ธุรกิจการตลาด

‘การบินไทย’ กำไรสุทธิ 28,368 ล้าน โต 10,429.4% ออกจากแผนฟื้นฟูฯ H1/68 

23 ก.พ. 67
‘การบินไทย’ กำไรสุทธิ 28,368 ล้าน โต 10,429.4% ออกจากแผนฟื้นฟูฯ H1/68 

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศกำไรสุทธิปี 2566 กำไรสุทธิ 28,096.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,429.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 272.25 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.87 บาท จากปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท 

โดยคาดว่ารายได้ปี 2567 จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งคาดว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ จะสามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ภายในปีนี้ และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก และจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้ภายในครึ่งแรกปี 2568

ทั้งนี้ ตัวเลขผลประกอบการปี 2566 โดยสรุป มีดังนี้

  • กำไรสุทธิ 28,368 ล้านบาท +10,429.4% จากปีก่อน
  • รายได้รวม 161,067 ล้านบาท +53.3% จากปีก่อน
  • EBITDA 42,875 ล้านบาท +149% จากปีก่อน
  • จำนวนเครื่องบิน 70 ลำ จากปีก่อน 64 ลำ
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น -43,142 ล้านบาท จากปีก่อน -71,024 ล้านบาท
  • จำนวนผู้โดยสาร 13.76 ล้านคน +52.7% จากปีก่อนที่ 9.01 ล้านคน
  • อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabon Factor) 79.7% + 11.8% จากปีก่อน 67.9%
  • รายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย 3.06 บาท/คน-ก.ม. +8.5% จากปีก่อนที่ 2.82 บาท/คน-ก.ม.
  • กระแสเงินสด 67,000 ล้านบาท

การบินไทย

ทั้งนี้ รายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 161,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56,026 ล้านบาท +53.3% ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน มีจำนวน 132,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.3% เนื่องจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ให้บริการเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รวมถึง การกลับมาให้บริการในเส้นทางสู่ สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง และการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยอดนิยม รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) เท่ากับ 3.06 บาท เพิ่มขึ้น 0.24 บาท (8.5%) หรือประมาณ 10,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ THAI มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 3,956 ล้านบาท ประกอบด้วย กำไรจากการยกเลิกสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่พึงได้ กำไรจากการตัดรายการหนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธีทุนตัดจำหน่าย และขาดทุนจาการปรับปรุงหนี้สินให้เป็นไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ นอกจากนี้มีกำไรจากการขายทรัพย์สิน จำนวน 469 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI เปิดเผยว่า ผลประกอบการของการบินไทยในปีที่ผ่านมาถือว่าออกมาค่อนข้างดี จำนวนผู้โดยสารก็สูงขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวกลับมา และมีมาตรการผ่อนคลายวีซ่า ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเพิ่มมากขึ้น 

โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวน 28.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1554.4% จากปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 4.6 ล้านคน จีน 3.5 ล้านคน และเกาหลีใต้ 1.7 ล้านคน

คาดออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ครึ่งแรกของปี 68

อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการขยายฝูงบิน และเส้นทางบิน รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และเพิ่มรายได้

โดยในช่วงกลางปีนี้ น่าจะเห็นแผนการเพิ่มทุนและกระบวนการเพิ่มทุน และอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกได้ภายในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ​ ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2568 ส่วนจะสามารถกลับเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อไหร่นั้น คงต้องขอดูสถานการณ์อีกครั้ง

ปีนี้เริ่มจ่ายคืนหนี้ปีละ 10,000 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี

นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้จะเห็นการบินไทยใช้เงินก้อนใหญ่ในการจ่ายคืนหนี้ปีละ 10,000 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี รวมกันแล้ว 120,000 ล้านบาท 

โดยแบ่งเป็น ดังนี้

  • 72,000 ล้านบาท เป็นหนี้ หุ้นกู้
  • 30,000 ล้านบาท เป็นหนี้ สถาบันการเงิน
  • หนี้อื่นๆ เช่น หนี้การค้า และอัตราดอกเบี้ย รวมกว่า 12,000 ล้านบาท

จัดการฝูงบิน 80 ลำ คอนเฟิร์มแล้ว 45 ลำ ชี้มีเงินเพียงพอ

นายปิยสวัสดิ์ เผยถึงการจัดหาเครื่องบินเข้ามาในฝูงบินเพิ่มขึ้น เพื่อจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคตว่า ขณะนี้ในแผนจะจัดหาฝูงบินอีก 80 ลำ ซึ่งขณะนี้คอนเฟิร์มแล้ว 45 ลำ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะแนวทางการจัดซื้อเป็นในรูปแบบใด

“ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผลการดำเนินงาน และแผนงานในอนาคตเชื่อว่า การบินไทยได้มีการผลการดำเนินงานทีดีและมีเงินเพียงพอในการชำระค่าเครื่องบิน ซึ่งเอาจริงๆ จะให้ซื้อด้วยเงินสดก็ยังสามารถทำได้เลย เมื่อดูตัวเลขในแต่ละปีที่จะเกิดขึ้น” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของการบินไทยอยู่ที่ประมาณ 21% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดมาก และยิ่งถ้าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับการบิน) การบินไทยก็ควรที่จะเร่งมีการส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่ควรจะเป็น คือ ระดับ 30-35%  ฉะนั้น การบินไทยจึงจำเป็นที่ต้องเร่งจัดหาฝูงบินเพื่อมารองรับให้ทันกับในอนาคต

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT