ข่าวเศรษฐกิจ

สรุปดราม่า 12 ปี ‘บอลโลก 2022’ ทำไมทั่วโลกไม่อยากให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ

21 พ.ย. 65
สรุปดราม่า 12 ปี ‘บอลโลก 2022’ ทำไมทั่วโลกไม่อยากให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ

ฟุตบอลโลก 2022 ไม่ได้ดราม่าแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ดราม่ายันประเทศเจ้าภาพ "กาตาร์" ที่เจอข้อครหาตั้งแต่เรื่อง "สินบน" ยันสารพัดความ "ไม่พร้อม"

 

ฟุตบอลโลก 2022 ที่มีประเทศกาตาร์ (Qatar) เป็นเจ้าภาพ เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กับนัดแรกระหว่างเจ้าภาพและเอกวาดอร์ ที่คนทั่วโลกไม่ได้ดูแค่บอล หรือพิธีเปิดเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นจับผิดทุกเรื่องของประเทศเจ้าภาพ

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ดราม่าบอลโลกกาตาร์นั้นกินเวลายาวนานมาถึง 12 ปีแล้ว นับตั้งแต่ได้รับคัดเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2010 ซึ่งในครั้งนั้น กาตาร์ถูกกล่าวหาอย่างหนักว่าได้เป็นเจ้าภาพเพราะติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่ากว่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) เพราะกาตาร์นั้นไม่มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพอที่จะรองรับงานใหญ่ระดับโลกอย่างฟุตบอลโลกได้เลย เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย 

คำครหาเรื่องความไม่โปร่งใสนี่เอง ทำให้การเตรียมการเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ถูกจับตาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานตลอด 12 ปี โดยเฉพาะการเร่งสร้างสนามแข่งขันใหม่กว่า 7 สนาม ที่มีหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนออกมาแฉว่า มีแรงงานข้ามชาติหลายพันคนถึงขั้น "เสียชีวิต" จากการเร่งสร้างสนามเหล่านี้ให้เสร็จทันงาน

นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีเรื่องกฎข้อห้ามต่างๆ จากการเป็นประเทศมุสลิม ทั้งการห้ามดื่มแอลกอฮอลล์ และห้ามชาว LGBTQ+ โชว์ธงสีรุ้งหรือแสดงออกว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ ในที่สาธารณะ ซึ่งหลายๆ ประเทศมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในเทศกาลบอลโลกนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงสรุปมาให้อ่านกันว่าก่อนจะมาถึงวันนี้กาตาร์เผชิญข้อครหาอะไรบ้างในฐานะว่าที่เจ้าภาพ และทำไมตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกจึงมองว่ากาตาร์ไม่ควรเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

 

มรสุมข้อกล่าวหารับเงินใต้โต๊ะ

การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ตกอยู่ในสายตาสื่อ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่แรกเพราะหลายๆ คนมองว่ากาตาร์เป็นประเทศทะเลทรายเล็กๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเช่น สนามแข่ง และที่พักเพียงพอรองรับแฟนบอล รวมไปถึงเป็นประเทศที่อยู่มีอากาศร้อนจัดในหน้าร้อนทำให้ไม่เหมาะกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มักจะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ด้วยความที่ขาดความพร้อมและความเหมาะสมในหลายๆ ด้านเช่นนี้ แฟนบอลหลายๆ คนจึงประหลาดใจที่ฟีฟ่าตัดสินใจให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 กับกาตาร์ แทนที่จะเลือกประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการจัดงานมากกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย ที่ในขณะนั้นร่วมลงประมูลสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การฟ้องร้อง และมรสุมข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนที่ทำให้กาตาร์ต้องออกมาพยายามแก้ต่างและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองมาตลอดเวลา 12 ปี

ข้อกล่าวหาจากสื่อเริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในปี 2014 เมื่อหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ในอังกฤษ รายงานและตีพิมพ์เอกสารและอีเมล์หลายฉบับที่บ่งชี้ว่า “โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม” อดีตกรรมการบริหารฟีฟ่าจากประเทศกาตาร์ ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าเป็นมูลค่ารวมหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นออกเสียงโหวตให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ 

ข้อกล่าวหานี้ทำให้ฟีฟ่าตั้งกรรมการสอบสวน แต่สุดท้ายศาลก็ได้ตัดสินว่า ไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม จ่ายเงินติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าเพื่อบิดเบือนผลโหวต

แต่หลังพ้นข้อครหาได้ไม่นาน ในปี 2015 ฟีฟ่าก็มี "ข้อครหาใหม่" ในเรื่องความโปร่งใสอีกครั้ง และเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า 9 คนในข้อหามีส่วนร่วมในการฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร ฟอกเงิน และรับสินบนจากบริษัทการตลาดหลายแห่งเพื่อแลกกับการขายสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน

การสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่าถูกดำเนินคดีหลายคน เช่น อดีตรองประธานของฟีฟ่า 2 คน คือ Jeffrey Webb และ Eugenio Figueredo ที่ถูกจับกุมในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ฟีฟ่า และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในฟีฟ่าอีก 16 คน

การเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของสวิตเซอร์แลนด์เริ่มการสืบสวนความโปร่งใสของการประมูลสิทธิ์ในการจัดงานฟุตบอลโลกของรัสเซียและกาตาร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ฟีฟ่าจะถูกสอบสวนหลายต่อหลายครั้งในข้อหารับสินบน และถูกตัดสินให้ผิดจริงในหลายกรณี แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐและหน่วยงานด้านกฎหมายอื่นๆ ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้ได้ว่า เจ้าหน้าที่ฟีฟ่าได้รับสินบนและทุจริตในการโหวตให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของกาตาร์ก็ยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่า ตัวเองไม่ได้ติดสินบนใดๆ ให้เจ้าหน้าที่ และได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพมาอย่างใสสะอาด

 

บังคับใช้แรงงานโหมสร้างสนาม

แต่ถึงแม้จะเคลียร์เรื่องข้อกล่าวหาจ่ายใต้โต๊ะได้ ฟีฟ่าก็หมดความน่าเชื่อถือไปมากในสายตาแฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อ "ความไม่พร้อม" ของกาตาร์ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก เริ่มทยอยปรากฎให้เห็นในอีก 12 ปีต่อมา

การที่ประเทศขนาดเล็กอย่างกาตาร์ (เล็กแต่รวย) ต้องมารับบทเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น หมายถึงการต้องเร่งผุดโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ มารองรับให้ทัน ตั้งแต่สนามฟุตบอล ไปจนถึงโรงแรม ระบบขนส่งและการเดินทาง

ไม่ว่าจะเป็นการขยายสนามบิน การสร้างสนามแข่งกว่า 7 แห่ง โครงข่ายรถไฟใต้ดินสายใหม่ ท่าเรือขนส่งใหม่ รวมไปถึงการสร้าง "Lusail" เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Doha ให้กลายเป็นเมืองใหม่รองรับบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสเกลงานที่ใหญ่เกินกว่าจะทำให้สำเร็จได้ใน 12 ปี ทำให้กาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบังคับใช้แรงงานต่างชาติ

จากการรายงานของ The Guardian มีแรงงานต่างชาติกว่า 6,500 คนจากทั้งอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังคลาเทศ และศรีลังกา เสียชีวิตในกาตาร์ระหว่างปี 2010-2021 โดย 200 คนในนั้นเป็นแรงงานชาวเนปาลที่เสียชีวิตจากการต้องทำงานก่อสร้างท่ามกลางอากาศร้อนจัด ในขณะที่ Amnesty International รายงานว่ามีแรงงานรวมกว่า 100,000 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่า 14-18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อเร่งสร้างสนามแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากรายงานเหล่านี้ออกมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดฟุตบอลโลกของกาตาร์ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นจริง และการเสียชีวิตของแรงงานต่างชาติเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันของกาตาร์เลยแม้แต่น้อย

 

ทุ่มงบกว่า 10.7 ล้านล้านบาท แต่วันจริงกลับไม่พร้อม

จากรายงานของ Bloomberg กาตาร์ทุ่มเงินรวมกันถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว "10.7 ล้านล้านบาท" (มากกว่างบประมาณประจำปีของประเทศไทยกว่า 3 เท่า) ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “จำนวนเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดฟุตบอลโลก” และมากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับอันดับ 2 คือบราซิล ที่ใช้ไปเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 คือรัสเซีย ที่ใช้ไป 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ใช้จ่ายไปกับโครงการต่างๆ ดังนี้ 

  1. เมือง Lusail รวมไปถึงที่พักและระบบขนส่งต่างๆ ภายในเมือง รวม 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. ระบบรถไฟฟ้าเมือง Doha รวม 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. การขยายสนามบิน รวม 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. การสร้างสนามแข่งขัน 7 แห่ง และปรับปรุง 1 แห่ง รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  5. ท่าเรือใหม่ รวม 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. การปรับปรุงสภาพเมือง Doha รวม 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  7. การสร้างเขตเศรษฐกิจ รวม 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กาตาร์จะทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้ และถึงจะมีเวลา 12 ปีในการเตรียมตัว แต่เมื่อวันที่จะมีการแข่งขันจริงๆ งวดใกล้เข้ามา กาตาร์กลับยังไม่พร้อมรองรับแฟนบอลและนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาพักในบริเวณกรุง Doha และจุดที่มีการแข่งขัน

โดยเฉพาะเรื่องที่พักนั้นถือว่าขาดแคลนอย่างหนัก จนถึงขั้นที่กาตาร์ต้องนำ "เรือสำราญถึง 3 ลำ" มาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือ Doha เพื่อเสริมที่พักในเมืองที่เต็มไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ เพราะมีที่พักไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว กาตาร์จึงต้องเปิดรับเที่ยวบินไปกลับเกือบ 100 เที่ยว/วัน จากเมืองในประเทศข้างเคียงเช่น เมืองดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นจุดที่มีแฟนบอลเลือกไปพักมากที่สุด เพราะห่างจากกาตาร์เพียง 55 นาที และมีจุดปาร์ตี้และเที่ยวกลางคืนมากมาย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแฟนบอลที่อยากสังสรรค์และดื่มแอลกอฮอลล์ในช่วงฟุตบอลโลก เพราะกาตาร์ไม่อนุญาตให้มีการดื่มหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในระหว่างการแข่งขัน

และการที่ต้องเปิดให้มีเที่ยวบินพิเศษจำนวนมากนี้เอง แผนของกาตาร์ที่จะโปรโมตงานฟุตบอลโลกในครั้งนี้ให้เป็นงาน Carbon-neutral ก็เป็นอันล้มเหลวไป เพราะเที่ยวบินเหล่านี้สร้าง carbon footprint มากกว่าที่กาตาร์จะสามารถลดได้จากรถไฟและรถบัสไฟฟ้าที่ได้จัดหามาให้แฟนบอลเดินทางสัญจรไปมาระหว่างสนามแข่งขันทั้ง 8 แห่งแน่นอน

 

ใช้งานกีฬา ‘ลบชื่อเสีย’ ด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากความไม่พร้อมในด้านสถานที่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือ การออกกฎที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการของผู้เข้าชม ทำให้หลายๆ คนมองว่ากาตาร์ยังมีแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนที่ล้าหลังจึงไม่เหมาะกับการจัดงานระดับโลก รวมไปถึงการใช้งานกีฬามาปรับภาพลักษณ์ของประเทศ (sportswashing) ทำพีอาร์ให้กาตาร์ดูเป็นประเทศทันสมัย ทั้งๆ ที่ยังมีกฎหมายเอาผิดกับชาว LGBTQ+ ในประเทศ

โดยในช่วงเดือนที่มีการจัดการการแข่งขันฟุตบอล รัฐบาลกาตาร์ได้ออกกฎมากมายที่เรียกเสียงวิจารณ์จากทั่วโลก เช่น

  • ไม่ให้ผู้เข้าชมงานแสดงออกว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการแสดงความรักกับคู่รักเพศเดียวกันในที่สาธารณะ และห้ามชูธงสีรุ้ง
  • ห้ามไม่ให้แฟนบอลผู้หญิงใส่เสื้อเปิดไหล่ หรือเอวลอย มาชมการแข่งขัน

จากข้อขัดแย้งเหล่านี้เอง ทั้งหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน แฟนบอล รวมไปถึงทีมฟุตบอลที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงได้มีการแสดงออกเพื่อต่อต้านการตั้งกฎของกาตาร์อย่างต่อเนื่อง เช่น 

  • Bernd Neuendorf ประธานสมาคมฟุตบอลเยอรมัน - วิจารณ์กฎของกาตาร์และฟีฟ่า พร้อมประกาศว่า Manuel Neuer กัปตันทีมชาติเยอรมัน และกัปตันทีมชาติยุโรปอื่นๆ ยืนยันจะใส่สายรัดแขนสีรุ้งในระหว่างการแข่งขันเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม และพร้อมจ่ายค่าปรับที่ทางการกาตาร์จะเรียกเก็บหากฝ่าฝืน
  • ทีมชาติออสเตรเลีย - ออกวีดีโอเรียกร้องให้กาตาร์ยกเลิกกฎหมายลงโทษผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • ฝรั่งเศส - ประกาศไม่ซื้อลิขสิทธิ์ และไม่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการออกเงินสนับสนุนฟีฟ่า

เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้งตั้งแต่ต้นจน(เกือบ)จบจริงๆ สำหรับงานฟุตบอลโลกในปีนี้ของกาตาร์ ที่ถึงแม้จะต้องผจญเสียงคัดค้านจากนานาชาติมาตลอด 12 ปี ก็ยังเข็นงานฟุตบอลโลกให้เกิดขึ้นจนได้

แต่จนกว่าจะถึงนัดสุดท้ายในที่ 18 ธันวาคม 2022 แฟนบอลก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าระหว่างการแข่งขันจะมีการกระทบกระทั่งระหว่างทีมที่เข้าร่วมแข่งขันกับกับเจ้าภาพอีกหรือไม่ หรือจะมีเหตุการณ์ประท้วงอะไรในระหว่างเดือนแห่งการแข่งขันบอลโลก ให้ดราม่าหนักหนากว่านี้อีก

 

ที่มา: DW, Bloomberg, The Guardian, Vox, Livemint

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT