ธุรกิจการตลาด

ส่องธุรกิจสายการบินในไทย  ปี 2565 ขาดทุนถ้วนหน้า 

2 มี.ค. 66
ส่องธุรกิจสายการบินในไทย   ปี 2565 ขาดทุนถ้วนหน้า 

ปึ 2565 เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของหลายประเทศจากนโยบาย Zero-Covid ของจีน

โดยอุตสาหกรรมการบินโลกปี 2565 มีแนวโน้มความต้องการเดินทางของผู้โดยสารของทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสแรกในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่เริ่มกลับมารับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่น ที่ผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางตั้งแต่เดือนต.ค. 2565  และจีนเริ่มผ่อนคลายในเดือนพ.ย.2565  รายงานของสมาคมสายการบินเอเซียแปซิฟิก (AAPA) ในปี 2565 มีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น 507% จากปีก่อน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นเป็น 72.8% จาก 32.9% ปีก่อน 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก หลังจากรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 จากข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีจำนวน 11,153,026 คน เพิ่มขึ้นอย่างมาก และสอดคล้องกับรายงานของ AOT ที่รายงานตัวเลขผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกไทยผ่านท่าอากาศยานไทย 6 แห่ง มีจำนวนรวมประมาณ 62.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 287.7%

วันนี้ Spotlight รวบรวม ภาพรวมธุรกิจสายการบินในไทย ปี 2565 มาให้ดูกันว่า สายการบินต่างๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง 

  การบินไทยขาดทุนสุทธิ 272 ล้านบาท  

เริ่มจาก การบินไทย ในปี 2565 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ธุรกิจก็ยังดำเนินหน้าต่อไป โดยได้ทำการบินและให้บริการเต็มรูปแบบในเส้นทางระหว่างประเทศ ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเซีย พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน  มีการใช้เครื่องบินทั้งหมด 64 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 10.4 ชั่วโมง มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)  เฉลี่ย 67.9% สูงกว่าปีก่อนที่ 19.1% และมีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 9.01 ล้านคน เพิ่มขึ้น 449% จากปีก่อน

หากกลับมาดูตัวเลขทางการเงิน พบว่า ในปี 2565 การบินไทยยังมีการขาดทุนสุทธิ 272 ล้านบาท เป็นการขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ ขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้  ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

 

 บางกอกแอร์เวย์ก็ขาดทุน 2,110.2 ล้านบาท 

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BA ในปี 2565 ผลประกอบการก็ขาดทุนเช่นเดียวกัน ที่ 2,110.2 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนที่ลดลงจากปีก่อน 75.3% ที่ 8,549.9 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 12,742.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.8% จากการเพิ่มขึ้นจากรายได้จากบัตรโดยสายของธุรกิจการบิน รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน และธุรกิจสนามบิน จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 394.8% จากปีก่อน มีจำนวนเที่ยวบินให้บริการจำนวน 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 243.8% จากปีก่อน และอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 76.1% สูงกว่าปีก่อนที่ 58.6% มีอัตราการใช้เครื่องบิน 5.6 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ซึ่งใช้เครื่องบินทั้งหมด 35 ลำ

ปี 2565 มีสายการบินเปิดให้บริการเส้นทางบินทั้งหมด 24 เส้นทางบิน เป็นเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง และทยอยปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินที่มีความต้องการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น เช่น กรุงเทพ-สมุย กรุงเทพ-เชียงใหม่

 

 ไทยแอร์เอเซียก็อ่วม ขาดทุน 8,214.4 ล้านบาท 

สายการบินไทยแอร์เอเซีย ภายใต้บริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในปี 2565 มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 8,214.4 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 31% ที่ขาดทุนสุทธิ 11,957.9 ล้านบาท เป็นการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และจากราคาน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยในปี 2565 มีรายได้รวม 18,290.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306% จากขนส่งผู้โดยสารรวม 9.95 ล้านคน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 84% สูงกว่าปีก่อนที่ 68%  

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/2565 ถือเป็นการดำเนินการที่ดีที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาสที่มี อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เป็นบวกที่ 1,628.9 ล้านบาท 

สายการบินนกแอร์ขาดทุนสุทธิ 3,225.25 ล้านบาทใน 6 เดือนแรกปี 2565

สายการบินนกแอร์ ภายใต้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) ประกาศผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2565 พบว่า มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 3,225.25 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 18.67%  มีรายได้รวม 2,498.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% มาจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เป็น 1.71 ล้านคน เพิ่มขึ้น 155.22% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 79.82% สูงกว่าปีก่อนที่ 58.92% แต่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ คือ มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและแปรผัน คือค่าน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น

 

 ปี 2566 ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกดีขึ้น 

แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2566 จากตัวเลขการคาดการณ์ของธนาคารโลก พบว่า การเติบโตของ GDP ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก คาดว่าเติบโต 4.3% สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการเปิดประเทศของจีน และภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ที่ผ่อนคลาย 

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)​ คาดว่า GDP จะเติบโต 3.7% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย และการบริโภคภายในประเทศที่แนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น แต่ภาคการส่งออกอาจจะชะลอตัว และล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ปรับเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็น 30 ล้านคน จากเดิม 25 ล้านคนในช่วงปลายเดือนม.ค.2566 หลังจากตัวเลขนักท่องเที่ยวของจีนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น และปริมาณนักท่องเที่ยวภายในประเทศจะเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการของภาครัฐ ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 5 ที่สามารถเริ่มจองที่พักได้แล้ววันนี้

ไทยแอร์เอเซียตั้งเป้าปีนี้กลับมามีกำไร

ภาพโดยรวมของการเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ไทยแอร์เอเซีย ตั้งเป้าปีนี้จะกลับมามีกำไรสุทธิ โดยมีแผนที่จะลดต้นทุนการดำเนินงาน จากการเพิ่มอัตราการใช้งานเครื่องบินขึ้นเป็น 12.5 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน รวมถึง การตั้งเป้าอัตราขนส่งผู้โดยสาร เป็น 87% จาก 84% ปีก่อน

พร้อมตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 20 ล้านคนในปี 2566 เทียบกับตัวเลขสูงสุดที่ 22.2 ล้านคนในปี 2562 ก่อนยุคโควิด-19 จากที่คาดว่า จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวที่ประมาณ 13 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2562 และจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปีก่อน  จากความต้องการท่องเที่ยวในอาเซียน

สำหรับแผนของไทยแอร์เอเซียในปีนี้นั้น คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.2566 มีแผนการบินไปยัง 11 เมืองในประเทศจีน โดยมีแผนเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ดอนเมือง-จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และมีแผนที่จะนำเครื่องบินทั้งฝูงบิน จำนวน 53 ลำมาดำเนินการให้ครบภายในครึ่งหลังปีนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนน่าจะยังยืดเยื้อ และอาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันเครื่องบินที่ยังคงให้อยู่ในระดับสูง ไทยแอร์เอเซียมีแผนที่จะทำป้องกันความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน และเข้าทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนเพื่อลดความผันผวน  

โดยไทยแอร์เอเซีย มองว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งการกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติหลังกจากทั่วโลกประสบปัญหาโควิด-19

ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินของไทย ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังมีการขาดทุนอยู่ แต่ก็เริ่มเป็นการขาดทุนที่ลดลง เนื่องจากความต้องการเดินทางมากขึ้น และเชื่อว่าในปีนี้ภาพรวมธุรกิจสายการบินในไทยจะยิ่งดีขึ้นอีก จากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คนเริ่มเดินทางและภาครัฐเองก็มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนด้วย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT