ธุรกิจการตลาด

สถิติ 6 เดือนหลังปลดล็อกกัญชา พบผู้ป่วยติดกัญชาเพิ่มขึ้น 282 เคส/เดือน

10 ม.ค. 66
สถิติ 6 เดือนหลังปลดล็อกกัญชา พบผู้ป่วยติดกัญชาเพิ่มขึ้น 282 เคส/เดือน

นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณะสุขได้ประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2022 กัญชาก็ได้กลายมาเป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และผสมในอาหารได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ปัจจุบันในไทยมีผลิตภัณฑ์ผสมสารจากกัญชาวางขายทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ และเกิด ‘คลินิก’ และร้านจัดจำหน่ายกัญชาขึ้นมา โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร หรือย่านป่าตอง ภูเก็ต 

istock-1189150676

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาและร้านขายกัญชาจะหาได้ทั่วไปแล้วในปัจจุบัน ประเทศไทยก็กำลังอยู่ใน “ภาวะสูญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา” เพราะ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ถูกถอนไปปรับปรุงพิจารณาใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา 

นี่ทำให้ในปัจจุบัน การใช้กัญชา-กัญชาถูกควบคุมภายใต้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้มีการจำหน่ายกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ให้บุคคลทั่วไปได้ ยกเว้นผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ซึ่งการจำหน่ายและใช้กัญชานี้สามารถกระทำได้ในสถานที่ทั่วไป ยกเว้นในบางพื้นที่เช่น สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และพื้นที่สาธารณะที่อาจเป็นที่รำคาญสำหรับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกฎหมายย่อยๆ ออกมาควบคุมอายุของผู้ใช้ และสถานที่ในการใช้กัญชา การควบคุมกัญชาก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังพิสูจน์แล้วว่าไม่มีความเข้มงวดรัดกุมเท่าที่ควรจากการที่มีภาพเยาวชนสูบกัญชา ข่าวคนสูบกัญชาแล้วทำร้ายร่างกายกัน หรือข่าวคนสูบกัญชาแล้วได้รับผลข้างเคียงจนต้องเข้าโรงพยาบาลออกมามากมาย

ผลเสียเหล่านี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และมีคนตั้งคำถามว่าไทยควรปล่อยให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาเสพติดต่อไปหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีกฎหมายออกมาห้ามไม่ให้มีการซื้อขายกัญชาให้เยาวชน หรือมีการใช้กัญชาในที่สาธารณะหรือพื้นที่สถานศึกษาแล้ว เยาวชนก็ยังเข้าถึงกัญชาได้อยู่ และคนที่ไม่ใช้กัญชาก็ยังต้องเดือดร้อนกับพฤติกรรมของผู้ใช้กัญชาในบางครั้ง 

 

มีผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย-ปลูก-แปรรูปกัญชากว่า 2,900 รายแล้วทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังก้ำกึ่งอยู่ว่ากัญชา-กัญชงจะมีชะตากรรมอย่างไรต่อไปในประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนี้มีผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง จัดจำหน่าย ปลูก แปรรูป นำเข้า และส่งออกกัญชา-กัญชง รวมทั้งหมด 2,974 รายทั่วประเทศ โดยสามารถแจกแจงได้ตามประเภท ดังนี้

  1. ผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายกัญชา-กัญชง 1,903 ราย
  2. ผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา-กัญชง 881 ราย
  3. ผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองกัญชา-กัญชง 125 ราย
  4. ผู้ได้รับอนุญาตให้แปรรูปและสกัดกัญชา-กัญชง 41 ราย
  5. ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้ากัญชา-กัญชง 12 ราย
  6. ผู้ได้รับอนุญาตให้ปรุงกัญชา-กัญชง 7 ราย
  7. ผู้ได้รับอนุญาตให้ส่งออกกัญชา-กัญชง 1 ราย

โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปัจจุบันมีผู้จัดจำหน่ายกัญชา-กัญชงที่ถูกกฎหมายแล้วในทุกจังหวัดทั่วไทย ในขณะที่ผู้มีสิทธิส่งออกตามกฎหมายมีผู้เดียวเท่านั้นคือ องค์การเภสัชกรรม

จากการรายงานของ Nikkei Asia อุตสาหกรรมกำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าอุตสาหกรรมกัญชาของไทยจะมีมูลค่าเพิ่มจาก 2.81 ล้านบาทในปี 2022 ไปเป็น 42.9 ล้านบาทภายในปี 2025 

 

จำนวนผู้ติดกัญชาพุ่งขึ้นเป็น 282 เคสต่อเดือนหลังปลดล็อกกัญชา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กัญชาจะมีศักยภาพในฐานะพืชเศรษฐกิจที่อาจทำรายได้ให้กับประเทศได้ในจำนวนมาก การควบคุมการบริโภคกัญชาให้มีความเหมาะสมปลอดภัยก็ยังเป็นช่องโหว่ใหญ่ที่ต้องรีบอุดหากรัฐบาลต้องการให้กัญชาเป็นพืชถูกกฎหมายต่อไป เพราะจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนผู้ป่วยจากการเสพติดกัญชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากจาก 72 เคสต่อเดือนก่อนการปลดล็อกไปเป็น 282 เคสต่อเดือนทันทีหลังมีการปลดกัญชาออกจากการเป็นสารเสพติด

นอกจากนี้ ยังมีสถิติออกมาอีกว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้เสพติดกัญชายังคิดเป็นถึง 17% ของผู้ป่วยโรคทางจิตที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้หากมีการบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ผู้เสพอาจมีความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว และมีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเวช และเกิดอาการประสาทหลอนอย่างถาวร สูงถึง 20%

สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยยังไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณการบริโภคกัญชาของประชาชนบางส่วนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ และถ้าหากไม่มีการดำเนินการควบคุมอย่างรัดกุมต่อไป กัญชาก็อาจกลายเป็นพืชที่ทำลายมากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะทำให้ไทยต้องเสียงบประมาณบางส่วนไปกับการรักษาผู้ป่วยเสพติดกัญชาแล้ว อาจจะต้องเสียแรงงานที่มีค่ากับประเทศไปกับอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย และเหตุร้ายอื่นๆ ที่เกิดจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการได้

 

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข, Nikkei Asia

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT