ธุรกิจการตลาด

รอเก้อ! Tesla ไม่เปิดตัว 'Model 2' นักลงทุนผิดหวัง ฉุดหุ้นร่วง 5%

2 มี.ค. 66
รอเก้อ! Tesla ไม่เปิดตัว 'Model 2' นักลงทุนผิดหวัง ฉุดหุ้นร่วง 5%

ปล่อยให้ผิดหวังกันถ้วนหน้า ทั้งสาวก Tesla และ นักลงทุน หลังงาน ‘Tesla Investor Day’ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ไร้วี่แววการเปิดตัว ‘Tesla Model 2’ หรือ รถโมเดลใหม่ ราคาย่อมเยาว์ ที่กูรูคาดว่าจะปล่อยออกมาสู้ศึก EV ค่ายรถจีนในงานนี้ หลัง Musk เคยเปรยไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน

 

CNBC สรุปการแถลงของ Tesla ในงานเมื่อวานว่า ‘เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ รวมถึงการพูดถึงความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ขาดรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ของ Tesla’ ในขณะที่ Gizmodo เหน็บแรงกว่า โดยบอกว่าเป็นแผนที่ ‘น่าเบื่อ อลหม่าน และยุ่งเหยิง’ โดยงานในวันนี้เป็นการเปิดเผยถึงแผนการณ์ใหญ่ ‘Master plan part 3’ ที่โฟกัสไปที่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อโลก หลังจากที่เคยเปิดตัว Part Deux (Part 2) ไปเมื่อปี 2016

 

Tesla Model 2



แฟน Tesla อกหัก หลังไร้วี่แวว ‘รุ่นต่ำกว่าล้านบาท’

 

ที่ผ่านมา Tesla ได้เปิดตัวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในงานอย่าง Battery Day หรือ AI Day แต่ในงาน ‘Investor Day’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ บริษัทเคยแง้มรายละเอียดไว้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า “จัดขึ้นเพื่อให้นักลงทุนได้เห็นไลน์การผลิตที่ล้ำสมัยที่สุดของบริษัท พร้อมพูดคุยถึงแผนการขยายกิจการ แพลตฟอร์มเจเนอร์เรชันที่ 3 (โครงสร้างตัวรถรุ่นใหม่) การจัดสรรเงินทุน กับทีมบริหารของ Tesla”

ซึ่งเมื่อมีการพูดถึง การเปิดตัวแพลตฟอร์มเจนใหม่ ก็ทำให้แฟนๆ ลุ้นกันว่า อาจเป็นเวทีให้ Tesla เผยรายละเอียดเกี่ยวกับรถโมเดลใหม่ซึ่งใช้แพลตฟอร์มนี้ หลายฝ่ายเก็งกันว่าเป็น ‘Tesla Model 2’ หรือ ‘Model Q’ รถรุ่นใหม่ราคาต่ำกว่าล้านบาท ที่ Musk เคยกล่าวถึงเมื่อหลายปีก่อน แต่แฟนๆ ก็ต้องอกหักกันถ้วนหน้า เมื่อไร้เงา Tesla รุ่นประหยัดในการแถลงครั้งนี้

 




รวมไฮไลต์เด็ดงาน Investor Day ของ Tesla 


เว็บไซต์ Tech Crunch สรุปไฮไลต์ที่น่าสนใจในงาน Investor Day ของ Tesla เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมาดังนี้

 

ตั้งเป้าผลิตรถ EV 20 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2030

 

Tesla EV

 

แม้เป้า 20 ล้านคัน/ปี จะไม่ใช่เป้าใหม่สำหรับ Tesla แต่ปัญหาอยู่ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่อยู่ราว 1.37 ล้านคัน ในปี 2022 ขึ้นอีก 15 เท่าเพื่อให้ถึงเป้าได้อย่างไร?

Musk เผยว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องดีมานด์ แต่เป็นกำลังการผลิตที่บริษัทกำลังพัฒนาระบบการผลิตที่ครบตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ (Vertical Integration), เพิ่มกำลังการผลิตโรงงานที่มีอยู่ และขยายโรงงาน, เพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตและเพิ่มโมเดลรถใหม่ๆ โดยเจ้าตัวเผยว่า ไม่ควรมีเกิน 10 รุ่น

 

เน้นผลิตแบบครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน

 

Tesla โรงงาน

 

นับได้ว่า Tesla เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เองได้มากที่สุด ซึ่งถึงการผลิตเบาะรถยนต์ และไมโครชิปได้เองด้วย ในงาน Investor Day ที่ผ่านมา ผู้บริหารแต่ละส่วนของ Tesla ต่างออกมาเผยความคืบหน้าในการมุ่งสู่กระบวนการผลิตครบวงจร ซึ่งรวมไปถึง การพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นเองเพื่อใช้กับ ‘ไมโครโพรเซสเซอร์’ ที่บริษัทสร้างขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

โดย Tesla ยังได้เปิดโรงสกัดแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญในการทำแบตเตอรี ที่เมือง Corpus Christi ในรัฐเท็กซัส ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการได้ภายในสิ้นปี 2023 นี้ ส่วนข่าวเรื่อง Gigafactory แห่งใหม่ที่ประเทศเม็กซิโก ที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้นั้น Musk เผยว่าจะมาช่วยเสริมการผลิตของโรงงานอื่นทั่วโลก โดยเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้ Tesla ทั้งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และอาจทำให้ราคาของรถถูกลงได้ คือการลดการใช้ ‘Rare Earth Meatal’ หรือกลุ่มธาตุโลหะหายาก ในระบบส่งกำลัง (Powertrain) ของตัวรถ ซึ่งจะไม่ทำให้รถ Tesla สูญเสียสมรรถนะลงแต่อย่างใด

 

หุ่นยนต์ ‘Optimus’ ที่เก่งกว่าเดิม

 

 

หนึ่งไฮไลต์ที่พอทำให้แฟนคลับตื่นตาตื่นใจได้บ้าง คือคลิปวิดีโอสั้น อวดศักยภาพของหุ่นยนต์ ‘Optimus’ หลังการเปิดตัวที่งาน AI Day ครั้งก่อน ได้โชว์เจ้าหุ่น Optimus ในสองเวอร์ชัน คือเวอร์ชันที่ดูเก็บรายละเอียดไม่เรียบร้อย แต่เดินได้ กับเวอร์ชันที่ดูสมบูรณ์เรียบร้อยแต่ต้องให้ทีมงานช่วยเข็นมาออกงาน

มาในครั้งนี้ Musk ได้อวดคลิปเจ้าหุ่น Optimus เวอร์ชันสมบูรณ์ ถึง 3 ตัวด้วยกัน โดยตัวแรก เดินออกมาหยิบแขนของเพื่อนอีกตัว ไปให้เพื่อนตัวที่ทำหน้าที่เหมือนนายช่างหุ่นยนต์ ช่วยประกอบให้ พร้อมกับมีกิมมิคถ่ายรูปขณะกำลังช่วยกันประกอบแขนให้เพื่อนด้วย ซึ่งนอกจากจะโชว์ความเกรียนสไตล์ Elon Musk แล้ว ยังเป็นการโชว์ความก้าวหน้าของหน่วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท ที่มีศักยภาพมาช่วยมนุษย์ทำงานได้จริงอีกด้วย

ไม่ใช่แค่อวดประสิทธิภาพเท่านั้น Musk และคณะยังเผยถึงหัวใจสำคัญของการที่จะทำให้ Tesla เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คือความพร้อมทางด้านชิ้นส่วนต่างๆ อาทิ มอเตอร์ เกียร์ แบตเตอรี รวมถึงระบบ AI ซึ่งใช้ในการฝึกฝนหุ่นยนต์ตัวนี้ ล้วนนำมาชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตรถยนต์ Tesla และ AI ที่ในระบบ Autopilot ของ Tesla นั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า การผลิตจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยโรงงานที่ Tesla มีอยู่แล้วนั่นเอง

 

Tesla Investor Day

 

ดูเหมือนว่าแผนการณ์ทั้งหมดจะยังไม่ถูกใจนักลงทุนมากพอ เห็นได้จากการที่หุ้น Tesla ร่วงลงกว่า 5% ในช่วงการเทรดหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการ ของเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ดีหุ้น Tesla ก็ถือว่าฟื้นขึ้นมาแล้วกว่า 60% จากสภาพอันย่ำแย่ในปีที่ผ่านมา

นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรมสุดล้ำโลกแล้ว Musk ยังขึ้นชื่อเรื่องการ ‘พลาดเดตไลน์’ ด้วย โดยจาก Master Plan Part Deux นั้น มี 4 เรื่องที่ Musk เคยวาดฝันไว้ แต่ยังทำไม่สำเร็จ ได้แก่

  •  สร้างสุดยอดหลังคา ‘โซลาร์รูฟ’ ซึ่งมีแบตเตอรีในตัว

  • ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์รถ EV ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งาน

  • พัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยตนเองของรถให้ปลอดภัยขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับการขับรถปกติ ด้วยระบบการเรียนรู้ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลของกันและกันจากรถ Tesla ทั้งหมด

  • ทำให้รถสร้างเงินให้ผู้ใช้ เวลาที่ไม่ได้ใช้งาน

 

ที่มา : CNBC, TechCrunch, Electrek

advertisement

SPOTLIGHT