ธุรกิจการตลาด

เปิด 5 อันดับ ประเทศเจ้าภาพที่ลงทุนกับฟุตบอลโลกมากที่สุด

21 พ.ย. 65
เปิด 5 อันดับ ประเทศเจ้าภาพที่ลงทุนกับฟุตบอลโลกมากที่สุด

ในงานฟุตบอลโลกปีนี้ เจ้าภาพอย่างกาตาร์นอกจากจะสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะชาติอาหรับชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลกแล้ว ยังเป็นชาติที่ทำสถิติใหม่ ด้วยการลงทุนเงินก้อนมูลค่าถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10.7 ล้านล้านบาท ไปกับการเตรียมสถานที่เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอล

ซึ่งเงินจำนวนนี้ เป็น “จำนวนเงินลงทุนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดบอลโลก” สูงกว่างบประมาณประจำปีของประเทศไทยกว่า 3 เท่า สูงกว่าเงินลงทุนของเจ้าภาพที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 อย่างบราซิลที่ใช้ไปเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 20 เท่า และอันดับ 3 คือรัสเซียที่ใช้ไป 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 27 เท่า

 

กาตาร์ลงทุนบอลโลก

จากข้อมูลของ DW และ Bloomberg ประเทศเจ้าภาพที่ลงทุนไปมากที่สุดกับบอลโลก มีดังนี้

  1. กาตาร์ เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกปี 2022 ลงทุนไปทั้งหมด 10.8 ล้านล้านบาท
  2. บราซิล เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกปี 2014 ลงทุนไปทั้งหมด 5.4 แสนล้านบาท
  3. รัสเซีย เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกปี 2018 ลงทุนไปทั้งหมด 4.2 แสนล้านบาท
  4. เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกปี 2002 ลงทุนไปทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท
  5. เยอรมนี เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกปี 2006 ลงทุนไปทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท

จากการรายงานของ Bloomberg กาตาร์ได้ใช้จ่ายเงินก้อนนี้ไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย เช่นสนามจัดการแข่งขัน สถานที่พัก รวมไปถึงพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมต่างๆ เช่น รถไฟ และสนามบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและแฟนบอลที่จะหลั่งไหลเข้ามาชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 18 ธันวาคม

โดยตลอดเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก กาตาร์ได้ใช้จ่ายไปกับโครงการต่างๆ ดังนี้

  • เมือง Lusail รวมไปถึงที่พักและระบบขนส่งต่างๆ ภายในเมือง รวม 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ระบบรถไฟฟ้าเมือง Doha รวม 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การขยายสนามบิน รวม 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การสร้างสนามแข่งขัน 7 แห่ง และปรับปรุง 1 แห่ง รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ท่าเรือใหม่ รวม 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การปรับปรุงสภาพเมือง Doha รวม 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การสร้างเขตเศรษฐกิจ รวม 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ได้ไม่คุ้มเสียในระยะสั้น แต่อาจได้กำไรในระยะยาว

เมื่อดูจากรายการใช้จ่ายแล้ว จะเห็นได้ว่าการลงทุนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้แทบจะเป็นการยกเครื่องเมืองโดฮาซึ่งเป็นเมืองที่กาตาร์ใช้จัดฟุตบอลโลกแบบขนานใหญ่ ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมตัวจัดงานฟุตบอลโลกในสเกลที่ใหญ่เท่านี้มาก่อน 

จนมีผู้วิจารณ์ว่านี่อาจเป็นการลงทุนแบบ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะหลังจากงานฟุตบอลโลกผ่านพ้นไปแล้ว สนามแข่งกีฬาเหล่านี้ก็อาจจะถูกปล่อยร้าง เพราะมันมีจำนวนมากเกินไปสำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่เพียงประมาณเกือบ 3 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นการลงทุนที่มากเกินควรเพื่องานแข่งกีฬาครั้งเดียว ในมุมมองของกาตาร์การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ไม่ได้ทำไปเพื่อจัดงานบอลโลกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่กาตาร์วางแผนจะทำอยู่แล้วใน Qatar National Vision 2030 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพในการจัดงานระดับโลกของประเทศ

นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ The Economist ในประวัติศาสตร์การจัดบอลโลก ประเทศส่วนมากที่เป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกส่วนมากก็ “ขาดทุน” อยู่แล้ว โดยจากการจัดบอลโลกที่ผ่านมา มีประเทศเจ้าภาพเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ได้กำไรจากการจัดงาน คือ รัสเซีย ที่ได้กำไรไปทั้งหมด 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่คิดเป็นเพียง 4.6% ของเงินที่ลงทุนไปเท่านั้น

จึงเรียกได้ว่า ในประวัติศาสตร์การจัดบอลโลกครั้งที่ผ่านๆ มา ประเทศเจ้าภาพต่างๆ ไม่ได้หวังได้กำไรในระยะสั้นอยู่แล้ว หากแต่หวังผลระยะยาวในด้านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ รวมไปถึงการนำเสนอ Soft Power ต่างๆ ของประเทศให้นานาชาติรู้จัก ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะช่วยดึงดูดทั้งการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยวเข้ามาในอนาคต

โดยจากการคาดการณ์ของ Oxford Economics การจัดงานฟุตบอลโลกในครั้งนี้ของกาตาร์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่พลังงาน (non-oil sector) เช่น การท่องเที่ยว ของกลุ่มประเทศรัฐริมอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กาตาร์ และบาห์เรน ให้เติบโตขึ้น 4.9% ในปี 2022 และ 3.4% ในปี 2023 ตามลำดับ

Oxford Economics ยังระบุอีกว่า non-oil sector ของกาตาร์จะได้รับอานิสงค์จากการงานฟุตบอลโลกมากที่สุดในปีนี้ โดยจะโตถึง 7.6% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2015 และทำให้สัดส่วน GDP ของภาคส่วนนี้สูงขึ้นแตะ 63% ในปลายปีนี้ จาก 50% ในช่วง 10 ปีที่แล้ว

ซึ่งการขยายเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันนี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของกาตาร์มีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะจะทำให้กาตาร์สามารถพึ่งพารายได้จากธุรกิจในภาคส่วนอื่นได้ในเวลาที่ตลาดพลังงานโลกมีการชะลอตัว

 

ที่มา: Bloomberg, DW, The Economist, Gulf Times

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT