บริษัท นิสสัน มอเตอร์ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปิดโรงงานอีก 2 แห่งในเม็กซิโก เพิ่มเติมจากแผนระงับหรือปิดโรงงาน 2 แห่งในจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น หลังบริษัทประสบผลขาดทุนอย่างหนักในปีงบประมาณ 2024 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม โดยมีมูลค่าขาดทุนในระดับหลายแสนล้านเยน
นอกจากนี้ นิสสันยังวางแผนปิดโรงงานอีกแห่งละหนึ่งในแอฟริกาใต้ อินเดีย และอาร์เจนตินา รวมจำนวนโรงงานที่จะปิดทั่วโลกทั้งสิ้น 7 แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตทั่วโลกลดลงจาก 3.5 ล้านคัน เหลือเพียง 2.5 ล้านคันต่อปี ถือเป็นการเปลี่ยนแนวทางจากยุทธศาสตร์เดิมของนิสสัน ซึ่งเคยให้ความสำคัญกับการขยายตัวในตลาดเกิดใหม่มาโดยตลอด
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทประกาศแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 20,000 ตำแหน่ง และลดจำนวนโรงงานประกอบจากเดิม 17 แห่ง เหลือเพียง 10 แห่ง
ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของนิสสันในตลาดอเมริกาเหนือ บริษัทมีโรงงานอยู่ 3 แห่ง โดยในจำนวนนี้จะมี 2 แห่งที่ถูกปิด รวมถึงโรงงานหลักที่เมืองซิวแดด อินดัสเตรียล เด ซิวัก (CIVAC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1966 และถือเป็นโรงงานในต่างประเทศแห่งแรกของนิสสัน
ในปีงบประมาณที่ผ่านมา โรงงานของนิสสันในเม็กซิโกมีกำลังการผลิตรวม 670,000 คัน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม บทบาทของเม็กซิโกในห่วงโซ่อุปทานของนิสสันกำลังถูกตั้งคำถาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกในระยะข้างหน้า
สำหรับโรงงานของนิสสันในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งหมด 5 แห่ง ขณะนี้มี 2 แห่งที่ถูกพิจารณาให้เป็นเป้าหมายในการลดกำลังการผลิต ได้แก่ โรงงานหลักที่เมืองโอปปะมะ และโรงงานโชนันของบริษัท Nissan Shatai ซึ่งเป็นหน่วยผลิตรถบรรทุกขนาดเล็ก หากมีการปิดโรงงานใดโรงงานหนึ่งในญี่ปุ่นจริง จะนับเป็นครั้งแรกที่นิสสันปิดโรงงานภายในประเทศนับตั้งแต่ปี 2001
แผนการปรับลดกำลังการผลิตของนิสสันจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยบริษัทเตรียมลดกำลังการผลิตภายในประเทศลง 390,000 คัน เหลือเพียงประมาณ 800,000 คันต่อปี ซึ่งต่ำกว่าระดับ 1 ล้านคันที่ถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ การชะลอตัวของกิจกรรมการผลิตนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทซัพพลายเออร์รายใหญ่ เช่น Kasai Kogyo และ Marelli Holdings ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินตามมา
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา นิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2024 โดยขาดทุนสุทธิ 670.8 พันล้านเยน หรือประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ท่ามกลางแรงกดดันจากยอดขายที่ซบเซาและนโยบายภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์ดังกล่าวได้เร่งให้บริษัทเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน
หนึ่งในปัจจัยหลักคือปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่เรื้อรัง ท่ามกลางความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัว โดยบริษัทวิจัย GlobalData ประเมินว่า โรงงานของนิสสันในญี่ปุ่นมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 60% ในปี 2024 ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80% อย่างมีนัยสำคัญ การลดจำนวนโรงงานจึงถูกพิจารณาว่าเป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และอาจช่วยดันอัตราการใช้กำลังผลิตนอกประเทศจีนให้ขึ้นมาอยู่ในช่วง 70% ถึง 100%
ณ ปีงบประมาณล่าสุด นิสสันมีกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 3.5 ล้านคัน โดยตั้งเป้าลดลง 800,000 คันภายในปีงบประมาณ 2026 และอีก 200,000 คันภายในปี 2027 รวมเป็นการลดกำลังผลิตรวม 1 ล้านคันภายในสามปี
อย่างไรก็ตาม แผนการปรับลดกำลังการผลิตและการปิดโรงงานยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และมีแนวโน้มจะเผชิญแรงต้านจากภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัท ขณะนี้นิสสันอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดแผนงาน โดยกำลังชั่งน้ำหนักระหว่างการชะลอการผลิตบางส่วนกับการปิดกิจการโรงงานอย่างถาวร