ธุรกิจการตลาด

ย้ำความเป็นที่ 1 Grab เปิดแผนธุรกิจปี 67 เน้นความคุ้มค่า-ใช้ AI เสริมแกร่ง

26 มี.ค. 67
ย้ำความเป็นที่ 1 Grab เปิดแผนธุรกิจปี 67 เน้นความคุ้มค่า-ใช้ AI เสริมแกร่ง

Grab ประเทศไทย เผยความสำเร็จในปี 2566 หลังจากเป็นอันดับ 1 ซูเปอร์แอปในตลาดเดลิเวอรี่ และผู้นำตลาดเรียกรถผ่านแอป สามารถทำกำไร 2 ปีซ้อน และเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่มีผลกำไรในปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด ‘Triple Bottom Line’ ที่ไม่ได้มองแต่ผลประกอบการ (Performance) แต่ยังคำนึงถึงโลก (Planet) และผู้คน (People) นอกจากนี้ ยังสร้าง ‘Power of Ecosystem’ ระบบนิเวศน์ที่แข็งแรง ด้วยกลยุทธ์ระยะยาวที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าสมาชิก GrabUnlimited และกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ (Quality User)

ที่ผ่านมา การเติบโตในกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ดเดลิเวอรีค่อนข้างนิ่ง แต่สำหรับ Grab บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ สามารถทำรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง 

โดยตั้งแต่ปี 2563-2566 GrabFood มี Average Order Value (AOV) หรือมูลค่าเฉลี่ยต่อออเดอร์เพิ่มขึ้น 17% ทำให้ Grab สามารถเริ่มทำกำไรได้เล็กน้อย ไม่เพียงเท่านี้ 

สำหรับภาพรวมของ Grab ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาไปในทิศทางบวก :

- สมาชิก GrabUnlimited ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการไปกว่า 4,000 ล้านบาท

- คนขับรถและไรเดอร์มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 10%

- จำนวนร้านอาหารรายย่อยรายใหม่เพิ่มขึ้น 32%

- จำนวนเที่ยวในบริการพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น 2 เท่า

- พัฒนาเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มากกว่า 1,000 โมเดล

Grab เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2566 (e-Conomy SEA 2023) รายงานว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึง 4.9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% ภายในปี 2568 โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ดเดลิเวอรี ที่อาจเติบโตสูงถึง 15%

ในปีนี้ Grab ประเทศไทยชูกลยุทธ์ ‘4A’ เพื่อพัฒนาธุรกิจภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘Drive Sustainable Growth For A Better Future’ ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ปี 2566 อีกหนึ่งปีทองของ Grab

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย เผยว่า ปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของ Grab ประเทศไทย หลังจากที่ Grab มีนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยผลประกอบการทางธุรกิจที่แข็งแรง ความสำเร็จจากการเปิดบริการใหม่ๆ และการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน

โดยกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถทำรายได้มากที่สุด และในไตรมาสที่ 1/2567 คาดว่าจะสามารถเติบโตเกินเป้าได้ด้วยซ้ำ ส่วนธุรกิจโฆษณา ถือเป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งเพราะสามารถทำรายได้ได้เกินขาด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมากจากหลากหลายแพลตฟอร์ม ทำให้ Grab ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นโยบายเปิดประเทศ และการส่งเริมด้านท่องเที่ยวจากรัฐบาล ทำให้ธุรกิจการเดินทางอย่างบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นของ Grab มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตขึ้นถึง 139% หรือเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าจากปี 2565 ทีผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาคนเดียว ทำให้มีการกระจายรายได้มากกว่านักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม

ขณะที่บริการเรียกรถยังมีการใช้งานสำหรับการเดินทางไป-กลับสนามบินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยปัจจุบันสนามบินในภูเก็ต เชียงใหม่ และดอนเมือง เปิดบริการรถรับจ้างผ่าน Grab ทำให้มีนักท่องเที่ยวใช้บริการเพิ่มขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า Grab จะเปิดให้บริการรถรับจ้างที่สนามบินสุวรรณภูมิเช่นกัน โดย Grab เผยว่า บริการที่เปิดตัวในสนามบิน จะไม่กระทบกับกลุ่มรถโดยสารเดิม เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ขับที่มีช่องทางมากขึ้นด้วย

ส่วนธุรกิจเดลิเวอรี โดยเฉพาะบริการ GrabFood ที่ครองใจผู้ใช้ ยังคงอันดับ 1 ในประเทศไทย ด้วยบริการยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายและบริการที่มีคุณภาพ พัฒนาฟีเจอร์และแฟล็กชิพแบรนด์อย่าง ‘#GrabThumbsUp’ และ ‘Only at Grab’ ที่คัดสรรค์ร้านอาหารอร่อย หาได้เฉพาะที่ Grab ซึ่งยังช่วยเพิ่มยอดขายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 50-300% หลังจากเข้าร่วม 3 เดือนแรก

ไม่เพียงเท่านั้น GrabFood ยังพัฒนาฟีเจอร์และบริการใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างบริการรับเองที่ร้าน (Pickup) บริการสั่งอาหารแบบกลุ่ม (Group Order) และบริการกินที่ร้าน (Dine-in) สำหรับร้านอาหารที่ไม่สะดวกเปิดบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนธุรกิจทางการเงินและโฆษณา สำหรับบริการ GrabMerchant ให้สินเชื่อเงินกู้แก่คนขับและพันธมิตรร้านค้ามากกว่า 100,000 ราย และเตรียมขยายวงเงินมากกว่า 500,000 บาท ในขณะที่ธุรกิจโฆษณา GrabAds ที่เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร ยังช่วยเพิ่ม Click Through Rate (CTR) มากกว่าค่าเฉลี่ยในแพลตฟอร์มอื่น 3-5 เท่า และ Grab For Business ที่มีกลุ่มลูกค้าองค์กรและโรงแรมกว่า 1,200 ราย

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ Grab ยังเพิ่มช่องทางการชำระเงินสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยร่วมมือกับ Alipay สำหรับนักท่องเที่ยวจีน และ Kakao Pay สำหรับนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ พร้อมขยายฐานผู้ใช้บริการในต่างจังหวัดผ่านการผนึกพันธมิตรกับธนาคารกรุงไทยโดยได้เชื่อมต่อระบบชำระเงินของแกร็บเพย์ วอลเล็ต (GrabPay Wallet) เข้ากับแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เนื่องจากเป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับผู้ใช้งานในต่างจังหวัด

เปิดแผนธุรกิจปีนี้ ภายใต้กลยุทธ์ 4A

ในปีนี้ Grab ประเทศไทย เตรียมเดินหน้ารุกธุรกิจเต็มสูบเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ 4A (Active Users, Affordability, AI Technology, Ads & News Services) ควบคู่ไปกับการสานต่อโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

Active Users: Grab ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่:

  1. นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ – การร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และท่าอากาศยานไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว ความโปร่งใสของราคาที่สามารถตรวจสอบในแอปได้ และความปลอดภัยของคนขับ โดยมีการคัดเลือกที่เข้มข้นจากการเช็คประวัติคนขับ พฤติกรรมการขับรถ และการใช้ Face Recognition พร้อมทั้งยังมีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารใน #GrabThumbsUp ตามพื้นที่จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
  2. สมาชิก GrabUnlimited – การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการให้ส่วนลดสำหรับสมาชิก GrabUnlimited รวมถึงการเปิดตัวแพ็กเกจสมาชิกแบบรายปีเพื่อรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ มีสัดส่วนมากถึง 50% ของลูกค้า GrabFood ทั้งหมด มีการใช้จ่ายที่สูงกว่า และสั่งอาหารมากกว่า 20% กว่าลูกค้ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ยังมีแผนนำ GrabUnlimited มาใช้ในบริการเรียกรถและส่งของด้วย
  3. ลูกค้าคุณภาพ (Quality User) – การพัฒนาสองแฟล็กชิพแบรนด์ของบริการ GrabFood อย่าง #GrabThumbsUp ที่เปิดบริการมาในปีที่ 3 และ Only at Grab เพื่อรักษามาตรฐานและประสบการณ์ความอร่อยให้กับผู้ใช้บริการ โดยภายในปีนี้ ทั้งเป้าให้จำนวนร้านอาหารใน #GrabThumbsUp แตะหลักพัน และขยายไปในทุกๆ หัวเมือง

Affordability: ข้อมูลจาก KR-ECI เผยว่า สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครัวเรือนไทยกว่า 61.9% กังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูง ทำให้ Grab เปิดบริการใหม่ที่ชูจุดเด่นในความคุ้มค่าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นหลัก เนื่องจากราคาที่คุ้มค่าขึ้น จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการและขยายฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดและนักศึกษา โดยบริการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก:

