Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
TCEB ผนึก THACCA จัด “อวดเมือง 2568” คัดเมืองนำร่อง ปั้นศก.ด้วยเทศกาล
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

TCEB ผนึก THACCA จัด “อวดเมือง 2568” คัดเมืองนำร่อง ปั้นศก.ด้วยเทศกาล

9 ก.ค. 68
18:19 น.
แชร์

12 เมืองสร้างสรรค์จากทั่วไทย เตรียมขึ้นเวทีโชว์ศักยภาพใน “อวดเมือง 2568 The Pitching” บนเวทีระดับชาติอย่าง SPLASH Soft Power Forum 2025 เวทีนี้ไม่ใช่แค่การอวดเมือง แต่คือการเฟ้นหา 2 จังหวัดต้นแบบที่พร้อมก้าวสู่การเป็นเมือง “น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว” ด้วยพลังของ "เทศกาล" วัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริง

ในวันนี้ (9 ก.ค. 68) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (Thailand Convention & Exhibition Bureau) ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาเฟสติวัล และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA (Thailand Creative Content Agency) ได้จัดงานแถลงข่าวเชิญผู้สนใจร่วมสัมผัสพลังความคิดสร้างสรรค์จากทั่วประเทศในโครงการ “อวดเมือง 2568 The Pitching” ที่พร้อมเผยโฉม 12 จังหวัด 12 เมืองดาวเด่น ภายใต้เวที SPLASH Soft Power Forum 2025 ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 ณ ฮอลล์ 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โครงการนี้เฟ้นหาเมืองที่มีศักยภาพโดดเด่นผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อค้นหา 2 จังหวัดต้นแบบที่พร้อมยกระดับสู่เมือง “น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว” อย่างยั่งยืน โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่รอบ “Final Pitching” ในวันที่ 11 ก.ค. กับการเปิดเวที City Showcase ให้ทั้ง 12 จังหวัดได้อวดอัตลักษณ์ท้องถิ่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และแนวคิดการพัฒนาเมือง ผ่านการนำเสนอสุดเข้มข้นที่สะท้อนเสน่ห์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่

โครงการ “อวดเมือง 2568” และแนวคิดเบื้องหลัง

ในยุคที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยฐานความคิดสร้างสรรค์ ทรัพยากรอย่าง อัตลักษณ์ท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องเล่าเชิงวัฒนธรรม กำลังกลายเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ทรงพลัง เมืองต่างๆ จึงต้องหันกลับมาใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม” เหล่านี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน กระตุ้นการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างภาพลักษณ์ และปรับโครงสร้างประชากรด้วยการดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับสู่ถิ่นฐาน

เทศกาลในบริบทปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเฉลิมฉลองประจำปี หรือเวทีแสดงวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์อีกต่อไป แต่คือ “เครื่องมือเชิงกลยุทธ์” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

โครงการ “อวดเมือง 2568” เกิดขึ้นจากความพยายามของภาคีหลักอย่าง THACCA และ TCEB ในการยกระดับเทศกาลให้กลายเป็น “สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Urban Asset) โดยยึดหลักการออกแบบเทศกาลจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นแล้วเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เป้าหมายคือการเปลี่ยนเทศกาลให้กลายเป็นเครื่องมือพัฒนาเมือง ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน นักสร้างสรรค์ และนักเดินทาง ผ่านการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ใช้ระบบคิดเชิงธุรกิจ และอาศัยพลังความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

THACCA และ TCEB เชื่อว่า หากเทศกาลได้รับการพัฒนาอย่างมีระบบ เมืองจะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นจากการจำหน่ายบัตร ของที่ระลึก เวิร์กช็อป ตลาดสร้างสรรค์ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในรูปแบบ MICE เช่น การเจรจาธุรกิจ การเปิดตัวสินค้า และการประชุมเฉพาะทาง

นอกจากนี้ ยังสามารถวางแผนเพื่อดึงดูดการลงทุนระยะยาวในหลากหลายมิติ ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการท่องเที่ยว การตั้งสตูดิโอถาวรของนักสร้างสรรค์ หรือความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อสร้าง “ฤดูกาลแห่งการลงทุนประจำปี” ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักสร้างสรรค์ และนักเดินทาง พร้อมกันนั้นยังช่วยปรับภาพจำของเมือง และปลุกพลังความภาคภูมิใจให้กลับคืนสู่ชุมชน

แนวคิด “ราก” และ “แรง”: สูตรสำเร็จของเทศกาลที่เปลี่ยนเมือง

ในมุมมองของ THACCA และ TCEB หัวใจของเทศกาลที่สามารถขับเคลื่อนเมืองได้อย่างแท้จริง อยู่ที่การเชื่อมโยง “ราก” ได้แก่ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน เข้ากับ “แรง” หรือกลไกตลาด ความร่วมมือ และเครือข่ายพันธมิตร เทศกาลจึงไม่ใช่เพียงพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรม แต่คือ “จุดตั้งต้น” ของการเปลี่ยนผ่านเมืองให้กลายเป็น “เมืองปลายทางแห่งอนาคต” ที่ยืนหยัดได้บนเวทีโลก

THACCA และ TCEB เสนอว่าเทศกาลที่จะมีศักยภาพในการพัฒนาเมือง ควรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

  1. แนวคิดที่ชัดเจนและแตกต่าง: เทศกาลต้องมี “เรื่องเล่า” ที่แข็งแรง สะท้อนจุดแข็งของเมือง และเชื่อมโยงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกับโอกาสทางเศรษฐกิจ 
  2. การบริหารจัดการที่ยั่งยืน: เทศกาลต้องสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยโมเดลธุรกิจที่พึ่งพาตนเอง มีรายได้หลากหลายช่องทาง ไม่ขึ้นกับงบประมาณภาครัฐ โดยอาศัยรายได้จากการจำหน่ายบัตร การสปอนเซอร์ ความร่วมมือกับธุรกิจ และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ
  3. การมีส่วนร่วมจากคนทั้งเมือง: เทศกาลจะยั่งยืนได้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่รู้สึก “เป็นเจ้าของ” ทุกภาคส่วนต้องมีบทบาทร่วม ตั้งแต่เยาวชน ศิลปิน ผู้ประกอบการท้องถิ่น ครู องค์กรภาครัฐ จนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนจากภายในที่มั่นคงและต่อเนื่อง

เมื่อเทศกาลถูกออกแบบและขับเคลื่อนภายใต้กรอบคิดดังกล่าว เมืองก็จะไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “แพลตฟอร์ม” แห่งโอกาส ที่สามารถสร้างทั้งเศรษฐกิจใหม่ เครือข่ายใหม่ และความหวังใหม่ให้กับคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง เป้าหมายของโครงการนี้จึงมุ่งหมายไปที่การ “ยกระดับเมืองด้วยพลังจากประชาชนและชุมชน” ผ่านแนวทางที่เป็นระบบ ครอบคลุม และมีเป้าหมายชัดเจน ดังนี้

  • เพื่อคัดเลือกจังหวัดต้นแบบ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทศกาลท้องถิ่น โดยขับเคลื่อนผ่านพลังของประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนจังหวัดที่มีความพร้อมในการยกระดับเทศกาลสู่การเป็นเทศกาลประจำเมือง ที่สามารถสร้างการรับรู้ในระดับประเทศและต่อยอดสู่เวทีนานาชาติ
  • เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการออกแบบเทศกาลที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจในพื้นที่ และมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในระยะยาว
  • เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกลับถิ่นฐาน และดึงดูดประชากรใหม่ โดยเน้นการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อาศัย มีโอกาสทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดี
  • เพื่อวางรากฐานความยั่งยืนของเทศกาลในระยะยาว ผ่านการออกแบบโมเดลธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐ
  • เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเทศกาลในระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการ
  • บ่มเพาะทักษะด้านการจัดการ การพัฒนาเนื้อหา และความสามารถในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

เส้นทางโครงการ: 6 ระยะ สู่เวทีระดับชาติ

เพื่อคัดเลือกจังหวัดต้นแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายและเจตนารมณ์ของโครงการ THACCA และ TCEB ได้ออกแบบการดำเนินงานของโครงการ “อวดเมือง 2568” อย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบการทำงาน 6 ระยะ ตั้งแต่การพัฒนาในระดับพื้นที่ไปจนถึงการนำเสนอในเวทีระดับชาติ

  • ระยะแรก Kick-off Workshop มีการจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการแก่ตัวแทนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในระยะที่ 2 โดยมี 51 จังหวัดที่ยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
  • ระยะที่ 3 คือ The First City Pitch ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 29–30 เมษายน 2568 ณ ห้อง Event Lab มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมี 41 จังหวัดผ่านเกณฑ์เอกสาร และเข้าร่วม Pitching ต่อหน้าคณะกรรมการ ก่อนจะคัดเลือก 12 จังหวัดสุดท้ายเข้าสู่รอบการอวดเมือง ได้แก่ กาญจนบุรี, ขอนแก่น, จันทบุรี, เชียงราย, นครราชสีมา, พิษณุโลก, เพชรบุรี, แพร่, เลย, ศรีสะเกษ, สุโขทัย และอุบลราชธานี
  • ระยะที่ 4 เป็นช่วงของการอวดเมืองภายในงาน THACCA SPLASH 2025 โดยทั้ง 12 จังหวัดจะจัดแสดงแนวคิดเทศกาลของตนเอง พร้อมกิจกรรมหลากหลายภายในพื้นที่ Pavilion อาทิ Dream Box นำเสนอ “ของดีบ้านฉัน”, นิทรรศการ My City My Pride ถ่ายทอดความภูมิใจของเมือง และโซนจำหน่ายของที่ระลึกที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถร่วมโหวตและเชียร์เมืองที่ตนชื่นชอบในกิจกรรม City Pitching เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฟ้นหาจังหวัดต้นแบบ
  • ระยะที่ 5 และ 6 คือช่วงการตัดสินรอบสุดท้าย The Second City Pitch ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จะคัดเลือก 3 จังหวัดที่มีศักยภาพโดดเด่น และ The Final City Pitch ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จะตัดสินให้เหลือเพียง 2 จังหวัดสุดท้ายเพื่อเป็น “จังหวัดนำร่อง” ในการพัฒนาเทศกาลต้นแบบประจำปี 2569

อวดเมืองพาวิลเลียน: เมื่อเทศกาลกลายเป็นกลไกเล่าเรื่องเมืองไทย

สำหรับกิจกรรมภายในงาน THACCA SPLASH 2025 ในใจกลางพื้นที่จัดแสดงของงาน “อวดเมือง 2568” ผู้เข้าชมจะได้พบกับ “The Dreambox” โครงสร้างขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบให้เป็นเสมือน “กล่องแห่งความฝันของเมืองไทย” รายล้อมเวที City Pitching Stadium อย่างตั้งใจ เพื่อมอบประสบการณ์แบบ immersive รอบด้าน ให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองผ่านเทศกาลที่ออกแบบมาอย่างมีวิสัยทัศน์

ในแต่ละด้านของ The Dreambox ถูกแบ่งออกเป็น 12 พื้นที่ แทน 12 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการอวดเมือง โดยแต่ละพื้นที่คือ “Theme Showcase” ที่ไม่เพียงเล่าเรื่องความงามหรือความน่าสนใจของเมือง หากแต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างเทศกาลที่ต่อยอดสู่เศรษฐกิจและการลงทุนระดับสากล นี่คือการเปลี่ยนเทศกาลให้เป็น “City Branding” ที่สัมผัสได้จริง

ผู้ชมจะได้พบกับการจัดแสดงที่เต็มไปด้วยเทคนิคสร้างสรรค์ ทั้งภาพ เสียง วิดีโอ วัตถุเชิงสัญลักษณ์ และของชำร่วยที่ออกแบบขึ้นเฉพาะแต่ละเมือง ถ่ายทอดอัตลักษณ์ร่วมสมัย สะท้อนศักยภาพของเมืองใน 3 มิติหลัก คือ น่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าลงทุน

นอกจากนี้ The Dreambox ยังเป็นพื้นที่วางยุทธศาสตร์ อวดแนวคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของเทศกาล ได้แก่ โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ความเชื่อมโยงของผู้คน วัฒนธรรม และเรื่องเล่า และพลังของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ในขณะเดียวกัน The Dreambox ยังทำหน้าที่เป็นบริบทเสริมให้กับการ Pitch บนเวทีหลัก โดยเมื่อเรื่องเล่าของเมืองได้ถูกถ่ายทอดผ่านกล่องแห่งความฝันแล้ว เมืองแต่ละแห่งจะก้าวขึ้นสู่เวที City Pitching Stadium เพื่อ "อวด" แนวคิดเทศกาลของตนเองต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ชม โดยมีเวลาอันจำกัดแต่เปี่ยมความหมายในการแสดงให้เห็นว่า เมืองของตนมีความพร้อมเพียงใดในการเปลี่ยนเทศกาลให้เป็นพลังขับเคลื่อนเมือง

  • 8 กรกฎาคม 2568: เปิดฉากด้วยการจับสลากลำดับการนำเสนอ บรรยากาศแห่งความคาดหวังเริ่มต้นขึ้น เมืองทั้ง 12 จังหวัดจะได้รู้ว่าใครจะขึ้นเวทีก่อน ใครจะเป็นผู้ปิดท้าย และจะต้องวางกลยุทธ์การเล่าเรื่องอย่างไรในเวลาที่มีอยู่จำกัด
  • 10 กรกฎาคม 2568: เข้าสู่วันแห่งการอวดเต็มพลัง ตัวแทนจากทั้ง 12 จังหวัดขึ้นเวที City Pitching Stadium เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์ แผนงาน และความฝันของเมืองต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเฟ้นหา “3 จังหวัด” ที่โดดเด่นที่สุด ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
  • 11 กรกฎาคม 2568: รอบชิงชนะเลิศที่ 3 จังหวัดสุดท้ายจะต้องอวดให้สุดความสามารถ นี่ไม่ใช่แค่การสรุปแผน แต่คือการแสดงพลังของเมืองในทุกมิติ ก่อนที่เวทีจะปิดด้วยการประกาศจังหวัดที่ชนะเลิศ

