ธุรกิจการตลาด

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ กับ 9 ชุดเลขสุดว้าวที่ซ่อนอยู่

15 ก.ย. 65
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ กับ 9 ชุดเลขสุดว้าวที่ซ่อนอยู่

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งแรกของไทย กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังปิดปรับปรุงไปเป็นเวลาถึง 3 ปี กลับมาครั้งนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์มาพร้อมกับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ร่วมสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ หน้าตา ฟังก์ชัน และดีไซน์ แต่ยังคงไว้ซึ่งการเป็น ‘สุดยอดอีเวนต์แพลตฟอร์ม’ ที่พร้อมรองรับงานอีเวนต์ จากทั่วโลก

Spotlight จะพาไปส่องไฮไลต์ที่น่าสนใจ ผ่าน ‘ตัวเลข 9 ชุด’ ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ พร้อมกัน
 

ศูนย์สิริกิติ์ ไฮไลต์ ตัวเลข

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ พื้นที่ใหญ่ อัพไซส์ 5 เท่า
 

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดิมทีมีพื้นที่โดยรวม 65,000 ตร.ม. มีพื้นที่จัดอีเวนต์ 25,000 ตร.ม. ด้วยข้อจำกัดในด้านความสูงของอาคาร เนื่องจากอยู่ใกล้กับสวนเบญจกิติ การรีโนเวตศูนย์ฯ สิริกิติ์จึงต้อง ‘เพิ่มพื้นที่ใต้ดิน’ จนทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ทั้งหมดได้เป็น 300,000 ตร.ม. เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 50 สนาม มากกว่าเดิมถึงเกือบ 5 เท่า

โดยมีพื้นที่จัดอีเวนต์ 78,500 ตร.ม. ด้วย Exhibition Hall ทั้ง 8 ห้อง, Plenary Hall 4 ห้อง, Ballroom 4 ห้อง รวมไปถึงห้องย่อย 50 ห้อง รองรับผู้ใช้บริการได้มากถึง 100,000 คน/วัน

 

ศูนย์สิริกิติ์ใหม่

 

ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ เดินทางสะดวก แหล่งกิน-ช้อปครบครัน
 

นอกจากส่วนของการประชุมและอีเวนต์แล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ ‘Bangkok Active Livestyle Mall’ หรือ BALM พื้นที่รีเทลขนาด 11,000 ตารางเมตร รวบรวมทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่มและของหวาน แอคทีฟไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อและขายปลีก ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่มาร่วมอีเวนต์ นักท่องเที่ยว คนรักสุขภาพ ครอบครัว คนทำงาน และผู้ใช้บริการ MRT พร้อมที่จอดรถที่จุรถได้มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า รองรับรถยนต์ได้มากถึง 3,000 คัน

 

ศูนย์สิริกิติ์ Plenary

 
 
แห่งจองอีเวนต์ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยาวถึงสิ้นปีหน้า

 
ตลอดระยะเวลาการเปิดให้บริการเป็นเวลาเกือบ 28 ปีก่อนปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมและอีเวนต์ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20,000 งาน หลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่กว่า 3 ปี ศูนย์ฯ สิริกิติ์รูปโฉมใหม่นี้ ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้จัดงานทั้งใน และต่างประเทศ เห็นได้จากยอดคอนเฟิร์มการจัดงานจากผู้จัดทั่วโลกแล้วกว่า 160 งาน ตั้งแต่สัปดาห์แรก ยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 แล้ว

ซึ่งนอกจากจะได้ ‘ขาประจำ’ อย่างเช่น งานสัปดาห์หนังสือ, Thailand Mobile Expo, Thailand Gameshow หรือ ไทยเที่ยวไทย กลับเข้ามาจัดงานแล้ว ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยังได้ลูกค้ารายใหม่ในระดับอินเตอร์จากหลากหลายประเทศ เข้ามาจัดงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วย อาทิ Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลก (เดิมจัดที่ฮ่องกง), ASIA FRUIT LOGISTICA งานแสดงสินค้านานาชาติด้านผักและผลไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย (เดิมจัดที่ฮ่องกง), Jewellery & Gem ASEAN Bangkok (JGAB) งานจัดแสดงสินค้าอัญมณีครั้งยิ่งใหญ่รวบรวมผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จากทั่วโลก (เดิมจัดที่สิงคโปร์) เป็นการยกระดับอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

 



นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเป็นธุรกิจต้นน้ำ ที่สามารถกระจายรายได้ต่างๆ ไปให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย” เนื่องจากเมื่อชาวชาติเดินทางมาใช้บริการศูนย์ประชุมทั้งในฐานะของผู้จัดงาน หรือผู้เข้าร่วมก็ดี จะต้องจองสายการบิน ห้องพัก รวมถึงใช้บริการร้านอาหาร และสถานที่ช้อปปิ้งในประเทศไทย นับเป็นหนึ่งธุรกิจสำคัญที่จะส่งผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

 

ศูนย์สิริกิติ์ ยั่งยืน



ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ต้นแบบศูนย์ประชุมยั่งยืน

การขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่มีขนาดใหญ่ เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยี หรือมีฟีเจอร์ครบครันเท่านั้น แต่มิติด้าน ‘ความยั่งยืน’ ก็ต้องโดดเด่นด้วย ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver พร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยรอบตัวอาคาร เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในศูนย์ฯ

นอกจากนี้ ‘Atrium Stairs’ หนึ่งไฮไลต์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ นอกจากจะเป็นโซนการจัดแสดงนิทรรศการแนวตั้งแห่งแรกในประเทศไทย เป็นทางหนีไฟขนาดใหญ่สู่ทางออกฝั่งถนนรัชดาแล้ว ยังเป็นช่องแสงขนาดมหึมา ที่ทำให้พื้นที่ที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดินปลอดโปร่ง แถมยังเป็นการใช้แสงธรรมชาติให้ความสว่างอาคารในเวลากลางวันได้อีกด้วย นับเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาด หนึ่งฟีเจอร์ หลายฟังก์ชัน อย่างแท้จริง

 

 
ผลงานศิลปะชั้นครู คู่ศูนย์ฯ สิริกิติ์

แม้ในผลงานศิลปะหลายชิ้นที่ถูกย้ายจากศูนย์ฯ เก่า มาประดับไว้ยังศูนย์ฯ สิริกิติ์ใหม่ ก็มีตัวเลขที่น่าสนใจมากมาย มาดู 2 ผลงานศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์คู่ศูนย์การประชมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เปิดใช้งานจนถึงปัจจุบัน

 

ศูนย์สิริกิติ์โลกุตระ

โลกุตระ

>>กลีบเปลว 8 กลีบสื่อถึงมรรค 8 ได้แรงบันดาลใจจากเปลวรัศมีบนเศียรของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย<<

ผลงานของ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ

 

ศูนย์สิริกิติ์ อินทราภิเษก

พระราชพิธีอินทราภิเษก

 

>>สร้างจากไม้ประดู่ 56 แผ่นต่อกัน ความยาว 22.8 เมตร ใช้เวลาแกะสลัก 4 เดือน<<

ผลงานของ จรูญ มาถนอม ผู้สร้าง ‘ปราสาทสัจธรรม’

 

จุดเริ่มต้นของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 เปิดให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2534 นับเป็น 27 ปี 8 เดือน ก่อนปิดปรับปรุง จัดงานประชุมและงานอีเวนต์ทั้งไทยและนานาชาติกว่า 20,000 งาน

 

ที่มา : QSNCC, The Cloud, Becommon

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT