กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เผยว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังคงตกเป็นเหยื่อบรรดาของมิจฉาชีพออนไลน์ มีทั้งปัจจัยด้านจิตวิทยา สังคม และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้
1. ความไว้ใจและเห็นใจ คนไทยมักมีนิสัย "เกรงใจ" และ "ไม่กล้าปฏิเสธ" โดยเฉพาะเมื่อมีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือหน่วยงานต่าง ๆ บางคนกลัวจะมีปัญหาจึงยอมทำตามคำสั่งแม้จะสงสัยอยู่บ้าง
2. การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม ขาดความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เช่น การตั้งรหัสผ่าน การตรวจสอบURL หรือการหลีกเลี่ยงลิงก์ฟิชชิง
3. ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน มิจฉาชีพมักอาศัย "ความโลภ" และ "ความหวัง" ของเหยื่อ เช่น งานรายได้ดี รางวัลใหญ่ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาหลอกล่อ ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเดือดร้อนทางการเงินจึงมักตัดสินใจโดยไม่รอบคอบ
4. เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัย ก็เพราะมิจฉาชีพเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นนำมาใช้หลอกลวง แต่เหยื่อหลายรายตามไม่ทันเทคโนโลยี และไม่รู้วิธีป้องกันในเบื้องต้น บวกกับบางแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือควบคุมที่เข้มงวดพอ
5. พฤติกรรม "แชร์โดยไม่ตรวจสอบ" สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางกระจายข่าวปลอมและหลอกลวงได้ง่าย ชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยเชื่อข้อมูลโดยไม่กลั่นกรอง ตรวจสอบข้อเท็จจริง มิจฉาชีพจึงใช้เทคนิค "โซเชียลพรอฟ" เช่น มีคนรีวิว มีคนแชร์ มีไลก์เยอะ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
Advertisement