ฟ็อกซ์คอนน์ชี้ Generative AI รับภาระงานในโรงงานยุคใหม่ได้ 80% ที่เหลือยังต้องพึ่งแรงงานมนุษย์ฝีมือสูง
ยัง หลิว (Young Liu) ประธานบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ประกอบ iPhone รายหลักของ Apple เผยว่าเทคโนโลยี Generative AI จะสามารถรับผิดชอบภาระงานในสายการผลิตยุคใหม่ได้ 80% เท่านั้น ขณะที่อีก 20% ยังคงต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ที่มีทักษะสูง โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาภายในของบริษัท
“ก่อนการทดลอง เราเคยคิดว่า AI น่าจะสามารถแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด” หลิวกล่าวระหว่างปาฐกถาเปิดงาน Computex Taipei หนึ่งในงานเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก “แต่เมื่อทดลองจริง เราพบว่า AI ทำได้ดีแค่ประมาณ 80% เท่านั้น ส่วนอีก 20% มนุษย์ยังคงเหนือกว่าอย่างชัดเจน”
จากการจำลองสถานการณ์ภายในหลายครั้ง ฟ็อกซ์คอนน์พบว่าเอเจนต์ AI สามารถเรียนรู้ทักษะเชิงลึกในกระบวนการผลิต เช่น การวินิจฉัยข้อบกพร่อง การปรับตั้งค่าเครื่องจักร และการจัดการปัญหาฉุกเฉิน ซึ่งช่วยให้สามารถทำงานซ้ำ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่หลังจากจุดหนึ่ง ประสิทธิภาพของ AI กลับหยุดนิ่ง “เราจึงได้ข้อสรุปชั่วคราวว่า Generative AI จะช่วยในงานได้ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือยังต้องใช้ช่างเทคนิคหรือพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทาง” หลิวกล่าว
หลิวระบุว่าอนาคตของการผลิตจะพึ่งพาการจำลองแบบดิจิทัล (Digital Simulation) และโรงงานอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยฟ็อกซ์คอนน์กำลังพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่บนแพลตฟอร์ม Isaac ของ Nvidia และใช้การจำลองนับล้านครั้งเพื่อฝึก “สมองของหุ่นยนต์” ให้พร้อมใช้งานจริงในทันที
เขายังกล่าวว่า Generative AI และหุ่นยนต์จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเดินหน้าฟื้นฟูภาคการผลิต โดยจะช่วยลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างมีนัยสำคัญ
ฟ็อกซ์คอนน์ ระบุว่า ยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart EVs) การผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) และสมาร์ทซิตี้ (Smart Cities) คือสามเสาหลักของการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับเมืองต่าง ๆ เช่น เกาสงในไต้หวัน และโซโนร่าในเม็กซิโก เพื่อร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
“ฟ็อกซ์คอนน์จะไม่เพียงเป็นผู้นำในด้าน AI Manufacturing เท่านั้น แต่ยังพร้อมเป็นผู้นำด้าน Smart Cities ซึ่งต้องการพลังการประมวลผลมหาศาล” หลิวกล่าว พร้อมย้ำว่า “ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์จะไม่มีวันชะลอตัวลง อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้”
ในงานเดียวกัน หลิวยังได้ประกาศความร่วมมือกับ Nvidia, Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) และรัฐบาลไต้หวัน เพื่อจัดตั้งโรงงาน AI Supercomputer หรือ “AI Factory” สำหรับสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงของประเทศ
AI Factory ดังกล่าวจะขับเคลื่อนด้วย GPU รุ่น Blackwell จำนวน 10,000 ตัวจาก Nvidia รวมถึงระบบใหม่ GB300 NVL 72 โดย TSMC จะเป็นผู้ใช้งานหลักในการเร่งพัฒนางานวิจัยของบริษัท
นอกจากนี้ ฟ็อกซ์คอนน์และซัพพลายเออร์รายสำคัญของ Nvidia อย่าง Quanta Computer, Wistron และ GigaByte ต่างเริ่มนำโซลูชัน Omniverse Digital Twin มาใช้ในการวางแผนสร้างโรงงานใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดย Mike Yang รองประธาน Quanta ย้ำว่า Omniverse ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการก่อสร้างได้อย่างมาก
ในช่วงท้ายของงาน เจนเซน หวง (Jensen Huang) ซีอีโอของ Nvidia ได้ขึ้นเวทีร่วมกับหลิว และกล่าวชื่นชมไต้หวันว่าเป็น “ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของโลก” พร้อมระบุว่า Nvidia ดำเนินธุรกิจในไต้หวันมานานกว่า 30 ปี และฟ็อกซ์คอนน์คือสมาชิกสำคัญของ “Team Taiwan”