ธุรกิจการตลาด

สรุปแล้ว 'รถยนต์ EV' เป็นอนาคตของยานยนต์ หรือแค่กระแสชั่วคราว?

27 เม.ย. 67
สรุปแล้ว 'รถยนต์ EV' เป็นอนาคตของยานยนต์ หรือแค่กระแสชั่วคราว?
ไฮไลท์ Highlight
  • ปี 2568 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในประเทศไทยอาจทะลุ 150,000 คัน

  • จำนวนสถานีชาร์จ EV ยังไม่ครอบคลุม และไม่เพิ่มตามจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนน

  • ปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์ EV ราคาแพงคือ ‘แบตเตอรี่’

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ถูกวางให้เป็นอนาคตของยานยนต์เพื่อมาแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2035 ตามมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนในหลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ปี 2024 กับกลายเป็นปีที่ยอดขายรถยนต์ EV ทั่วโลกซบเซา ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายราย ต่างออกมาพับโปรเจ็กต์หรือเลื่อนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปจำนวนมาก และยังมีข่าวรายได้และยอดขายของรถยนต์ EV ที่ลดลงในบางยี่ห้อดังนี้:

- Ford ชะลอการลงทุน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแผนการลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- General Motors ชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นสำคัญ และยกเลิกความร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกับ Honda มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- Tesla ประกาศชะลอแผนโรงงานในเม็กซิโก และประกาศรายได้ไตรมาสที่ 1/2024 ที่ลดลงสูงที่สุดในรอบ 12 ปี

- Toyota เลื่อนเดินสายผลิตรถยนต์ EV ในสหรัฐฯ ไปฤดูใบไม้ผลิปี 2026

- Mercedes-Benz ลดแผนการขายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหลังจากปี 2030 เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

- Apple ยกเลิกแผนการโครงการรถยนต์ไฟฟ้า

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รถยนต์ EV จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก หรือเป็นเพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป? SPOTLIGHT ได้รวบรวมการวิเคราะห์จากผลงานวิจัยและสื่อต่างประเทศมาไว้ในบทความนี้

ย้อนดูงานวิจัยและผลสำรวจอนาคตของยานยนต์

ผลสำรวจของ McKinsey Mobility พบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รถยนต์คันต่อไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องสามารถเดินทางได้เฉลี่ย 437 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วโลกในกลุ่ม BEV หรือ รถยนต์ที่ไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% จะเพิ่มขึ้น 6 เท่าตั้งแต่ปี 2021-2030 โดยยอดขายต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40 ล้านคัน จาก 6.5 ล้านคัน ส่วนภายในปี 2022-2030 ห่วงโซ่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสามารถเติบโตได้ 27% ต่อปี มูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขนาดตลาดประมาณ 4,700 กิกะวัตต์-ชั่วโมง

ส่วนงานวิจัย ‘The future of four wheels is all electric’ ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ภายในปี 2035 รถยนต์ EV จะมีสัดส่วนถึง 50% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลก สังเกตได้จากผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ที่ได้ผุดขึ้นมาทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนเพียงประเทศเดียวที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 ราย และในฝั่งของบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ต่างปรับเปลี่ยนไลน์การผลิต และทยอยออกรถยนต์ไฟฟ้ามาสู้กันในตลาดยานยนต์แบบคึกคัก

ส่วนราคาแบตเตอรี่ EV จะลดลงเหลือ 91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือลดลง 40% ภายในปี 2025 จากตอนนี้ที่ราคาอยู่ที่ 110–120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยสามผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าหลัก นั่นก็คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะมีซัพพลายแบตเตอรี่ที่เพียงพอ และผลักดันราคาให้ต่ำลง

