ข่าวเศรษฐกิจ

กพช.วางแผนล้นต้นทุนค่าไฟ จ่อกำหนดปิดไฟภาคธุรกิจเร็วขึ้น หากราคา LNG เกิน50 ดอลลาร์

8 พ.ย. 65
กพช.วางแผนล้นต้นทุนค่าไฟ จ่อกำหนดปิดไฟภาคธุรกิจเร็วขึ้น หากราคา LNG เกิน50 ดอลลาร์

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 65 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนโดยเฉพาะประเด็น ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่ในปี 2565 ถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก  

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟปี65 แพง โดยปัจจุบันต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาท เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มาจาก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงขึ้น ประเทศไทยผลิตเองได้ไม่เพียงพอทำให้มีการนำเข้าก๊าซในตลาดจร หรือ  Spot LNG ซึ่งในปี 2565 ราคา Spot LNG สูงขึ้นมาก และผันผวนโดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครนราคา spot LNG อยู่ในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้นยิ่งทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะยิ่งทำให้ต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของไทยสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจึงต้องวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงไปมากกว่านี้นั่นเอง  

หาวิธีลดพึ่งพา Spot LNG เชื่อ ค่าไฟปีหน้าไม่สูงกว่าปีนี้

ปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ เปิดเผยว่า แผนบริหารจัดการต้นทุนพลังงานที่ว่านี้มีหลายมาตรการ  เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน , รวมถึงมาตรการขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถประมาณเทียบเท่าการลดการนำเข้า Spot LNG โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะนำเข้า 18 ลำ เหลือ 8 ลำ อีกทั้งให้โรงไฟฟ้าหันไปใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทน เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ได้จัดหาแหล่งก๊าซฯจากในประเทศทั้งในอ่าวไทยและบนบก ตลอดจนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) เพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2565 นี้ ให้ได้ปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

"การออกมาตรการวันนี้ เป็นการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน แต่ (ค่าไฟ) จะลดหรือไม่ลด ต้องมาประเมินกันอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กกพ. ต้องไปดูโครงสร้าง...มั่นใจว่าแนวทางที่บริหารจัดการนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ราคาจะไม่สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย" นายกุลิศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเตรียมมาตรการรองรับความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์วิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาว เพราะอาจลากยาวไปจนถึงเดือน ก.พ.-มี.ค.66 เนื่องจากคาดว่าในช่วงฤดูหนาวปลายปีนี้ ทางยุโรปจะมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคา LNG มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก

ปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ

จับตาราคา Spot LNG หากเกิน 50 ดอลลาร์ 14 วันจ่อกำหนดเวลาปิดไฟเร็วขึ้น

ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่า และเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

หากราคา Spot LNG ยังคงปรับสูงขึ้นเกิน 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู การใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าจะคุ้มค่ามากกว่า แต่หากราคา Spot LNG เริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 26-29 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็จะพิจารณาให้ PTT และกฟผ. นำเข้าเพื่อมาเก็บสำรองไว้ ขณะเดียวกัน ยังเตรียมมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรับมือกับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบัน PTT มีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาว อยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี ราคาเฉลี่ย 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

แต่หากราคา Spot LNG สูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 14 วัน ก็จะมีมาตรการภาคบังคับด้านการประหยัดพลังงานออกมา โดยภาครัฐจะกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ มาตรการขอความร่วมมือประหยัดในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00 - 23.00 น.), การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำและอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

istock-939766470

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไป อันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่างๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังานโดยเร็ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป

advertisement

SPOTLIGHT