สำหรับ 2 จังหวัดที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับโอกาสในการเป็น “จังหวัดนำร่อง” ที่จะได้ลงมือจัดเทศกาลต้นแบบจริงในพื้นที่ พร้อมวางรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ขยายผลสู่ “เทศกาลประจำเมือง” ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างภาพจำ และสร้างอนาคตของเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรม Pitch เมือง โครงการ “อวดเมือง 2568 The Pitching” ยังจัดเต็มด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ออกแบบมาเพื่อเติมเต็มประสบการณ์การเรียนรู้และมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานในหลายมิติ ดังนี้

1. “อวดเมือง” Talk: อวดเมืองให้ปัง! เล่าเรื่องให้เมืองเกิด: เวทีเสวนารายวัน ที่เจาะลึกกลไกการใช้ “เทศกาล” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยแต่ละวันจะนำเสนอประเด็นที่แตกต่างกันแต่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองด้วยซอฟต์พาวเวอร์

2. กิจกรรม City Show: การแสดงสดสั้น ๆ จากตัวแทน 12 จังหวัด ถ่ายทอดอัตลักษณ์เมืองผ่านศิลปะ ดนตรี วิถีชีวิต อาหาร และวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างภาพ “เทศกาลในชีวิตจริง” ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่และผู้คนอย่างแท้จริง

3. กิจกรรม Popular Vote On Ground: เปิดให้ผู้ชมร่วมโหวต “จังหวัดในดวงใจ” ด้วยการสแกน QR Code ที่บูทของแต่ละจังหวัด และลงคะแนนผ่าน Google Form (1 ครั้งต่อวันต่ออีเมล)
🔗 ลิงก์โหวต: https://forms.gle/dk29pSCJQwzv2Qcr5

  • ผู้ร่วมโหวตทุกวัน ลุ้นรับของที่ระลึกจากกิจกรรมอวดเมือง เช่น เสื้อยืดหรือกระเป๋าผ้า (วันละ 10 รางวัล)
  • หากโหวตครบ 4 วัน มีสิทธิ์ลุ้นรางวัล Giftset ของชำร่วยเทศกาลจาก 12 จังหวัด มูลค่า 1,500 บาท (จำนวน 20 รางวัล มอบในวันสุดท้าย)

4. กิจกรรม Leaflet Rally Stamp: ผู้เข้าร่วมจะได้รับ Leaflet ขนาด 4x6 นิ้ว สำหรับสะสมตราประทับจากทั้ง 12 จังหวัดภายในงาน โดยสามารถขอตรายางเฉพาะจังหวัดได้ที่บูทของแต่ละจังหวัด เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือแลกรับของรางวัลในกิจกรรมเฉพาะ

โอกาสสู่เวทีโลก: โครงการไม่จบแค่เวทีในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ “อวดเมือง 2568 The Pitching” ไม่ได้สิ้นสุดที่งาน SPLASH Soft Power Forum 2025 เท่านั้น เพราะจังหวัดทั้ง 3 แห่งที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพต่อในระดับนานาชาติ ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป ณ งาน Expo 2025 Osaka Kansai ประเทศญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการออกแบบเทศกาลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล โดยผู้แทนจากแต่ละจังหวัด (3 คน) จะได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ทั้งค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ (ชั้นประหยัด) ค่าที่พัก และค่าอาหาร ตลอดการเข้าร่วมกิจกรรม

สำหรับ 2 จังหวัดที่ได้รับเลือกเป็น “เมืองต้นแบบ” จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2569 เพื่อนำเสนอเทศกาลต้นแบบสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับให้กลายเป็นเทศกาลประจำเมืองที่จัดได้ต่อเนื่องในทุกปี

SPOTLIGHT ขอเชิญผู้อ่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในงาน SPLASH Soft Power Forum 2025 ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจให้กับทั้ง 12 จังหวัดในเวที Final Pitching ว่าใครจะได้ครองตำแหน่ง “เมืองต้นแบบเทศกาล” เพื่อเป็นเจ้าภาพ “อวดเมือง” ในปี 2569 และปักหมุดเมืองไทยบนแผนที่ Soft Power โลกอย่างเต็มภาคภูมิ


แชร์
TCEB ผนึก THACCA จัด “อวดเมือง 2568” คัดเมืองนำร่อง ปั้นศก.ด้วยเทศกาล