  1. บริการเรียกรถ – Grab ได้เปิดตัวบริการ ‘GrabCar SAVER’ สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ขนาดเล็กในราคาประหยัดลงสูงสุดถึง 15% เมื่อเทียบกับบริการ GrabCar ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้บริการแล้วใน 20 จังหวัด และบริการ ‘GrabBike SAVER’ สำหรับการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ในระยะทางไม่เกิน 4 กิโลเมตรในราคาเริ่มต้นเพียง 26 บาท ที่นิยมมากในกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพมหานคร
  2. บริการเดลิเวอรี – Grab เพิ่มทางเลือกในการจัดส่งอาหารแบบประหยัดหรือ ‘SAVER Delivery’ ด้วยซับแบรนด์ใหม่ ‘Hot Deals’ ที่เอาใจกลุ่มลูกค้าสายประหยัดด้วยเมนูเด็ดที่ลดราคาเป็นพิเศษจากหลากหลายร้านอาหาร พร้อมส่วนลดออนท็อป ในทุกช่วงเวลาให้ได้อิ่มคุ้มทั้งวัน และสำหรับสมาชิก GrabUnlimited ยังมีค่าบริการส่งเรื่มต้นที่ 0 บาท

AI Technology: Grab ยังคงนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning (ML) มาต่อยอดเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้แพลตฟอร์มให้กับผู้ใช้บริการ คนขับและร้านค้า เช่น ปรับปรุงการค้นหาจุดหมายที่แม่นยำขึ้น พัฒนาแผนที่สำหรับคนขับที่เขียนโดย Grab และฟีเจอร์ช่วยแปลภาษาที่แมนยำขึ้น โดย 95% ของเมนูร้านค้าในไทย มีฟีเจอร์แปลภาษาเป็นภาษาอังกฤษและจีน

นอกจากนี้ Grab ยังนำ AI และ ML มาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบพิจารณาเครดิตสำหรับการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์ หรือการพัฒนา ‘GrabGPT’ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำคอนเทนต์ สร้างงานออกแบบ และใช้ค้นหาข้อมูลดาต้าภายในองค์กร

Ads & New Services: Grab เตรียมขยายบริการ GrabAds เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณา โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ในปีนี้ Grab ยังเตรียมผลักดัน ‘Self-serve Ads’ เครื่องมือในการโฆษณาสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก เพิ่มยอดขายจากการทำโฆษณาและแนะนำโปรโมชันกับลูกค้าได้ด้วยตัวเอง

โดยข้อมูลการใช้งานของพาร์ทเนอร์ร้านค้าของแกร็บในปี 2566 พบว่า มีผลตอบแทนจากการโฆษณา (Return on Ad Spend) เฉลี่ยสูงถึง 6 เท่า ซึ่ง Grab เองยังจะวางแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงบริการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรียกรถและเดลิเวอรี อย่างบริการจองการเดินทางล่วงหน้า (Advance Booking) และกินที่ร้าน (Dine-in) ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น

สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับทุกคนใน Ecosystem

นอกจากการพัฒนาในด้านธุรกิจแล้ว Grab ประเทศไทย ยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ Grab ยังเดินหน้าสานต่อโครงการสำคัญต่างๆ ดังนี้:

- โครงการ GrabEV ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับให้ได้ 10% ภายในปี 2569

- โครงการ Carbon Offset ยังคงร่วมปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอนจากการใช้บริการ โดยปีนี้ตั้งใจเพิ่มจำนวนต้นไม้เพิ่มเป็น 2 เท่า

- โครงการ Grab Women Programme พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าในกลุ่มผู้หญิง โดยจำนวนคนขับผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 45% ใน 3 ปีที่ผ่านมา

- โครงการ Single-Use Plastic Reduction จับมือทั้งฝั่งผู้ผลิตและร้านค้า เพื่อลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยที่ผ่านมาสามารถลดไปได้มากกว่า 300 ล้านชิ้นในกรุงเทพมหานคร

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมในปีนี้นั้น จะเป็นการยกระดับการจองบริการเรียกรถล่วงหน้า ‘Advanced Booking’ ให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว สามารถเลือกซื้ออาหารสดตามจำนวนน้ำหนักได้ใน ‘Grab Mart’ จากที่ผ่านมา สามารถซื้อตามจำนวนกล่องหรือแพ็คเท่านั้น และพัฒนาบริการ Dine-in มีการแจกว้อยเชอร์ก่อนไปใช้บริการที่ร้านอาหาร

ทั้งหมดนี้ ถือเป็น เป้าหมายของ Grab ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย

advertisement

SPOTLIGHT