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะมาพร้อมกับการพัฒนาทางเคมีของแบตเตอรี่ เช่น แบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งสามารถเพิ่มระยะทางต่อการชาร์จจาก 300 ไมล์เป็นมากกว่า 600 ไมล์ นอกจากนี้ สำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ยังทำให้โลหะมีค่าและสามารถหมุนเวียนได้ โดยคาดการณ์ว่าเกือบ 50% ของโลหะที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่อาจมาจากวัสดุรีไซเคิลภายในปี 2040

สำหรับประเทศไทย รถยนต์ไฟฟ้ามียอดที่เติบโตพุ่งสูงขึ้นมาก  จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก รายงานสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่แล้วที่ 76,314 คัน หรือพุ่งสูงขึ้น 648% และสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่ที่ 12% ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนตลาดโลก 13% ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนในปีนี้ ข้อมูลของ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EVAT) คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในไทยจะทะลุ 150,000 คัน

ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของรถยนต์ EV 

1.สถานีชาร์จ EV ไม่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์บนท้องถนน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงแรกที่รถยนต์ไฟฟ้าถูกนำเข้ามาสู่ตลาดยานยนต์ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือ กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเทคโนโลยีหรือสนใจรถยนต์ EV เป็นพิเศษ ทำให้มียอดขายและการเติบโต รวมไปถึงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ ที่ถูกวางตัวเป็นอนาคตของยานยนต์ มาแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กลุ่มคนที่ชื่นชอบ EV ได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วพอสมควร ผู้ผลิตและแบรนด์รถยนต์จำเป็นต้องไปจับลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มใหม่เผชิญก็คือ ปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดจากการเติบโตที่เร็วเกินไปกว่าความพร้อมจริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างกันเลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุแรกก็คือ ปัญหาของ ‘สถานีชาร์จ EV’ ที่ยังไม่ครอบคลุม และไม่เพิ่มตามจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนน โดยเฉพาะสำหรับการเดินทางไกล ที่ต้องวางแผนการเดินทางและสำรวจสถานีชาร์จให้ดีก่อน ซึ่งการชาร์จรถยนต์ EV ใช้เวลานานพอสมควร ใช้เวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งการชาร์จแบบ fast charge ยังช้ากว่าเมื่อเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาป

ยกตัวอย่างสหราชอาณาจักร ในปี 2022 มียอดขายรถยนต์ EV ทั้งหมด 16.6% ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ แต่พบว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา มีจุดชาร์จเพียง 44,408 จุดทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่ง 8,680 จุดเป็นเครื่องชาร์จแบบรวดเร็ว ทำให้อัตราส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อสถานีชาร์จ EV ต่ำมาก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าขายดีเกินความสามารถในการรองรับการชาร์จได้

ทำให้ทางรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายสถานีชาร์จสาธารณะจำนวน 300,000 แห่ง ภายในปี 2030 แต่สำหรับสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์ (SMMT) มองว่าจำนวนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ก็ยังไม่สามารถรองรับจำนวนรถที่มากพอได้ โดยเรียกร้องให้มีสถานีชาร์จ 2.3 ล้านแห่ง ซึ่งดูเหมือนเป็นหนทางอีกยาวไกลมาก ทำให้ผู้บริโภคหลายคน ถอยหลังให้กับรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับบางคน การมีโรงจอดรถในบ้านทำให้สามารถติดตั้งเครื่องชาร์จได้ง่ายดาย ไม่ต้องพึ่งสถานีชาร์จสาธารณะ ชาร์จรถยนต์ค้างคืนได้ แต่บางคนที่อาศัยในพื้นที่ที่จำกัด ตามคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ ทำให้ไม่สามารถชาร์จแบตได้ หรือต่อให้คอนโดมีที่ชาร์จสำหรับ EV โดยเฉพาะ ก็ต้องแย่งกันใช้กับคนอื่นอยู่ดี

2.ราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง ทำให้หลายคนชะล่าใจ

ส่วนอีกปัจจัยคือเรื่องของ ‘ราคา’ ที่โดยเฉลี่ยสูงกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งราคาของรถยนต์ก็ตามมาด้วยระยะทางที่สามารถวิ่งได้ ยิ่งรุ่นที่มีราคาแพง ก็ยิ่งวิ่งได้ระยะไกลขึ้น

