ธุรกิจการตลาด

อวสานมิจฉาชีพ SMS KBank นำร่องเลิกส่ง SMS แนบลิงก์ เริ่ม 20 ก.พ.

23 ก.พ. 66
อวสานมิจฉาชีพ SMS KBank นำร่องเลิกส่ง SMS แนบลิงก์ เริ่ม 20 ก.พ.
ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBank ดำเนินการเพิ่มความปลอดภัยให้ลูกค้า ประกาศเลิกส่ง SMS แบบแนบลิงก์ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ทั้ง SMS ประชาสัมพันธ์ข่าวสารแจ้งโปรโมชัน แจ้งเตือนการทำรายการบัตรเครดิต ความเคลื่อนไหวของบัญชี ข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และบริการ ยกเว้นข้อมูลที่ลูกค้าขอผ่านช่องทางของธนาคาร เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อธนาคารทำโจรกรรมออนไลน์
 

sati-banner2-860x860

 
การเคลื่อนไหวของกสิกรไทยในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ออกมาประกาศแก้ปัญหามิจฉาชีพและเพิ่มการคุ้มครองลูกค้าด้วยการยกเลิกการส่ง SMS แนบลิงก์ทุกชนิดเพื่อป้องกันการสับสน หลังมีข่าวการโจรกรรมผ่านทางออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยครั้งผ่านการส่งลิงก์เพื่อดูดข้อมูลหรือเงินในบัญชี ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ทำตามได้หากวิธีการนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี
 
โดยนอกจาก SMS แล้ว กสิกรยังแนะนำให้ลูกค้าระมัดระวังการโจรกรรมผ่านอีเมลและโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยให้วิธีสังเกตและระมัดระวัง ดังนี้
 
SMS : กสิกรแนะนำให้รู้จักตั้งคำถามก่อนเมื่อได้รับข้อความ SMS แปลกๆ เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินที่ไม่เคยยื่นเอกสารทำเรื่องมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น “คุณได้รับเงินกู้”, “คุณได้รับสิทธิ์เติมเงินฟรี”, “คุณได้รับอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” และต้องดูให้มั่นใจว่าชื่อผู้ส่ง ต้องน่าเชื่อถือ และไม่ใช่เบอร์แปลก
 
นอกจากนี้ เนื้อหาต้องไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เกินจริง หรือเร่งให้ส่งข้อมูลสำคัญผ่าน SMS ส่วนลิงก์ต้องสังเกตให้ดี หากเป็น URL แปลกๆ ห้ามกดเด็ดขาด
 
E-mail : นอกจาก SMS แล้ว ยังมีอีเมลที่โจรออนไลน์มักใช้เป็นช่องทางหลอกได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับอีเมล์แปลกๆ จากบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่รู้จักและไม่เคยติดต่อกันมาก่อน ทั้งอีเมลส่วนตัวและอีเมลที่ทำงาน ควรดูให้ดีก่อน อย่าเพิ่งคลิกลิงก์หรือกดไฟล์แนบใดๆ
 
โดยหากได้รับอีเมลต้องสงสัย ผู้รับควรตรวจสอบชื่อผู้ส่งเสียก่อนว่ามีชื่อแปลก ชื่อสะกดผิด หรือชื่อที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ นี่รวมไปถึงการใช้ภาษาและเนื้อหา ถ้าหากในอีเมล์ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ ไม่ระบุตัวตน เนื้อหาเป็นเรื่องเร่งด่วน หลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญทางอีเมล ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่านั่นคืออีเมลปลอม
 
และที่สำคัญหากมีลิงก์แนบมาในอีเมล์ “ห้ามกดลิงก์เด็ดขาด” ให้เช็กก่อนด้วยการเอาเมาส์ชี้ที่ลิงก์ (โดยไม่กด) แล้วดู URL ที่ขึ้นมาให้ดู และถ้าหากพบว่า URL ไม่ตรงกับลิงก์ที่แสดงในเนื้อหาอีเมล นั่นคืออีเมลปลอม
 
Social media : กสิกรแนะนำให้สงสัยคนแปลกหน้าไว้ก่อ เพราะโจรออนไลน์มักเข้ามาตีสนิท อาศัยความไว้ใจ ความสงสาร อ้างถึงคนที่เหยื่อรู้จัก แอบอ้างถึงหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ แล้วหลอกให้โอนเงินหรือขอข้อมูลสำคัญเหยื่อ
 
ดังนั้น ก่อนคุยหรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครควรตรวจสอบให้ดีว่าคนที่แชตมาเป็นคนที่รู้จักหรือเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบได้หรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการคุยกับคนที่ไม่รู้จัก และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ และข้อมูลทางการเงินอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ควรตรวจสอบเหตุการณ์จริงจากช่องทางอื่น เช่น โทรศัพท์ถาม อย่าเชื่อข้อความทางแชตอย่างเดียว
 
ที่สำคัญ ถ้าหากมีแชตที่แอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานที่คนทั่วไปรู้จักกันดีเช่นธนาคาร ควรตรวจสอบชื่อแอคเคาท์ในเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นก่อนว่ามีชื่อในโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการอย่างไร และควรตรวจสอบว่ามีเครื่องหมายรับรองจากแพลตฟอร์มดังกล่าวหรือไม่ อย่างเช่น ใน Line ก็จะมีโล่สีเขียว หรือ Badge ดาวสีเขียวที่หน้าชื่อบัญชี
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT