ่อนแรงมีน้อยลงตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 3.0%

      โดยช่วงครึ่งปีแรกของ 2566 สหรัฐฯ และ ยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงอาจเป็นไปได้ว่าจะไม่เติบโต หรือ หดตัวตลอดทั้งปี ผลกระทบจาก

  • เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน
  • การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

       ขณะที่ประเทศจีนแม้จะมีการผ่อนคลายนโยบายมาตรการโควิดบางส่วนตั้งแต่ธ.ค. 2565 แต่อุปสงค์ในประเทศจีนยังคงอ่อนแรงเรื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอยู่ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศจีนมีแนวโน้มถูกกดดันจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น

  • ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยยอดขายในเดือน พ.ย. ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • อุตสาหกรรมของจีนมียอดคำสั่งซื้อชะลอลงตามอุปสงค์โลก และ กดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ลดลง

       แต่ก็ยังมีโอกาสที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยปัจจัยหลัก คือ การเกิดวิกฤติพลังงาน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำ ถึงแม้จะมีการระงับการนำเข้าน้ำมัน , การกำหนดราคาเพดานน้ำมันรัสเซีย หรือ การที่จีนจะยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และ เปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่มากพอจะผลักดันราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้นดังที่เคยเกิดเมื่อครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา

ที่มา : ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย

advertisement

SPOTLIGHT