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์ EV ราคาแพงคือ ‘แบตเตอรี่’ โดยปัจจุบันรถยนต์ EV หลายรุ่นใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพราะมีอายุการใช้งานที่นานกว่า ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น และยังเก็บไฟได้เยอะด้วย ทำให้รถยนต์ EV สามารถวิ่งได้ครั้งละ 500-600 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ต่อการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง 

ส่วนกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ยังใช้เทคนิคที่ซับซ้อน ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษและแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งยังรวมไปถึงการติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มเติม ทำให้แบตเตอรี่มีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก เรียกได้ว่ามากถึง 30% ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน

นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดลงทุนการขุดหาลิเธียมและโคบอลต์ในระดับที่สูงมาก เพราะทรัพยากรเหล่านี้หายากขึ้นมาก มีราคาแพง และกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างกันออกไปดังนี้: 

- ชิลีมีการผลิตทองแดงประมาณ 1 ใน 3 ของโลก 

- สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมีโคบอลต์อยู่ที่ 3 ใน 4 ของอุปทานโลก

- จีนมีธาตุที่หายากมากกว่า 60% ซึ่งกำลังการกลั่นโลหะและแร่ธาตุจำนวน 60-90% ก็มาจากจีนเช่นกัน 

นอกจากนี้ เมื่อขับรถยนต์ EV ไปหลายปี สิ่งที่ตามมาคือแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อให้รถยนต์สามารถขับต่อไปไม่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแบตเตอรี่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน แบรนด์รถยนต์ EV หลายยี่ห้อจึงมีการรับประกันแบตเตอรี่ไว้เฉลี่ยนานถึง 5-8 ปี ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงมาเยอะพอสมควรเมื่อนำมาขายต่อ

ข้อมูลจาก iSeeCars เผยว่า หลังจากใช้งานไป 5 ปี ราคารถยนต์มือสองทั่วไปจะลดลงประมาณ 38.8% ส่วนราคารถยนต์ไฟฟ้ามือสองจะลดลงเฉลี่ยมากถึง 50% ซึ่งรถยนต์ที่มีราคาขายต่อลดลงมากที่สุดคือ Tesla Model S มูลค่าลดลงสูงถึง 55.5% ตามมาด้วย Chevrolet Bolt EV ลดลง 51.1% และ Nissan Leaf ที่ลดลง 50.8% ตามมา

‘ไฮบริด’ ตัวเลือกที่จะมาแทนที่ EV?

ถึงแม้รถยนต์ EV ได้รับความนิยมน้อยลง แต่รถยนต์ไฮบริดกลับได้รับความนิยมมากขึ้น ข้อมูลจาก MarkLines รายงานว่าในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฮบริดใน 14 ประเทศ นำโดย จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นมากถึง 30% แตะที่ 4.21 ล้านคัน ในขณะที่รถยนต์ EV และ PHEV เพิ่มขึ้นเพียง 28% 

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ไฮบริดของ Toyota เพิ่มขึ้น 32% เป็น 3.44 ล้านคัน และอาจแตะ 5 ล้านภายในปี 2025 ส่วน Honda มียอดขายรถยนต์ไฮบริดทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20% ด้าน Nissan กำลังพิจารณาที่จะเปิดตัวโมเดลที่มีเทคโนโลยีไฮบริด e-Power ในสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2026 และ Ford ที่คาดว่าจะนำเสนอรถยนต์ทุกรุ่นในรุ่นไฮบริดในสหรัฐฯ ภายในปี 2030

ส่วน Fortune Business รายงานมูลค่าขนาดตลาดรถยนต์ไฮบริดทั่วโลก ที่มีมูลค่าเกือบ 2.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 4.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2530 ด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีที่ 7.3% 

ถึงแม้รถยนต์ไฮบริดจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 20% และไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายอากาศสะอาดในหลายประเทศ แต่หลายคนเปิดใจให้กับรถยนต์ไฮบริดมากกว่า เพราะราคาที่ถูกกว่าและไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จไฟ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายตัดสินใจเพิ่มรถยนต์รุ่นไฮบริด เพราะมีโอกาสที่คนจะขับรถยนต์ไฮบริดมากกว่ารถยนต์ EV

อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฮบริดเปรียบเสมือนเพียง ‘ตัวเชื่อม’ ในการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปสู่รถยนต์ EV มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว รถยนต์ไฮบริดยังมีการใช้น้ำมันอยู่ดี ซึ่งก็หมายตวามว่ายังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนหนึ่ง แต่เพราะการเปลี่ยนผ่านที่ช้ากว่าคาด ทำให้รถยนต์ไฮบริดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

อีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นนั่นก็คือรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่อากิโอะ โตโยดะ ประธานของ Toyota ยังเคยออกมาสนับสนุนรถยนต์ไฮโดรเจนอย่างหนักแน่น และกล่าวว่า ส่วนแบ่งของรถยนต์แบตเตอรี่จะสูงสุดที่ 30% และรถยนต์ไฮโดรเจนและเครื่องยนต์สันดาปจะกินส่วนแบ่งที่เหลืออีก 70%

ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบที่มีมากที่สุดในจักรวาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นบนโลกได้ง่าย เพราะไฮโดรเจนบริสุทธิ์ส่วนใหญ่เกิดจากการแยกคาร์บอนออกจากมีเทน ซึ่งก็ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในขณะเดียวกัน ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่เกิดขึ้นจากการใช้ไฟฟ้าสะอาดเพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีของการทำไฮโดรเจนสำหรับใช้ในรถยนต์ยังเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้ความสามารถสูง และยังไม่มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องสถานีชาร์จเลย เพราะเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน

Michael Liebreich ผู้ก่อตั้ง Bloomberg New Energy Finance เผยว่า ไฮโดรเจนจะไม่มีทางสามารถแทนที่หรือเอาชนะรถยนต์ EV ได้ เนื่องจากกระบวนการกลั่นไฮโดรเจนสะอาดที่มีความอันตรายมาก และยังมีพลังงานต่อหน่วยปริมาตรน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ถึงแม้สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศกล่าวว่า ไฮโดรเจนจะคิดเป็น 16% ของการขนส่งทางถนนในปี 2050 แต่ Liebreich มองว่า ตัวเลขนั้นจะเป็นยานพาหนะขนาดใหญ่ เช่น รถประจำทางและรถบรรทุกมากกว่า

บทสรุป: ปัญหาโครงสร้างและเทคโนโลยี 

สุดท้ายแล้ว คำถามนี้คงตอบได้ยาก เพราะหากมีการปรับตัวของทุกฝ่าย รถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นตัวเลือกของยานยนต์ในอนาคตก็เป็นได้ ถึงแม้ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตช้าลง แต่สิ่งที่แน่นอนและเห็นภาพชัดที่สุดก็คือ ความไม่พร้อมในด้านโครงสร้างทั่วโลก และการปรับตัวเข้าเทคโนโลยีของผู้ผลิต

ถ้าทั้งสองปัจจัยนี้ สามารถแก้ไขได้ถูกจุด รวมไปถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกในอนาคตได้ ซึ่งระหว่างการพัฒนาปรับโครงสร้างให้สามารถรองรับการใช้งานได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้กับภาคประชาชนเช่นกัน

รับชมรายการ Tech-Trend ได้ที่

ที่มา: Goldman Sachs, McKinsey, Business Insider, Financial Times, Easy Sunday, BBC, BEEV, The Verge, Spectrum News 1, Wall Street Journal, Technology Review, Nikkei Asia, Fortune Business Insight, CNBC, The Guardian, iSeeCars

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT